เรื่องสามัญของตนเองที่ควรจะต้องรู้ สิ่งดีที่ตนมีพิเศษ ที่จะให้และจะนำคนอื่นได้

28 พฤศจิกายน 2533
เป็นตอนที่ 22 จาก 44 ตอนของ

เรื่องสามัญของตนเองที่ควรจะต้องรู้
สิ่งดีที่ตนมีพิเศษ ที่จะให้และจะนำคนอื่นได้

๑๔. อีกด้านหนึ่งของการศึกษาพระพุทธศาสนาที่ควรพูดไว้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ในโอกาสที่จำกัดนี้ถึงจะต้องรวบรัด ก็น่าจะเอ่ยอ้างไว้บ้าง แม้จะนิดหน่อยก็ยังดี นี้ก็คือ การศึกษาพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นความรู้ หรือเป็นเรื่องของวิชาการ และการศึกษาพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่ง แห่งอารยธรรมของมนุษยชาติ

สำหรับประเทศไทยและสังคมไทย เราพูดได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นของสามัญ ที่คนไทยคุ้นเคยจนเฉยชิน เหมือนปลาคุ้นชินกับน้ำที่มันแหวกว่ายอยู่ วัตถุ สถานที่ เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ปรากฏอยู่ทั่วไป เป็นของดาษดื่น ชินหูชินตาจนไม่รู้สึกสังเกต

ถ้าว่าตามที่ควรจะเป็น คนไทยก็ควรจะมีความรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา สามารถพูดเล่าหรือตอบคำถามทั่วๆ ไป เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาได้อย่างพร้อมทันที ในฐานะเป็นเรื่องราวของตนเองที่ห้อมล้อมอยู่รอบตัว แต่ปรากฏว่า ในสมัยปัจจุบันที่คนไทยหันไปสนใจวัฒนธรรม และสิ่งบริโภคสมัยใหม่จากสังคมอื่นภายนอก คนไทยน้อยคนจะเล่าเรื่องและตอบคำถามเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมไทยที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาได้แม้แต่ในเรื่องที่ง่ายๆ

มองในแง่หนึ่ง ก็เป็นเรื่องน่าอายที่คนของเราไม่รู้จักตัวเอง และเรื่องราวของตน การศึกษาจะต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะให้คนไทยรู้เรื่องพระพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นเรื่องของตนเองนี้อย่างเพียงพอตามที่ควรจะเป็น

เมื่อชาวต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทย เขาย่อมถามถึงสิ่งที่เขาพบเห็น โดยเฉพาะสิ่งที่แปลกหูแปลกตาแก่เขา คำถามของเขาจึงเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก เมื่อคนไทยตอบเขาไม่ได้หรืออธิบายผิดๆ ถูกๆ บางครั้งก็ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ประเทศชาติ และความจริงก็ปรากฏว่าคนไทยส่วนมากตอบไม่ได้ หรืออธิบายผิดๆ การศึกษาน่าจะถือเรื่องนี้เป็นข้อบกพร่องสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งควรจะต้องแก้ไข

เมื่อนักศึกษาหรือนักเรียนไทย ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก มักถูกถามหรือถูกเชิญให้พูด ให้ปาฐกถา หรือบรรยายเกี่ยวกับประเทศไทยและพระพุทธศาสนาของไทย และก็ปรากฏว่า นักศึกษาและนักเรียนไทยไม่ค่อยมีความพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยหรือสังคมไทย ในอันที่จะแสดงออกให้เป็นการเชิดชูเกียรติแห่งประเทศชาติและสังคมของตนได้

อย่างไรก็ดี ความสนใจของคนตะวันตก โดยปกติก็เป็นเพียงการที่ได้เห็นคนอื่นมาจากต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม แล้วก็เลยซักถาม ขอฟังด้วยความอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมที่ต่าง หรือแปลกไปจากของเขาเท่านั้น แต่สำหรับเรื่องของพระพุทธศาสนานี้ มิใช่เป็นเพียงเท่านั้น

ในระยะหลายทศวรรษมาแล้ว ชาวตะวันตกได้มีความสนใจในพระพุทธศาสนากันมาก และเมื่อเวลาผ่านมายิ่งใกล้ปัจจุบัน ความสนใจนั้นก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วย

การที่ชาวตะวันตกสนใจพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่สนใจเพียงในฐานะเรื่องราวของประเทศชาติ และวัฒนธรรมที่แปลกแตกต่างจากเขาเท่านั้น แต่สนใจในแง่ของระบบความคิดคำสอนและการปฏิบัติ ที่จะช่วยให้คำตอบแก้ปัญหาในสังคมของเขา ในเรื่องที่เขายังติดตันอยู่หรือหาคำตอบไม่ได้ เช่น ปัญหาชีวิตจิตใจที่โถมทับสังคมของเขาเพิ่มหนักขึ้นๆ มาตลอดเวลายาวนาน อย่างน้อยเขาก็หวังว่า หลักความคิดและการปฏิบัติบางอย่างในพระพุทธศาสนา อาจจะเป็นส่วนเติมเต็มให้แก่ระบบความคิดและการดำเนินชีวิตของเขา

ยิ่งมาในช่วงเวลาปัจจุบันที่ใกล้ที่สุดนี้ สังคมตะวันตกได้มาถึงจุดวิกฤตในทางปัญญา เกิดความรู้สึกแพร่ไปมากขึ้นว่า วิชาการต่างๆ ของตะวันตกมาถึงจุดติดตันไม่สามารถแก้ปัญหาของชีวิตและสังคมได้ ไม่สามารถนำมนุษยชาติไปสู่สวัสดิภาพและสันติสุข แต่ตรงข้ามอาจจะพาไปสู่หายนภาพ แม้แต่ความรู้และความคิดทางวิทยาศาสตร์ ก็กำลังมาถึงจุดเปลี่ยน ดังที่ได้เกิดความตื่นตัวกันมากขึ้นในวงวิชาการ ที่จะแสวงหาคำตอบและทางออกใหม่ๆ

ในการแสวงคำตอบและทางออกใหม่ๆ นี้ ตะวันตกได้หันมาหาตะวันออกมากทีเดียว ด้วยเหตุนั้น ในระยะใกล้ๆ นี้ พระพุทธศาสนาจึงยิ่งได้รับความสนใจจากวงวิชาการตะวันตกมากขึ้น ดังที่การศึกษาและปฏิบัติพระพุทธศาสนาขยายตัวมากขึ้นในประเทศตะวันตก มีกลุ่มมีองค์กรเกี่ยวกับการศึกษาบ้าง ปฏิบัติบ้าง เพิ่มมากขึ้น เช่นที่มีความสนใจศึกษาทดลองกันมากในวงการจิตวิทยายุคนี้ หรือดังที่นักวิทยาศาสตร์บางพวกหันมาอธิบายหลักความรู้ และแนวคิดพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ โดยประสานกับแนวคิดทางพระพุทธศาสนา และปรัชญาตะวันออกอื่นๆ

ไม่ว่าจะมองในแง่ที่เป็นเรื่องของตังเองอย่างพื้นๆ สามัญที่ตนควรจะต้องรู้ ก็ดี

จะมองในแง่เป็นสมบัติที่มีค่าที่เราได้รับสืบทอดมาเปล่าๆ ได้มาเองทันที ซึ่งมีอยู่แล้ว พร้อมที่จะใช้ได้ ซึ่งเราควรจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็ดี

จะมองในแง่ความทันต่อความเคลื่อนไหวก้าวหน้า ในวงวิชาการ ก็ดี

จะมองในแง่เป็นสิ่งที่เรามีอยู่เป็นพิเศษ ซึ่งคนอื่นกำลังปรารถนา และเรามีโอกาสดีกว่าได้เปรียบกว่า ที่จะทำตนและสังคมของตน ให้ดีกว่าเหนือกว่าเขาได้บ้างอย่างน้อยในแง่หนึ่งนั้น ก็ดี

จะมองในแง่เป็นภูมิธรรมภูมิปัญญาที่ตนมีต่างหากจากของผู้อื่น ซึ่งจะทำให้สังคมไทยมีอะไรที่จะให้แก่อารยธรรมของมนุษยชาติ และที่จะทำให้สามารถเป็นผู้นำเขาบ้างสักด้านหนึ่งในประชาคมโลก แทนที่จะเป็นผู้คอยตามและรับจากเขาร่ำไป ก็ดี

แต่ละอย่างๆ นั้น ก็พอเพียงที่จะเป็นเหตุผล ให้คนไทยควรจะต้องเรียนรู้พระพุทธศาสนา

โยงต่อจากแง่ของวิชาการนั้น มองให้กว้างออกไปอีก พระพุทธศาสนาได้เป็นแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่ง แห่งอารยธรรมของโลก โดยเป็นพื้นฐานสำคัญส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมต่างๆ มากมายในซีกโลกตะวันออก เช่น ในอินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี แม้ตลอดจนอินโดนีเซีย และเปอร์เซีย ทั้งยังโยงไปถึงกรีกและโรมัน ที่เป็นแหล่งอารยธรรมของตะวันตกด้วย ความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา นอกจากทำให้รู้เข้าใจตัวเองและพื้นฐานตนเองของสังคมไทยแล้ว ยังเชื่อมโยงออกไปให้เข้าใจสังคมและชีวิตจิตใจของชนชาติต่างๆ ในฝ่ายตะวันออกได้ง่ายขึ้นด้วย ตลอดจนเป็นฐานเทียบเคียงให้เข้าใจสังคมและชีวิตจิตใจของตะวันตกที่ต่างออกไป พร้อมทั้งมองเห็นสายสัมพันธ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ ที่แล่นร้อยเป็นเหตุปัจจัยกันอยู่ในอารยธรรมของมนุษยชาติ

การมีความรู้ความเข้าใจมองเห็นกว้างไกล ได้ภาพรวมแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติทั้งหมด เป็นคุณสมบัติที่พึงต้องการอย่างหนึ่งสำหรับมนุษย์ผู้มีคุณภาพที่จะดำรงตนอยู่ในสังคมมนุษย์ยุคต่อไป ที่โลกนี้กำลังแคบลงจนกลายเป็นชุมชนเดียวกัน การศึกษาพระพุทธศาสนาในวงกว้างกินวงถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ด้วย

การศึกษาที่จะรับมือกับความเจริญของโลกในยุคที่กำลังมาถึงข้างหน้า จะต้องมองไกลออกไปให้ครอบคลุมถึงจุดหมายของการศึกษาในระดับของการสร้างสรรค์คนให้เป็นสมาชิกที่ดีมีคุณภาพ ผู้สามารถช่วยสร้างสรรค์พัฒนามนุษยชาติได้ด้วย การศึกษาที่มนุษยชาติต้องการจึงได้แก่ การศึกษาเรื่องราวที่มีฐานโยงกว้างไกลทั้งในด้านกาละและเทศะ ดังเช่น การศึกษาพระพุทธศาสนา ซึ่งสนองจุดมุ่งหมายเช่นว่านี้สำหรับสังคมไทย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถ้าเรียน และสอนไม่ถูกต้อง วิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นวิชาที่ยัดเยียดหลักการที่ควรตรวจสอบและปฏิบัติการที่ควรทบทวน >>

No Comments

Comments are closed.