ภาค ๒ – จริยธรรมสากล จากความเป็นกลาง สู่ความเป็นจริง

1 ตุลาคม 2534
เป็นตอนที่ 27 จาก 44 ตอนของ

ภาค ๒
จริยธรรมสากล
จากความเป็นกลาง สู่ความเป็นจริง

จริยธรรมสากล ภูมิหลังที่ไม่สดใสในอเมริกา

ได้กล่าวแล้วว่า ความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมสากล มีต้นกำเนิดจากการหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง แบ่งพวก เข้ากันไม่ได้ ระหว่างผู้นับถือศาสนาต่างกันในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะก็คือความขัดแย้งระหว่างคริสต์ศาสนิกชนด้วยกันที่แบ่งออกเป็นสองนิกายใหญ่ ได้แก่ โปรเตสแตนต์ และคาทอลิก และที่แยกย่อยจากนิกายใหญ่นั้นออกไปเป็นนิกายย่อยอีกมากมาย ซึ่งถือคำสอนต่างกัน ปฏิบัติพิธีกรรมต่างกัน ใช้บทสวดต่างกัน ตลอดจนแม้แต่ต้องใช้คัมภีร์ไบเบิลคนละฉบับ

รัฐและผู้บริหารการศึกษาของอเมริกาได้พยายามแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น ด้วยวิธีประนีประนอม โดยหาทางจัดจริยศึกษาหรือจัดการสอนหลักศีลธรรม ชนิดที่หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง บรรจุแต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมอันจะเป็นที่ยอมรับของผู้นับถือคริสต์ศาสนานานานิกาย แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ยุติลงโดยเรียบร้อย ปัญหาความขัดแย้งน้อยใหญ่ก็ยังคงยืดเยื้อเรื้อรังเรื่อยมาเกือบตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙

ต่อมาเมื่อเวลาผ่านล่วงไปเกือบ ๑๐๐ ปี นับแต่เริ่มเกิดความขัดแย้งกันรุนแรง มาถึงช่วงปี ๒๔๒๓–๒๔๓๒ ความคิดแก้ปัญหาก็ได้ก้าวขยายออกไปนอกวงแห่งจริยธรรมของศาสนา แล้วก็มีการเสนอหลักศีลธรรมสามัญของชาวโลกที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนา ซึ่ง “เป็นผลแห่งประสบการณ์ของมนุษย์ เป็นที่ยอมรับของปวงอารยชน อันปรัชญาเมธีทุกเชื้อชาติสั่งสอนลงกัน และเป็นที่ยืนยันโดยลัทธิที่ทรงภูมิปัญญาทั้งปวง”1 ผลผลิตของความพยายามในช่วงนี้ ได้ปรากฏออกมาเป็นประมวลหลักศีลธรรม หรือหลักธรรมจริยา (Morality Codes) ซึ่งโรงเรียนทั้งหลาย พากันยอมรับไปใช้ ถือว่าเป็นจริยธรรมที่เป็นสากลมากขึ้น

การพยายามแก้ปัญหายังคงดำเนินต่อมา บุคคลสำคัญที่ได้สร้างความก้าวหน้าต่อไปอีกในเรื่องนี้ คือ จอห์น ดิวอี ซึ่งได้คิดหาทางที่จะยุติปัญหาความแบ่งแยกระหว่าง (นิกาย) ศาสนาให้จบสิ้นลงเสียที และให้ความคิดลงลึกได้เนื้อหาสาระเป็นหลักการทางปรัชญา มิใช่เป็นเพียงการรวบรวมกฏเกณฑ์ข้อปฏิบัติทางศีลธรรมมาประมวลกันไว้เท่านั้น แนวความคิดของเขาออกมาในรูปของการใช้ปรัชญาปฏิบัตินิยมเป็นฐากสร้างศาสนาประชาธิปไตยที่เป็นของกลางร่วมกันสำหรับชาติอเมริกัน อันได้มีส่วนสำคัญในการก่อกำเนิดศาสนาประชาราษฎร์ (civil religion) ที่ถือได้ว่าเป็นหลักศาสนาส่วนรวมของชาติอเมริกันมาจนบัดนี้ แม้จะไม่ได้กำหนดชื่อเป็นทางการ ก็เป็นที่เข้าใจกันในวงวิชาการอย่างนั้น

ศาสนาประชาราษฎร์นั้น มีหลักการที่ให้เป็นกลาง ไม่เข้ากับศาสนาลัทธินิกายใด คือใช้เป็นของส่วนรวม เรียกว่าเป็นสากล แต่แท้ที่จริงก็เป็นศาสนาสำหรับชาติอเมริกันเท่านั้น ซึ่งถ้าเรียกให้เต็มก็ต้องเป็นศาสนาประชาราษฎร์ของอเมริกัน (The American Civil Religion)2 ครั้นมาถึงปัจจุบันศาสนาประชาราษฎร์นี้ก็ถูกคนอเมริกันเอง อย่างน้อยบางกลุ่มบางส่วน มองว่าเป็นเพียงหลักลัทธิแบบหนึ่งที่สอนโดยหลบเลี่ยงไม่ออกตัวมาโจ่งแจ้งเท่านั้นบ้าง ว่าเป็นศาสนาอีกศาสนาหนึ่งขึ้นมาต่างหากจากศาสนาที่มีอยู่แล้วบ้าง หมายความว่าไม่เป็นสากลนั่นเอง

ในเชิงปฏิบัติการ จริยศึกษาในสหรัฐอเมริกายังมีความเปลี่ยนแปลงอีกต่อๆ มา โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะต้องกล่าวไว้ ก็คือ เมื่อรัสเซียส่งยานอวกาศสปุตนิค (Sputnik) ขึ้นไปสำเร็จในปี ๒๕๐๑ ทำให้รัฐบาลและชาวอเมริกันตกตะลึง ถึงกับสูญเสียความมั่นใจในความเป็นเลิศแห่งการศึกษาของชาติของตน ในช่วงนั้นสหรัฐได้ตรารัฐบัญญัติการศึกษาเพื่อการป้องกันประเทศ (The National Defense Education Act) ขึ้นมา ให้โรงเรียนหันไปเน้นการศึกษาด้านเทคนิค มุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ หลักสูตรตัดเรื่องศาสนาออกไป และให้ถือว่าเรื่องศาสนาและศีลธรรมหรือจริยธรรมเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคล

แม้ว่าศาสนาและศีลธรรมจะหลุดออกจากชั้นเรียน แต่เบื้องแรก ความเข้มแข็งของประเพณีและระบบท้องถิ่นก็ช่วยตรึงไว้ได้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มแห่งความเหินห่างจากศาสนาและศีลธรรมได้ถูกซ้ำเติมด้วยกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม ครูสับสนและสูญเสียความมั่นใจต่อบทบาทและอำนาจทางศีลธรรมของตน ระบบสั่งงานแบบราชการเข้ามาแทนที่ระบบความนับถือคุณธรรมตามประเพณี โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นช่องทางให้โอกาสที่เท่าเทียมกันในการที่จะเข้าถึงโอกาสที่ดีกว่าในสังคม แต่พร้อมกันนั้นก็มีปัญหาความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสผุดโผล่อย่างรุนแรง เริ่มแต่ปัญหาการแบ่งผิว ปัญหาสิทธิของราษฎร ปัญหาสิทธิของเด็ก ปัญหาสิทธิสตรี กระหนาบด้วยความเสียหน้าเสียเกียรติภูมิทางจริยธรรม ในกรณีสงครามเวียดนาม จนถึงคดีวอเตอร์เกต มาตรฐานตัดสินในทางสังคมเปลี่ยนจากกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมมาเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับของกฎหมาย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บันทึกของผู้เขียนตื่นตัวใหม่ เมื่อเจอภัยแห่งความเสื่อม >>

เชิงอรรถ

  1. Gerald Grant, “Bringing the ‘Moral’ Back In,” NEA Today, January 1989, p. 55
  2. เช่น Daniel A. Spiro, “Public Schools and the Road to Religious Neutrality,” Phi Delta Kappan, June 1989, pp. 759-763. (ต้นฉบับหนังสือระบุไว้ว่า “ดู เชิงอรรถ 29 ในภาค ๑” — ผู้จัดทำเว็บไซต์)

No Comments

Comments are closed.