บูรณาการการสอนและบูรณาการเนื้อหาจริยธรรมแล้ว อย่าลืมบูรณาการนักเรียนและบูรณาการโรงเรียนด้วย

1 ตุลาคม 2534
เป็นตอนที่ 15 จาก 44 ตอนของ

บูรณาการการสอนและบูรณาการเนื้อหาจริยธรรมแล้ว
อย่าลืมบูรณาการนักเรียนและบูรณาการโรงเรียนด้วย

๒) การบูรณาการคนเข้าในชุมชน หรือบูรณาการบุคคลเข้าในสังคม

ผู้ที่ติดตามข่าวทางการศึกษาจะทราบว่า ในประเทศอเมริกา ได้มีปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งแยกผิว เป็นเรื่องใหญ่โต ตลอดมา วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ที่สำคัญก็คือการที่จะบูรณาการคนผิวดำเข้าในสังคมอเมริกัน เช่น เมื่อ ๑๐ กว่าปีมานี้ ก็มีการใช้วิธีที่เรียกว่า busing คือใช้รถบัสบรรทุกนักเรียนผิวดำไปเรียนร่วมกับนักเรียนผิวขาว และบรรทุกนักเรียนผิวขาวไปเรียนร่วมกับนักเรียนผิวดำ ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งและต่อต้านอย่างรุนแรง มีการขัดขวางใช้กำลังต่อสู้กันเป็นข่าวอยู่นาน

ในสังคมไทยเราไม่มีปัญหาอย่างนั้น แต่เราก็มีเรื่องที่ต้องทำในประเภทเดียวกันนั้น คือการบูรณาการคนรุ่นใหม่เข้าในสังคมไทย และในปัจจุบันเราก็มีปัญหานี้มากขึ้น แม้ว่าปัญหาจะไม่ออกมาในรูปที่รุนแรง แต่ก็เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง และการพัฒนาสังคมไม่น้อย

ในเมื่อจริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ได้เป็นที่ยอมรับนับถือของสังคมไทย และกลายเป็นเนื้อหาของวัฒนธรรมไทยไปแล้ว เช่นในด้านภาษาเป็นต้น ถ้าเด็กนักเรียนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักไม่เข้าใจจริยธรรมตามแบบของพระพุทธศาสนานั้น หรือเรียนตามแบบจริยธรรมอย่างอื่น ก็จะเกิดปัญหาที่ไม่อาจบูรณาการตัวเองเข้าในสังคมไทย หรือเข้าไม่ได้สนิท อาจจะเกิดความแปลกแยกกับสังคมของตน จะอยู่ร่วม ทำงานร่วม และทำงานให้แก่สังคมของตนไม่ได้ผลดี เพราะแปลกแยกกับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม ยิ่งกว่านั้น เขาจะไม่สามารถถือเอาประโยชน์จากวัฒนธรรมไทย และวัฒนธรรมไทยก็ไม่สามารถเอื้อประโยชน์แก่เขา เช่น ได้ยินถ้อยคำที่เขาใช้กันในชุมชนของตนเองว่า บุญ บาป กรรม กรุณา สติ สังฆทาน ศีล ภาวนา ก็ไม่เข้าใจ สิ่งเหล่านั้นเป็นข้อมูลที่ไร้ประโยชน์สำหรับเขา เขาไม่สามารถเอาไปใช้สื่อสารกับคนอื่นในชุมชน ไม่สามารถเอาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาตนเอง หรือใช้ประโยชน์ในชีวิตของตน ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนในเรื่องที่เกี่ยวกับความคิดและถ้อยคำเหล่านั้น ตลอดจนกลายเป็นเหมือนคนพวกอื่นนอกชุมชน และนอกสังคมนั้น อย่างน้อยก็มีความอึดอัดที่จะอยู่ร่วมในชุมชนของตน และผลต่อสังคมส่วนรวมคือสภาพต่อไม่ติดและไม่กลมกลืนกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม

๓) การบูรณาการสถาบันการศึกษาเข้าในระบบจริยศึกษาของชุมชน หรือบูรณาการจริยศึกษาของโรงเรียนเข้าในระบบจริยศึกษาของชุมชน

การศึกษาไม่ใช่เป็นงานผูกขาดของโรงเรียนแต่ฝ่ายเดียว โดยเฉพาะจริยศึกษายิ่งเป็นภารกิจที่ชุมชน หรือสังคมทุกส่วนจะต้องร่วมมือประสานงานกัน และเป็นการศึกษาส่วนที่องค์ประกอบอื่นๆ ของชุมชนจะร่วมมือหรือเสริมต่อรับช่วงส่งต่อกันได้ดีที่สุด

ในชุมชนหนึ่งๆ ถ้าโรงเรียนกับบ้านและวัดรู้กันและร่วมมือกัน เช่น โรงเรียนสั่งสอนแนะนำหรือพูดถึงอะไร บ้านและวัด ก็เสริมขยายเน้นย้ำในเรื่องนั้นได้ บ้านและวัด แนะนำเอ่ยอ้างพูดอะไร เด็กไปโรงเรียนก็ถามเพิ่มเติมได้ หรือโรงเรียนก็อาจเอามาชี้แจงเสริมขยายย้ำเน้นได้ โดยที่ทั้งโรงเรียน วัด และบ้าน มีส่วนร่วมอยู่ในระบบจริยศึกษาอย่างกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน

แต่ถ้าโรงเรียนใช้ระบบจริยธรรมที่แตกต่างออกไป ใช้คำศัพท์ถ้อยคำคนละอย่าง นอกจากบ้านและวัดหรือชุมชนส่วนอื่นทั้งหมดจะช่วยเหลือร่วมมือเสริมต่ออะไรไม่ได้ และเด็กจะไม่สามารถรับเอาประโยชน์ที่พึงได้ จากสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนแล้ว โรงเรียนก็จะทำงานของตนไปแต่ลำพังผู้เดียวโดดเดี่ยวแปลกแยกจากชุมชน เข้ากับชุมชนไม่ได้ หรืออาจถึงกับขัดแย้งกัน ผลสุดท้ายก็คือจริยศึกษาที่ล้มเหลว มองในวงกว้างก็คือ สภาพที่การศึกษาในโรงเรียน กับวิถีชีวิตของชุมชนนอกโรงเรียน ไม่กลมกลืนและไม่เกื้อกูลกัน โรงเรียนไม่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และไม่ไปด้วยกันกับชุมชน ไม่ต้องพูดถึงการที่จะเป็นผู้นำของชุมชน

ยิ่งกว่านั้น เมื่อโรงเรียนอยู่ในระบบจริยศึกษาเดียวกับชุมชน พูดจาด้วยคำศัพท์เดียวกับชุมชน โรงเรียนจะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวนำและเป็นตัวเร่งเร้า ในการปรับปรุงส่งเสริมจริยธรรมของชุมชนทั้งหมด หรือเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ด้วย เช่นโรงเรียนอาจยกประเด็นทางจริยธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ให้ชุมชนเอาใจใส่พิจารณา และปรับความเข้าใจตลอดจนปรับพฤติกรรมเป็นต้น แต่ถ้าถือจริยธรรมต่างระบบต่างถ้อยคำกัน สื่อสารกันไม่ได้แล้ว โอกาสที่จะทำประโยชน์นี้ก็ย่อมหมดไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จริยธรรมสากล เข้าหรือขัดกับบูรณาการจากคติแห่งศาสนศึกษาในอังกฤษ สู่ความคิดหาทางสายกลางของการจัดจริยศึกษา >>

No Comments

Comments are closed.