บูรณาการที่หล่นหายไปจากจริยศึกษาของไทย บนเส้นทางของจริยธรรมสากล

28 พฤศจิกายน 2533
เป็นตอนที่ 13 จาก 44 ตอนของ

บูรณาการที่หล่นหายไปจากจริยศึกษาของไทย บนเส้นทางของจริยธรรมสากล

๑๐. จริยศึกษาของรัฐใน ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีแนวโน้มที่จะหันเหไปในทิศทางของจริยธรรมสากล ประจวบกับในช่วงหลังนี้ แนวความคิดแบบบูรณาการได้เฟื่องฟูขึ้น ก็จึงได้นำเอาแนวคิดเกี่ยวกับจริยธรรมสากลนั้นมาประสานเข้ากับแนวความคิดแบบบูรณาการ โดยให้บูรณาการการสอนจริยธรรมเข้าในวิชาต่างๆ ทุกวิชา หรือให้ครูแต่ละคนสอนจริยธรรมบูรณาการเข้าในวิชาของตน สอดคล้องกับหลักในอุดมคติที่ถือว่าครูทุกคนเป็นครูจริยศึกษา

ไม่ต้องพูดถึงว่า การสอนแบบบูรณาการอย่างที่กล่าวนั้นจะยังเป็นเพียงเสียงร่ำร้อง และความหวังทางวิชาการ โดยที่การปฏิบัติที่เป็นจริงยังห่างไกลจากหลักการที่เป็นอุดมคติมากเพียงไร แม้แต่สมมติว่าครูทั้งหลายจะปฏิบัติตามหลักการสอนแบบบูรณาการได้แล้ว คือสมมติว่าครูทุกคนเอาใจใส่ และสามารถสอนจริยศึกษาโดยบูรณาการเข้าในวิชาของตนๆ ได้แล้ว สมมติว่าทำได้จริงอย่างนั้นแล้ว (ซึ่งที่จริงยังไม่เป็น) ก็หาใช่ว่าจะได้มีการบูรณาการทางการศึกษาแล้วอย่างถูกต้องเพียงพอ ตามความหมายที่แท้จริงไม่

การบูรณาการด้วยการสอนจริยธรรม เข้าในวิชาทุกวิชานั้น เป็นเพียงแง่หนึ่งด้านหนึ่งของบูรณาการ เป็นการบูรณาการในขอบเขตที่แคบจำเพาะส่วนหนึ่งเท่านั้น คือเป็นเพียงการบูรณาการ ในกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียน หรือในห้องเรียนเท่านั้น แต่การบูรณาการที่สำคัญๆ ในความหมายที่กว้างกว่าและเป็นขั้นตอนที่ใหญ่กว่า ได้ถูกมองข้ามและขาดหายไป ในการจัดจริยศึกษาตามแนวคิดแบบจริยธรรมสากลนั้น

บูรณาการสำคัญขั้นตอนใหญ่ที่ขาดหายไป คือ

๑) บูรณาการองค์จริยธรรมเข้าในระบบจริยธรรม หมายถึง การบูรณาการจริยธรรมเฉพาะอย่าง เข้าในระบบจริยธรรมที่เป็นองค์รวม หรือบูรณาการเนื้อหาจริยธรรมเข้าในชีวิตจริง

จริยธรรมเป็นเรื่องของการดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิตนั้นเป็นระบบของความสัมพันธ์ หรือการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย และปฏิบัติต่อกันกับชีวิตอื่นๆ จริยธรรมแต่ละอย่างหรือแต่ละข้อจึงสัมพันธ์กันและโยงไปหาจริยธรรมข้ออื่นๆ ในระบบที่เป็นองค์รวมนั้น

ระบบจริยธรรมก็คือ ระบบของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามนั่นเอง ดังนั้น เมื่อสอนจริยธรรมโดยสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ โดยสัมพันธ์กับระบบของมัน หรือสอนโดยให้เห็นความสัมพันธ์กันกับจริยธรรมข้ออื่นๆ ในระบบ ผู้เรียนก็จะมองเห็นภาพรวมของระบบความสัมพันธ์ หรือการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย ทำให้เข้าใจชัดเจน มองเห็นเหตุผล และเห็นคุณค่าของจริยธรรมอย่างแท้จริง และทำให้บูรณาการจริยธรรมเข้าในระบบการดำเนินชีวิตได้ง่าย

ยกตัวอย่าง เช่น การไม่ทำลายชีวิตหรือไม่ฆ่าไม่ทำร้ายผู้อื่น เป็นข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งในความสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี และให้สังคมมีความสงบสุข การอยู่ร่วมกันด้วยดีของมนุษย์นั้น เป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ที่ถูกต้องต่อกัน ซึ่งมนุษย์จะต้องไม่เบียดเบียนกัน ไม่ละเมิดต่อกันทั้งในด้านชีวิตร่างกาย ในด้านทรัพย์สิน ในด้านคู่ครอง ในด้านการกล่าววาจาต่อกัน และมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวควบคุมตัวได้ ซึ่งจะเป็นหลักประกันขั้นต้นที่จะทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกไว้วางใจหรือปลอดภัยว่า บุคคลนั้นจะไม่ทำการละเมิดหรือเบียดเบียนในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว

การไม่ฆ่าไม่ทำร้ายกันเป็นเพียงข้อปฏิบัติอย่างหนึ่ง ในระบบความสัมพันธ์ เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดีมีความสงบสุข ด้วยเหตุนี้ การสอนจริยธรรมที่จะให้เข้าใจชัดเจนและได้ผลดีในทางปฏิบัติ จึงต้องสอนจริยธรรมข้อนั้นๆ โดยโยงถึงระบบการดำเนินชีวิตดีงามที่เป็นองค์รวมทั้งหมดด้วย เริ่มตั้งแต่ให้ได้มโนทัศน์รวมแห่งการอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียน หรือไม่ละเมิดต่อกัน ไม่ใช่เพ่งมองแคบๆ อยู่แค่การไม่ฆ่าฟันทำร้าย โดยเห็นเป็นพฤติกรรมเฉพาะอย่างโดดเดี่ยวขาดลอยจากระบบการดำเนินชีวิตที่เป็นองค์รวม ซึ่งเมื่อสอนไปแล้ว ผู้เรียนอาจจะได้แค่เรียนรู้และจำไว้ว่าจะต้องไม่ทำอย่างนั้นๆ

อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น เมตตา ความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เป็นคุณธรรมพื้นฐานซึ่งเป็นท่าทีที่ถูกต้องดีงามของจิตใจต่อคนอื่น แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในระบบของความสัมพันธ์ ซึ่งการมีท่าทีที่ถูกต้องสมบูรณ์จะไม่เพียงแค่มีเมตตาเท่านั้น กล่าวคือ

เมื่อผู้อื่นอยู่ดีเป็นปกติ เราจึงควรมีท่าทีแห่งความรักหรือปรารถนาดี ที่เรียกว่า เมตตา

แต่เมื่อผู้อื่นประสบปัญหามีความทุกข์ความเดือดร้อน เราก็ต้องมีท่าทีแห่งความสงสารคิดการที่จะช่วยเหลือ ซึ่งเรียกว่า กรุณา

ครั้นผู้อื่นประสบความสำเร็จ แก้ปัญหาได้ ทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้น มีความเจริญก้าวหน้า เราก็ต้องมีท่าทีแห่งความพลอยยินดี ส่งเสริมกำลังใจ ให้ความสนับสนุน ที่เรียกว่า มุทิตา

แต่เมื่อถึงเวลา ถึงโอกาสหรือถึงสถานการณ์ที่ผู้อื่นนั้นควรจะต้องรับผิดชอบตนเอง หรือรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ของแต่ละคนหรือแต่ละฝ่าย เราก็จะต้องมีท่าทีแห่งการวางใจเป็นกลาง คอยมองดูและรอได้ โดยพร้อมที่จะปฏิบัติไปตามความชอบธรรมและเป็นธรรม ที่เรียกว่า อุเบกขา

การสอนเมตตาให้ถูกต้องและได้ผลดี จึงต้องสอนให้สัมพันธ์โยงกับระบบของมัน คือบูรณาการเข้าในระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงามได้ ซึ่งผู้เรียนจะเข้าใจชัดเจนซาบซึ้ง มองเห็นตำแหน่งแห่งที่ของคุณธรรมและจริยธรรมนั้นๆ ภายในระบบของมัน และปฏิบัติได้ถูกต้อง แต่ถ้าสอนเมตตาอย่างโดดเดี่ยวขาดลอย นอกจากจะเกิดความไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งในด้านความเข้าใจแล้ว ก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติ และการที่จะปฏิบัติเคลื่อนคลาดไขว้เขวอีกด้วย

นอกจากนี้ ระบบแห่งท่าทีที่ถูกต้องดีงามของจิตใจภายในตัวบุคคลนี้ ยังโยงสัมพันธ์กับระบบแห่งปฏิบัติการต่อกันในสังคมอีกด้วย เช่น เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั้นแสดงออกสู่การปฏิบัติในทางสังคม ด้วยการให้และเผื่อแผ่แบ่งปัน การพูดจาแนะนำให้ความรู้ให้ความอบอุ่นและกำลังใจ การช่วยเหลือสละแรงงานทำประโยชน์ให้ และการทำตัวให้เข้ากัน ร่วมอยู่ร่วมทำงานกันได้ ที่เรียกว่า สังคหวัตถุ ดังนี้เป็นต้น

ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่า พระพุทธศาสนามักสอนหลักธรรมต่างๆ โดยจัดเป็นชุดๆ มีจำนวนข้อต่างๆ กัน ตั้งแต่ข้อเดียวไปจนถึงเกิน ๑๐ ข้อ เพราะจริยธรรมเป็นระบบของการดำเนินชีวิตที่ดีงามดังกล่าวแล้ว หลักธรรมชุดหนึ่งๆ หรือหมวดหนึ่งๆ ก็คือ ระบบจริยธรรมที่เป็นองค์รวมหนึ่งๆ ซึ่งองค์ธรรมหรือข้อธรรมย่อยในหมวดนั้น มีความสัมพันธ์กันในเชิงความสืบทอดแห่งเหตุปัจจัยบ้าง ในเชิงองค์ประกอบที่แยกย่อยออกไปซึ่งจะต้องมีให้ครบถ้วน จึงจะเป็นองค์รวมที่สมบูรณ์บ้าง ในเชิงแง่ด้านต่างๆ ของปฏิบัติการที่จะต้องให้มาประสานกลมกลืนกันบ้าง ในเชิงที่ให้เป็นส่วนเติมเต็มแก่กันบ้าง ในเชิงของการปฏิบัติที่ครบวงจรบ้าง ในเชิงการมองหรือสำรวจความจริงอย่างทั่วตลอดและรอบด้านบ้าง

การไม่เข้าใจและไม่ปฏิบัติหรือไม่ให้การศึกษาให้ถูกต้องตามความสัมพันธ์ในเชิงระบบ และการมองไม่เห็นภาพเต็มขององค์รวม จะทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสนไม่สมบูรณ์ และการปฏิบัติที่เคลื่อนคลาด หรือไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ ดังนั้น เมื่อสอนจริยธรรมพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ท่านจึงสอนหลักธรรมชุดที่เรียกว่า เบญจศีล หรือ ศีล ๕ ให้เห็นภาพรวมของระบบการอยู่ร่วม โดยไม่เบียดเบียนหรือไม่ละเมิดต่อกัน ไม่สอนเฉพาะอย่างกระจัดกระจาย นอกจากในกรณีจะเน้นย้ำเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่ผู้ที่มองเห็นภาพรวมอยู่แล้ว หรือก่อนที่จะนำโยงเข้าสู่ระบบต่อไป

และในทำนองเดียวกันนั้นเอง ท่านจึงสอนหลักเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อย่างสัมพันธ์ประสานเสริมกัน ในองค์รวมที่เรียกว่าพรหมวิหาร ๔ ไม่แยกออกมาสอนเฉพาะอย่างพลัดพรายกันไป จนบางอย่างถูกลืมเหมือนจะหายไปเลย และส่วนที่อยู่ก็กลายเป็นพร่าๆ คลุมเครือ เพราะขาดตัวเทียบเคียงและไม่ได้ภาพรวม ซึ่งนำไปสู่ผลรวมสุดท้ายคือความเข้าใจและการปฏิบัติที่ไม่ชัดเจน เคลื่อนคลาด ตลอดจนแม้กระทั่งก่อผลเสียหายแก่ชีวิตและสังคม

การจัดหลักสูตรจริยธรรมในปัจจุบัน ที่หันไปทางจริยธรรมสากลนั้น ทำไปทำมาจะกลายเป็นการเลือกเก็บเอาหัวข้อ จริยธรรมจำเพาะแต่ละอย่างๆ มาสอนนักเรียน โดยนำมาจัดเรียงเป็นรายการเหมือนดังบัญชีสินค้า ซึ่งหัวข้อจริยธรรมต่างๆ ในบัญชีไม่มีความสัมพันธ์กัน ไม่เป็นระบบ หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้จัดเตรียมให้สอนอย่างเป็นระบบ หัวข้อจริยธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ถูกเก็บแยกออกมาจากระบบของมัน เหมือนเป็นชิ้นส่วนแต่ละอัน แล้วนำมาสอนเป็นแต่ละอย่างๆ จำเพาะเรื่อง กระจัดกระจาย โดดเดี่ยว หรืออาจจะถึงกับเคว้งคว้างขาดลอย ยากที่จะบูรณาการเข้าในระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม หรืออย่างน้อยก็เป็นระบบที่บกพร่องเว้าแหว่งไม่สมดุล ทำให้ไม่สมบูรณ์ และไม่ได้ผลดี

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สัญญาณเตือนภัยให้เร่งรัดส่งเสริมพุทธจริยศึกษาจริยธรรมสากล เข้าหรือขัดกับบูรณาการ >>

No Comments

Comments are closed.