จริยศึกษาเพื่อรับมือกับปัญหาของยุคพัฒนา

28 พฤศจิกายน 2533
เป็นตอนที่ 2 จาก 44 ตอนของ

จริยศึกษาเพื่อรับมือกับปัญหาของยุคพัฒนา

๑. จริยธรรมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตและสังคมที่จะดำรงอยู่อย่างมีสันติสุข และจริยศึกษาก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตและสังคมที่จะดำรงอยู่อย่างมีจริยธรรม ข้อนี้เป็นหลักความจริงที่รู้กันอยู่เป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว

โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ ได้มีเสียงร่ำร้องแสดงความห่วงกังวลกันมากว่า สังคมมีสภาพเสื่อมโทรมทางจิตใจ ผู้คนห่างเหินจากศีลธรรม จำเป็นจะต้องเร่งรัดการสร้างเสริมจริยธรรมและการพัฒนาทางด้านจิตใจ จริยศึกษาควรจะได้รับการเน้นหนักเป็นพิเศษ

ยิ่งกว่านั้น สภาพความเจริญที่รออยู่ข้างหน้า ในวิถีทางของการพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็ยิ่งทำให้มีความต้องการจริยธรรม และต้องเร่งรัดจริยศึกษาชนิดที่เตรียมรับมือไว้ให้พร้อมมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากสัญญาณภัยในสังคมไทยของเราเอง ที่ปรากฏชัดอยู่แล้ว สภาพความเจริญแบบรุงรังด้วยปัญหา ในประเทศที่นำหน้าซึ่งเรียกกันว่ามีการพัฒนาแล้วในระดับสูงสุด ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่อย่างชัดเจน ดังเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาเวลานี้ ซึ่งกำลังประสบปัญหาความเสื่อมโทรมทางจิตใจ และขาดแคลนศีลธรรมอย่างหนักหน่วง จนมีเสียงร่ำร้องกันทั่วไปในสังคมอเมริกัน เมื่อพูดถึง สภาพสังคมและการศึกษาในประเทศของตนว่า . . . จริยธรรมในอเมริกาดูเหมือนว่าจะเสื่อมถอยลงถึงจุดตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์1 ในปัจจุบันสังคม (อเมริกัน) ตั้งความคาดหวังจากโรงเรียนให้อบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่เด็กและเยาวชนมากยิ่งกว่ายุคสมัยใดในกาลก่อน2 ในแผ่นดิน(อเมริกา)นี้ กำลังมีภาวะหิวศีลธรรม3

ถ้าเรายังปรารถนาความเจริญ ในวิถีทางของการพัฒนาอุตสาหกรรม เราก็ควรจะเข้าถึงความเจริญนั้นในสภาพที่ดีกว่า และมีปัญหาน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาไปก่อน ด้วยการจัดการศึกษา โดยเฉพาะจริยศึกษาที่ป้องกันปัญหาและพัฒนาคนได้ตรงจุดตรงเป้า จึงจะนับได้ว่าเป็นมนุษย์ที่ฉลาดรู้จักใช้บทเรียนของคนข้างหน้าให้เป็นประโยชน์ มิใช่เป็นเพียงผู้เดินทื่อ หรือเดินเซ่อ ได้แต่ตามเขาเซื่องๆ

การที่เราเดินตามซ้ำรอยประเทศพัฒนาแล้ว แม้แต่ในเรื่องที่เขาได้ผิดพลาดไปแล้ว ไม่สามารถเข้าถึงความเจริญอย่างเขาในภาวะที่ดีกว่าเขา (หรืออาจจะถึงในภาวะที่โทรมยิ่งกว่าเขา) สาเหตุสำคัญก็เพราะการไม่รู้จักเก็บรวบรวม ศึกษาและเลือกใช้ประโยชน์จากข้อมูลทั้งหลาย เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ความเจริญของเขาอย่างเพียงพอ ขาดสติที่จะทำให้มองรอบด้านด้วยความรู้เท่าทัน หลงชื่นชมมองความเจริญเพียงด้านเดียว จนทำให้สูญเสียอิสรภาพทางปัญญา ได้แต่คอยพึ่งพา ไม่เป็นตัวของตัวเอง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ภาค ๑ – ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา?ความเสื่อมโทรมของสังคมและชีวิตจิตใจ ที่เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของอเมริกาในปัจจุบัน >>

เชิงอรรถ

  1. . . . , for ethics in America seem to have dropped to one of the lowest points in history. . . . idealism is in decline and cynicism on the rise . . . “We’re in a time when private interest is the solution to all problems and the sense of public purpose has faded away,” . . . the current ethics crisis–“selfishness as an absolute moral principle” . . . “We are living in a society of confused values, where people have lost a sense of confidence about right and wrong,” Church adds. “When materialistic values become dominant, our heroes become superstars who value notoriety regardless of how they get it. . . . What’s happening is a rush for riches. . . . people are “committing these infractions more obviously, and without shame. In times past, getting caught in a moral misdeed was an embarrassment. But now, because of the uncertainty about what is right and wrong and such influences as morning TV, . . . the scarlet letter doesn’t have the scar it used to. . . .” greed has become accepted as a totally legitimate force, . .. (Bernice Kanner, “What Price Ethics? The Morality of the Eighties,” New York, July 14, 1986, p. 28).
  2. Today, more than ever before–perhaps because of rising rates of juvenile crime and teenage pregnancy, drug use and suicide — society expects schools to instruct the young in moral and civic ideals. (Jacques S. Benninga, “An Emerging Synthesis in Moral Education,” Phi Delta Kappan, February 1988, p. 415).
  3. ดู 26.

No Comments

Comments are closed.