จริยธรรมประสานสนิทกับสัจธรรม คือ สันติสุขที่สัมฤทธิ์แก่ชีวิตและสังคม

1 ตุลาคม 2534
เป็นตอนที่ 39 จาก 44 ตอนของ

จริยธรรมประสานสนิทกับสัจธรรม
คือ สันติสุขที่สัมฤทธิ์แก่ชีวิตและสังคม

ทางแก้ปัญหา ซึ่งจะทำให้ได้ผลดีทั้งแก่ชีวิตจิตใจของบุคคล และผลประโยชน์ของสังคม ก็คือการจับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติให้ได้ และปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของมันในแนวทางที่จะให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของเรา

เป็นที่แน่นอนว่า ความโลภทรัพย์ หรืออยากได้เงิน ย่อมเป็นเหตุให้คนหาเงิน ไม่ใช่เป็นเหตุให้คนทำงาน และเมื่อนำเอาระบบเงื่อนไขเข้ามาใช้ ก็กลายเป็นเครื่องบีบคั้นว่า อยากได้เงิน แต่ต้องทำงาน จึงจะให้เอาเงิน เมื่อต้องจำใจทำงาน ทั้งจิตใจของบุคคลก็ไม่สุขสบาย ทั้งงานของสังคมก็ไม่ได้ผลดี ทางแก้จึงอยู่ที่ว่า เมื่อต้องการได้งาน ก็ต้องสร้างเหตุปัจจัยของการทำงานขึ้นมา เหตุปัจจัยของการทำงานก็คือความอยากทำงาน ความอยากได้เงิน ไม่เป็นเหตุของการทำงาน แต่ความอยากทำงาน ย่อมเป็นเหตุของการทำงานอย่างแน่นอน

ความอยากทำงานนี้เรียกสั้นที่สุดว่า ฉันทะ แปลว่า ความอยากทำ (ต่างจากโลภะ ที่แปลว่าความอยากได้ หรืออยากเอา) หมายถึง ความรักความพอใจในงาน ความรักงานเพราะมองเห็นคุณค่าของมันที่จะนำมาซึ่งความดีงามและประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม

เมื่อมีเหตุปัจจัยตัวตรงของการทำงานนี้แล้ว กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติก็ทำงานตรงไปตรงมาอย่างราบรื่น เป็นความประสานกลมกลืนทั้งในตัวกระบวนการเอง ความประสานกลมกลืนในจิตใจของบุคคลที่ทำงาน และความประสานกลมกลืนระหว่างความต้องการของบุคคลกับความต้องการของสังคม กฎธรรมชาติก็ส่งทอดความเป็นเหตุเป็นผลจนถึงที่สุด โดยไม่มีตัวขัดขวางแทรกแซง บุคคลก็ได้ปีติและความสุขในการทำงาน และทำงานด้วยทั้งจิตทั้งใจเต็มเรี่ยวแรง สังคมก็ได้ผลที่เป็นความสำเร็จของงานอันนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ พร้อมนั้นปัญหาต่างๆ ทั้งด้านจิตใจและสังคมก็จางหายหรือลดซาไปเอง

กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในกรณีเช่นนี้ ก็จะมาในรูปที่ว่า : ความรักงาน/อยากทำงาน –> ความขยันทำงาน –> ความสำเร็จของงาน (–> ปีติสุขในใจบุคคล + ความรุ่งเรืองของสังคม)

สำหรับปุถุชนทั้งหลาย ซึ่งเราต้องยอมรับความโลภของเขาตามความเป็นจริงในขอบเขตหนึ่ง คือ เท่าที่จะควบคุมได้ ไม่ให้ก่อความทุจริตหรือพฤติกรรมที่บั่นรอนสังคม การปฏิบัติตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนี้ ก็คือ การสร้างจุดต่อเชื่อมที่จะถ่ายทอดความโลภทรัพย์หรืออยากได้เงินให้มาเป็นปัจจัยแก่ความอยากทำงาน ซึ่งเป็นจุดย้ำที่สำคัญ คือจะต้องให้เกิดความรักงานหรืออยากทำงานให้ได้ เพราะนี่เป็นหัวใจของความสำเร็จ และนี่ก็คือการทำให้โลภะเป็นปัจจัยแก่ฉันทะ (ตามหลักทั่วไปว่า อาศัยอกุศล เป็นปัจจัยให้เกิดกุศล) หรือถ้าสามารถพอ ก็ให้เปลี่ยนจากโลภะมาเป็นฉันทะโดยตรงเลยทีเดียว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การแทรกแซงที่ไม่กลมกลืน ปัจจยาการแห่งปัญหาของชีวิตและสังคมถ้าจับเหตุปัจจัยในกระบวนการพัฒนาผิดพลาด การศึกษาอาจเป็นเครื่องมือก่อความพินาศ >>

No Comments

Comments are closed.