สังคมไทยไม่มีเหตุผลที่จะไม่สอนจริยศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา

28 พฤศจิกายน 2533
เป็นตอนที่ 8 จาก 44 ตอนของ

สังคมไทยไม่มีเหตุผลที่จะไม่สอนจริยศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา

๕. ในเมื่อพระพุทธศาสนาเป็นระบบจริยธรรมและเป็นแหล่งแห่งคำสอนจริยธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือ เชื่อและใช้กันในสังคมไทยทั่วไป ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนอยู่แล้ว และเป็นระบบจริยธรรมที่ฝังลึกอยู่ในรากฐานของวัฒนธรรมไทย ทั้งสอดคล้องกับพื้นฐานและเป็นของแพร่หลายดาษดื่น มีอยู่แล้ว หาได้ง่าย พูดกันง่าย เข้าใจกันง่าย การสอนจริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา หรือการใช้พระพุทธศาสนาเป็นหลักในการสอนจริยธรรม จึงเป็นเรื่องที่พร้อม และควรจะนึกถึงโดยสามัญสำนึกอย่างเป็นไปเองในทันทีที่คิดจะจัดดำเนินการจริยศึกษา

ในสภาพของสังคม และวัฒนธรรมไทยที่เป็นอย่างนี้ การไม่สอนจริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา หรือไม่ใช้พระพุทธศาสนาเป็นหลักในการสอนจริยธรรม และนำจริยธรรมระบบอื่นเข้ามาสอนแทน จะควรกระทำก็ต่อเมื่อมีเหตุผล ๒ อย่างต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

๑) คนไทยส่วนใหญ่ ที่นับถือพระพุทธศาสนานั้น แตกแยกแบ่งเป็นกลุ่มเป็นนิกายย่อยๆ หลายคณะหลายพวก ตกลงกันไม่ได้ในเรื่องหลักความเชื่อและคำสอน เหมือนอย่างในกรณีของผู้นับถือศาสนาคริสต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา

๒) ความเชื่อและคำสอนจริยธรรม ตามหลักพระพุทธศาสนา มีความบกพร่องเสียหาย จะก่อผลร้ายแก่ชีวิตและสังคม

สำหรับเหตุผลข้อ ๑) เห็นได้ชัดดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า สังคมไทยมิได้เป็นอย่างนั้น แต่กลับเป็นไปในทางตรงข้าม คือ พุทธศาสนาในประเทศไทย มีเอกภาพมาก ถึงขั้นที่อาจพูดได้ว่ามากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ส่วนในข้อ ๒) ถ้าเห็นว่าหลักจริยธรรมที่พระพุทธศาสนาสอนไว้ก่อผลร้ายแก่ชีวิตและสังคม ก็ควรจะหยิบยกปัญหาขึ้นมาพิจารณากันอย่างจริงจัง ให้เห็นชัดเจนลงไปทีเดียว จะนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ ถ้าพิจารณากันแล้วเห็นชัดว่า มีผลร้ายอย่างนั้น ก็จะต้องรีบวางมาตรการที่หนักแน่นจริงจังในการกวาดล้างจริยธรรมตามหลักพุทธศาสนา ออกไปจากสังคมไทย และให้คนไทยเลิกนับถือพระพุทธศาสนา คือจะต้องปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลแน่นอนชัดเจน ไม่ใช่ว่า ทั้งที่สังคมส่วนใหญ่ก็ยังยึดถือจริยธรรมตามแบบของพุทธศาสนา แต่ระบบการศึกษาของทางการนำจริยธรรมแบบอื่นเข้ามาสอนแบบอ้อมแอ้มแอบแฝง หรืองุบงิบกันทำ ซึ่งจะเป็นการก่อผลร้ายแก่ชีวิตและสังคมซ้ำซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก กล่าวคือ

๑) ผู้เรียนที่ได้รับจริยศึกษาตามระบบจริยธรรมของรัฐ จะเกิดความแปลกแยกกับสังคมและวัฒนธรรมของตน มีชีวิตที่ไม่ประสานกลมกลืน เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมของตนไม่สนิท

๒) ระบบจริยธรรมที่สอนในโรงเรียน กับระบบจริยธรรมที่เป็นพื้นฐานแวดล้อมอยู่ในสังคม จะเกิดความขัดแย้งกัน เช่น โรงเรียนสอนจริยธรรมอย่างหนึ่ง สถาบันศาสนามีวัดและพระสงฆ์เป็นต้น ก็สอนไปอีกอย่างหนึ่ง จะทำให้เกิดความสับสน และเสียผลไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย

๓) จริยธรรมที่เสียหายก่อผลร้าย แทนที่จะได้รับการควบคุมดูแลหรือแก้ไขขัดเกลาด้วยการนำเข้ามาจัดสอนโดยกลั่นกรองเลือกเฟ้นเน้นย้ำ ในลักษณะและแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ ก็กลายเป็นถูกปล่อยให้ล่องลอยเคว้งคว้างและถูกถ่ายทอดต่อกันเรื่อยเปื่อยไป เป็นอิสระเสรีที่จะก่อความเสียหายทำให้เกิดผลร้ายแก่ชีวิตและสังคมได้เรื่อยไป และอย่างเต็มที่

รวมความว่า จริยธรรมตามหลักพุทธศาสนา จึงจะต่อติดกับจริยธรรมในวัฒนธรรมเดิมของไทย ซึ่งเป็นจริยธรรมระบบเดียวกัน ไม่เป็นจริยธรรมที่จะแปลกแยกกันได้ ดังนั้น ถ้ามีปัญหาจะต้องแก้ไข ก็จะต้องเข้าไปปรับปรุงในระบบจริยธรรม ที่มีอยู่แล้วนั้น ไม่ใช่ว่า ทั้งๆ ที่อันเก่าก็ยังปล่อยค้างไว้ให้คงอยู่ กลับไปเอาอันใหม่เข้ามา ทำให้ขัดแย้งวุ่นวายสับสน เลยพลอยเสียผลไปด้วยกัน

นักการศึกษาและนักวิชาการบางท่าน อาจจะยังข้องใจและยังติดใจอยู่กับคำกล่าวที่ว่า จริยธรรมบางอย่างของพระพุทธศาสนา เช่น สันโดษ และหลักกรรม เป็นต้น เป็นสาเหตุขัดขวางการพัฒนาประเทศชาติ หรืออาจจะถึงกับเชื่ออย่างนั้นด้วยตนเองทีเดียว แต่ก็ไม่กล้าที่จะยกขึ้นมาอ้าง จึงได้แต่พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สอนจริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา

ท่าทีและการปฏิบัติด้วยท่าทีเช่นนี้ เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาซึ่งเป็นกิจการที่กำหนดชะตากรรมของสังคม และสำหรับผู้ทำงานในระดับที่รับผิดชอบต่อชีวิตและสังคมส่วนรวมระดับชาตินี้ ควรจะทำการด้วยความชัดเจน มองเห็นเหตุผล ผ่านกระบวนการแก้ความสงสัยข้องใจแล้วอย่างดีที่สุด ถ้ายังข้องใจมีปมสงสัยจะต้องยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างเปิดเผยให้เห็นชัดเจน ว่าเป็นอย่างไร แล้วปฏิบัติด้วยความชัดเจนอย่างนั้น

อนึ่ง ในการยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาถกเถียงกันนั้น ทางฝ่ายที่เรียกว่าอยู่ข้างพระพุทธศาสนา ก็ควรจะมีท่าทีแห่งการรับฟัง และพูดจาถกเถียงกันตามแนวทางของเหตุผลอย่างแท้จริง ในบรรยากาศแห่งความหวังดีต่อกัน และตกลงกันด้วยความแจ่มแจ้งในเหตุผลและความจริง ไม่ควรจะอยู่ และทำงานรับผิดชอบชะตากรรมของสังคมกันภายใต้ความเคลือบแคลงหรือมืดมัว ซึ่งจะทำให้ชะตากรรมของสังคมพลอยมืดมัวไปด้วย

เมื่อมองในแง่ความรับผิดชอบของการศึกษา เรื่องที่เป็นปัญหาอย่างนี้ กลับเป็นกรณีที่วงการการศึกษาจะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาของประเทศชาติและสังคม ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมาหลีกเลี่ยงหรืออ้ำอึ้งกันอยู่ และในการแก้ปัญหา นักการศึกษาและนักวิชาการนั่นแหละจะต้องเป็นผู้ที่หาความแจ่มแจ้งชัดเจนก่อนคนอื่นๆ และก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการแก้ปัญหานั้น

ในเรื่องนี้ สาเหตุที่เป็นไปได้มีหลายอย่าง เช่น ประชาชนจำนวนมาก หรือแม้แต่พระสงฆ์ผู้สั่งสอน ซึ่งไม่ได้มีการศึกษาเพียงพอ อาจเชื่อสืบๆ กันมา และปฏิบัติต่อๆ ตามๆ กันมาด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปแล้ว หรือบกพร่องจากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา

ในกรณีที่เป็นเช่นนี้ ถ้านักการศึกษาหรือนักวิชาการวินิจฉัย หรือประเมินค่าของหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไปตามความเชื่อและการปฏิบัติของประชาชนหรือผู้สอนที่กล่าวนั้น ก็จะกลายเป็นว่า นักการศึกษาและนักวิชาการเป็นเพียงผู้เล่าเรียนคำสอนของพระพุทธศาสนาจากชาวบ้านที่ขาดการศึกษาอีกต่อหนึ่ง คือมีความรู้พระพุทธศาสนาด้อยกว่าชาวบ้านเหล่านั้น แทนที่จะเป็นผู้นำ ซึ่งมีความรู้ถูกต้องถ่องแท้ดีกว่าชาวบ้าน สามารถที่จะให้การศึกษาแก่ชาวบ้าน เพื่อมาช่วยแก้ไขปรับความรู้ความเข้าใจของชาวบ้าน ให้ตรงและสมบูรณ์ตามหลักคำสอนที่แท้จริง ท่าทีและการปฏิบัติของนักการศึกษาและนักวิชาการที่เป็นอย่างนี้ ก็เหมือนกับคนที่วินิจฉัยความหมายหรือประเมินค่าของระบอบประชาธิปไตย โดยถือตามความรู้ความเข้าใจ และพฤติกรรมต่อประชาธิปไตยของชาวบ้านในประเทศไทย เท่าที่ได้เป็นมาจนถึงอย่างที่เป็นกันอยู่นี้

ถ้าชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจ เชื่อถือและปฏิบัติบกพร่องผิดพลาดคลาดเคลื่อน แต่การศึกษาใช้วิธีหลีกเลี่ยงเสีย ไม่เกี่ยวข้องด้วย ก็เท่ากับว่าชุมชนถูกทอดทิ้งให้เผชิญชะตากรรมอย่างไร้ที่พึ่ง ปัญหาของสังคมถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับความเอาใจใส่แก้ไข นั่นก็คือการศึกษาไม่ได้ทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สังคมไทยได้เปรียบสังคมอเมริกัน ในการจัดจริยศึกษาที่มีเอกภาพเรียนพระพุทธศาสนา เพื่อมาร่วมอยู่และร่วมพัฒนาสังคมไทย >>

No Comments

Comments are closed.