- ภาค ๑ – ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา?
- จริยศึกษาเพื่อรับมือกับปัญหาของยุคพัฒนา
- ความเสื่อมโทรมของสังคมและชีวิตจิตใจ ที่เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของอเมริกาในปัจจุบัน
- สัญญาณอันตราย บอกให้ยกเครื่องการศึกษากันใหม่
- ระบบจริยธรรมที่ต่อติดกับพื้นฐานเดิมของสังคมไทย
- ชาวพุทธควรมีสิทธิเรียนจริยศึกษาแบบพุทธ
- สังคมไทยได้เปรียบสังคมอเมริกัน ในการจัดจริยศึกษาที่มีเอกภาพ
- สังคมไทยไม่มีเหตุผลที่จะไม่สอนจริยศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา
- เรียนพระพุทธศาสนา เพื่อมาร่วมอยู่และร่วมพัฒนาสังคมไทย
- การศึกษาเพื่อสร้างชนชั้นนำ สำหรับมาพัฒนาสังคมไทย
- การศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสังคมไทย
- สัญญาณเตือนภัยให้เร่งรัดส่งเสริมพุทธจริยศึกษา
- บูรณาการที่หล่นหายไปจากจริยศึกษาของไทย บนเส้นทางของจริยธรรมสากล
- จริยธรรมสากล เข้าหรือขัดกับบูรณาการ
- บูรณาการการสอนและบูรณาการเนื้อหาจริยธรรมแล้ว อย่าลืมบูรณาการนักเรียนและบูรณาการโรงเรียนด้วย
- จากคติแห่งศาสนศึกษาในอังกฤษ สู่ความคิดหาทางสายกลางของการจัดจริยศึกษา
- บทเรียนจากอเมริกา วิชาศาสนาและจริยศึกษาที่เรรวน
- จะยัดเยียด หรือจะปล่อยตามใจ ก็ไม่ใช่ทางสายกลาง
- รู้จักคิด รู้จักจำ ไม่ทำให้ยัดเยียด
- จะหลบการยัดเยียด แต่กลายเป็นปิดกั้นปัญญา/ประชาธิปไตย จะห้ามนักปราชญ์ เพื่อให้โอกาสแก่โจร
- ถ้าเรียน และสอนไม่ถูกต้อง วิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นวิชาที่ยัดเยียด
- เรื่องสามัญของตนเองที่ควรจะต้องรู้ สิ่งดีที่ตนมีพิเศษ ที่จะให้และจะนำคนอื่นได้
- หลักการที่ควรตรวจสอบและปฏิบัติการที่ควรทบทวน
- วงการพระพุทธศาสนา ก็ต้องสำรวจพิจารณาและปรับปรุงตนเอง
- บทสรุปและข้อเสนอแนะ
- บันทึกของผู้เขียน
- ภาค ๒ – จริยธรรมสากล จากความเป็นกลาง สู่ความเป็นจริง
- ตื่นตัวใหม่ เมื่อเจอภัยแห่งความเสื่อม
- จริยธรรมสากล ทางตันของการแก้ปัญหาในยุคนิยมวิทยาศาสตร์
- จริยธรรมสากล อยู่ที่ความเป็นกลาง หรืออยู่ที่ความเป็นจริง
- ขอบเขตอันคับแคบ ที่จำกัดความคิดเกี่ยวกับจริยธรรม
- ก้าวสำคัญบนเส้นทางแห่งการแสวงหาจริยธรรมสากลในอเมริกา
- ก้าวใหม่ที่ไปไม่พ้นร่องเก่า
- ขยายเขตแดนแห่งความคิด จากสากลที่เป็นกลาง สู่สากลที่เป็นจริง
- บัญญัติธรรมเพื่อจริยธรรม จริยธรรมบนฐานแห่งสัจธรรม
- จริยธรรมแห่งความเป็นจริง ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
- ระบบเงื่อนไขของมนุษย์: ตัวแทรกแซงที่ถูกลืม ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย
- การแทรกแซงที่ไม่กลมกลืน ปัจจยาการแห่งปัญหาของชีวิตและสังคม
- จริยธรรมประสานสนิทกับสัจธรรม คือ สันติสุขที่สัมฤทธิ์แก่ชีวิตและสังคม
- ถ้าจับเหตุปัจจัยในกระบวนการพัฒนาผิดพลาด การศึกษาอาจเป็นเครื่องมือก่อความพินาศ
- ถ้าจะมองเขา ก็ควรสืบสาวให้ถึงเหง้าถึงราก
- ถ้าจะตามเขา ก็ควรตามอย่างรู้เท่าทัน
- การพัฒนาจริยธรรม เป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ที่สัมพันธ์กันทั้งระบบเป็นองค์รวม
- ความเป็นสากลที่แท้ อยู่ที่ความเป็นจริง และความเป็นจริง คือความเป็นสากลที่แท้จริง
ก้าวใหม่ที่ไปไม่พ้นร่องเก่า
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางจริยธรรมขั้นที่ ๖ คือขั้นถือหลักจริยธรรมสากล ซึ่งเป็นขั้นสำคัญที่โกลเบอร์กเองก็ถือว่าสูงสุด เมื่อจัดวางเป็นหลักลงไว้แล้ว ก็ควรจะได้รับการเน้นย้ำ ควรจะถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการจัดจริยศึกษาเพื่อพัฒนาการของเด็ก แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น กลับถูกตัดออกไปเสีย โดยเจ้าตัวโกลเบอร์กเองเป็นผู้ลดออกไป กลายเป็นเหลือพัฒนาการ ๕ ขั้น ทำให้จริยธรรมยังมีความหมายจำกัดอยู่แค่บัญญัติธรรม หรือกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดกันขึ้นมาเหมือนอย่างเดิม แม้จะมีขั้นที่ ๕ ที่แสดงให้เห็นจุดแยก แต่ก็ยังไม่ชัดมากพอที่จะแสดงความหมายในแง่ของจริยธรรมแท้ที่เป็นความจริง
เหตุที่เป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นเพราะโกลเบอร์กเองก็ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับพัฒนาการในขั้นที่ ๖ นี้ เฉพาะอย่างยิ่งไม่ชัดเจนว่าจริยธรรมสากลคืออะไรกันแน่ ที่ว่าสากลในแง่ที่เป็นความจริง ก็ไม่มีอะไรบ่งชัดออกมา เพียงแต่มีทีท่าว่าจะก้าวออกมาจากความหมายในแง่ที่เป็นกลางๆ เท่านั้น เมื่อออกมาแล้วก็เคว้งคว้างลอยอยู่ จริยธรรมสากลที่วินิจฉัยด้วยปัญญานั้น ถ้ายึดความจริงเป็นหลัก ความจริงนั้นมีลักษณะอย่างไร เป็นความจริงตามระบบความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ตามกฎธรรมชาติหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น ความไม่ชัดเจนนี้เปิดช่องให้บางคนตีความว่า ขั้นที่ ๖ นั้นเป็นการวินิจฉัยเลือกตัดสินใจตามความคิดเห็นของตนเอง
อนึ่ง นักวิจารณ์บางท่านให้เหตุผลว่า โกลเบอร์กมองปัญหาจริยธรรมโดยเจาะจงลงไปที่เรื่องสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่เด่นในสังคมอุตสาหกรรมของตะวันตกเท่านั้น แนวคิดของโกลเบอร์กจึงมีลักษณะแคบเกินไปและไม่เพียงพอที่จะเป็นความหมายของจริยธรรม
ยิ่งถ้าพิจารณาจากตัวอย่างคำตอบปัญหาจริยธรรมจากสถานการณ์สมมติ ที่โกลเบอร์กถือว่าเป็นคำตอบของผู้มีพัฒนาการทางจริยธรรมขั้นที่ ๖ ด้วยแล้ว ความหวังที่จะได้เห็นจริยธรรมสากลของปราชญ์ตะวันตกในความหมายที่เป็นความจริงโดยสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ ก็ดูจะยิ่งเลือนลางห่างไกลออกไป
ตัวอย่างปัญหาจริยธรรมจากสถานการณ์สมมตินั้นมีว่า หญิงหนึ่งป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง แพทย์ที่รักษาบอกกับสามีของหญิงนั้นว่า มียาซึ่งค้นพบใหม่ที่จะรักษาโรคนั้นได้ แต่แพงมาก และยิ่งแพงขึ้นไปอีกในเมื่อผู้ขายเอากำไรมากถึง ๑๐ เท่า จากราคาต้นทุน ๒๐๐ ดอลล่าร์ เป็น ๒,๐๐๐ ดอลล่าร์ สามีของคนเจ็บพยายามหาเงินอย่างสุดความสามารถก็ได้เพียง ๑,๐๐๐ ดอลล่าร์ จึงขอร้องให้ผู้ขายยาลดราคาให้ ผู้ขายไม่ยอม ในที่สุดสามีของหญิงนั้นตัดสินใจขโมยยามารักษาภรรยา
จากคำตอบต่างๆ ของผู้รับการทดสอบ พร้อมทั้งเหตุผลที่ประกอบกับคำตอบเหล่านั้น โกลเบอร์กได้จัดบุคคลที่ให้คำตอบต่อไปนี้ ว่าเป็นผู้มีพัฒนาการทางจริยธรรมในขั้นที่ ๖ คือ: การขโมยในกรณีนี้ เป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพราะเป็นการรักษาชีวิตมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง
การที่โกลเบอร์กจัดคำตอบนี้เป็นพัฒนาการขั้นที่ ๖ แสดงว่า โกลเบอร์กก็ยังมองจริยธรรมว่าเป็นเพียงคุณค่าที่มนุษย์กำหนดขึ้นเอง มิใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่มีความจริงอยู่ตามสภาพของมัน คือ ไม่มีฐานแห่งความจริงหรือจุดกำหนด ความจริงอยู่ต่างหากจากความคิดของมนุษย์ พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่มีส่วนร่วมในฐานะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องของความคิดของมนุษย์ที่จะตีค่า และประเมินเปรียบเทียบเอาเอง
คำตอบที่โกลเบอร์กจัดเป็นขั้นที่ ๖ นี้ มีความพิเศษที่ก้าวหน้าออกไป (ที่จริงอาจไม่ใช่ความพิเศษ หรือก้าวหน้าเลย แต่เป็นเพียงความแตกต่าง) จากคำตอบของคนอื่นในวัฒนธรรมตะวันตกนั้น เพียงแค่ว่า ได้ย้ายเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมจากบัญญัติของสังคม มาสู่วิจารณญาณของบุคคล หรือจากการถือตามกฎเกณฑ์ของสังคม มาเป็นการถือตามความคิดเห็นอิสระของตนเอง ซึ่งเป็นความก้าวหน้าครึ่งๆ กลางๆ ที่คลุมเครือและเสี่ยงอันตราย เพราะไม่มีหลักที่อ้างอิงสำหรับวิจารณญาณหรือความคิดเห็นส่วนตัวของบุคคล นอกจากการเปรียบเทียบระหว่างคุณค่ากับคุณค่า
หลักการที่โกลเบอร์กวางไว้ดูเป็นหลักฐานดี แต่ตัวอย่างที่เขายกมา (ถ้าเป็นของเขาจริงดังตำราว่า) ทำให้หลักการนั้นสูญเสียความถูกต้อง และกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ
No Comments
Comments are closed.