ตื่นตัวใหม่ เมื่อเจอภัยแห่งความเสื่อม

1 ตุลาคม 2534
เป็นตอนที่ 28 จาก 44 ตอนของ

ตื่นตัวใหม่ เมื่อเจอภัยแห่งความเสื่อม

ความตระหนกตกใจ พร้อมทั้งความสูญเสียกำลังใจครั้งใหญ่เกิดขึ้นแก่สังคมอเมริกันอีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งล่าสุด ในระยะใกล้ๆ คือ ช่วง ๗-๘ ปีนี้ เมื่อสภาพความเสื่อมโทรมต่างๆ ปรากฏชัดออกมาหลายเรื่องหลายด้าน ตัวอย่างหลักฐานที่เด่นชัด คือ คำเตือนของคณะกรรมธิการแห่งชาติว่าด้วยความเป็นเลิศในการศึกษา ที่ออกมาเมื่อต้นปี ๒๕๒๖ ว่า ‘ชาติของเราตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย’ (Our nation is at risk.)1 หมายถึงว่าการศึกษาของประเทศอเมริกาเสื่อมโทรมจะต้องแก้ไขปรับปรุงเป็นการใหญ่

สังคมอเมริกันกล่าวโทษระบบการศึกษาของชาติของตนกันอย่างมากมายว่าเป็นต้นเหตุของความเสื่อมโทรมทั้งหลาย เท่ากับว่าตั้งแต่ยุคสปุตนิคมา การศึกษาของอเมริกามิได้ดีขึ้นเลย กลับยิ่งทรุดลงด้วยซ้ำ และความเสื่อมถอยครั้งนี้ เป็นไปทั้งในด้านภูมิธรรม และภูมิปัญญา หรือทั้งด้านจริยธรรม และด้านวิชาการ

ในด้านจริยธรรม สภาพจิตใจและสังคมเป็นเครื่องฟ้องอย่างชัดเจน ปัญหายาเสพติด อาชญากรรมวัยรุ่น การฆ่าตัวตายของวัยรุ่น การตั้งครรภ์ของเด็กหญิงวัยรุ่น โรคจิตวัยรุ่น ตลอดจนการหนีโรงเรียน การออกจากโรงเรียนกลางคัน ที่มีสถิติสูงมากและสูงขึ้นอย่างน่ากลัว เป็นสัญญาณอันตรายที่เตือนถึงความหายนะของสังคม ซึ่งมีปมปัญหาซ้อนอยู่เบื้องหลังและลึกลงไปอีก เช่น ความสลายของสถาบันครอบครัวและความเสื่อมประสิทธิภาพของสถาบันศาสนาเป็นต้น

ในด้านวิชาการ หรือภูมิปัญญา การสำรวจสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ ที่ก้าวหน้า พบแต่สภาพการศึกษาของอเมริกาที่ตกต่ำ ด้อยและร่นถอยไปอยู่ข้างหลัง เมื่อมีการทดสอบความรู้นักเรียนนานาชาติ เด็กอเมริกันตกไปอยู่อันดับท้ายๆ หรือท้ายสุด (น่าสังเกตว่ามักจะมีไทยเป็นประเทศเดียวที่อยู่ต่อท้ายอเมริกัน) และในระดับกิจการระหว่างประเทศอเมริกาก็กำลังสูญเสียความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ

แม้จะไม่เทียบกับคนอื่น เอาแค่เทียบกับตัวเอง ผลการทดสอบ SAT (Scholastic Aptitude Test) ก็แสดงผลต่อเนื่องมาหลายปีว่า ในแง่วิชาการหรือด้านสมอง เด็กที่จะเข้ามหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ๆ ทำคะแนนได้ต่ำลงๆ กว่ารุ่นก่อนๆ พร้อมทั้งยังพ่วงปัญหาด้านจริยธรรมเสื่อมลงเข้ามาด้วย คือเกิดมีนักเรียนทุจริตในการทดสอบ SAT นั้น

ในแง่ของการแข่งขัน คราวนี้คู่แข่งที่ทำให้อเมริกาเสียขวัญ ไม่ใช่โซเวียตอย่างคราวสปุตนิคโน้นแล้ว แต่กลายเป็นญี่ปุ่น คนอเมริกันถกเถียงกันว่า จะแก้ปัญหาการศึกษาของตนอย่างไร จึงจะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำในโลกไว้ได้ เช่นว่า ปีการศึกษาของโรงเรียนอเมริกัน มี ๑๘๐ วัน แต่ของญี่ปุ่นมี ๒๔๐ วัน อเมริกันควรจะเพิ่มจำนวนวันเพื่อยืดเวลาเรียนในปีการศึกษาหนึ่งๆ ให้มากขึ้นหรือไม่

ส่วนอีกด้านหนึ่งคือจริยธรรมในด้านนี้ ดูเหมือนว่า ญี่ปุ่นจะไม่ดีไปกว่าอเมริกามากนัก หรืออาจจะกำลังเดินลงไปหาปัญหาทางจริยธรรมที่หนักมากขึ้นร่วมในทางเดียวกับอเมริกา แต่เฉพาะสำหรับอเมริกานั้นได้เกิดความตื่นตัวขึ้นทั่วไป และมีเสียงเรียกร้องกันมากมาย ทั้งทางรัฐและเอกชน ตั้งแต่ผู้นำของชาติ จนถึงคนในครอบครัว ให้โรงเรียนเอาใจใส่สั่งสอนอบรมศีลธรรมหรือจริยธรรมแก่นักเรียน

โดยนัยนี้ วิชาศีลธรรมหรือจริยศึกษา ก็กำลังกลับฟื้นคืนชีพใหม่ และกลับเข้าสู่ประตูโรงเรียนอีก มีการถกเถียงกันประปรายว่าจะใช้จริยธรรมระบบไหน จะสอนศีลธรรมด้วยวิธีใด ทฤษฎีจริยศึกษาและวิธีให้การศึกษาศีลธรรมแบบต่างๆ ถูกยกขึ้นมาพิจารณาและนำเสนอหรือถกเถียงกัน

แม้ว่านักการศึกษา โรงเรียน และชุมชนส่วนมากจะหันกลับไปหาจริยศึกษาแบบพื้นประเพณีเดิม รวมทั้งการศึกษาวิชาศาสนา แต่ก็มีกระบวนวิธีจริยศึกษาแบบสมัยใหม่ ที่ได้รับความนิยม และขึ้นหน้าขึ้นตาพอสมควร อย่างน้อยก็ในแง่ที่เอามาทดลองกันดู ได้แก่ ขบวนการสางอุปาทาน (Values Clarification) กับขบวนการพัฒนาศีลธรรม (Moral Development) ดังที่ได้เคยพูดถึงมาแล้วข้างต้นในภาคหนึ่ง

นี้คือความเป็นไปโดยสังเขปและสภาพคร่าวๆ ของจริยศึกษาในอเมริกา ที่ถือกันว่าเป็นผู้นำของโลกในปัจจุบันความเคลื่อนไหวในทางที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ จะมีผลเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่พึงตามดูกันต่อไป แต่ในที่นี้ สิ่งที่ต้องการให้พิจารณา ก็คือชะตากรรมของจริยธรรมสากล

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ภาค ๒ – จริยธรรมสากล จากความเป็นกลาง สู่ความเป็นจริงจริยธรรมสากล ทางตันของการแก้ปัญหาในยุคนิยมวิทยาศาสตร์ >>

เชิงอรรถ

  1. On April 26, 1983, the National Commission on Excellence in Education, after assessing the current status of our public school system, issued the warning: “Our nation is at risk.”

    I disagree. When 25 percent of our students are dropping out and 14 million more are graduating functionally illiterate, we are not “a nation at risk,” we are “a nation in crisis.”. . .

    87 percent of pregnant teenagers are high school dropouts.

    Who’s to blame for America’s sky-high dropout rate, now over 25 percent? . . . The problem is not the dropouts. The problem is a dysfunctional education system that produces dropouts. . . . We must accept that we are an aging and declining society that requires rededication and commitment to support the full development of all our youth socially, culturally, educationally, economically, and spiritually. (Byron N. Kusinawa, “A Nation in Crisis: The Dropout Dilemma,” NEA Today, January 1988, pp. 61-65).

    (ต้นฉบับหนังสือระบุไว้ว่า “ดู ตัวอย่างการถูกอ้าง ที่เชิงอรรถ 23 ในภาค ๑” — ผู้จัดทำเว็บไซต์)

No Comments

Comments are closed.