จริยธรรมสากล อยู่ที่ความเป็นกลาง หรืออยู่ที่ความเป็นจริง

1 ตุลาคม 2534
เป็นตอนที่ 30 จาก 44 ตอนของ

จริยธรรมสากล
อยู่ที่ความเป็นกลาง หรืออยู่ที่ความเป็นจริง

จริยธรรม หรือกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่แท้จริงนั้น เป็นส่วนหนึ่งของระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย คือเป็นความจริงตามธรรมชาติ หมายความว่า จริยธรรมที่แท้จริงตั้งอยู่บนฐานของสัจธรรม และเป็นส่วนหนึ่งของสัจธรรมเองด้วย แต่เพราะเป็นความจริงที่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งเป็นธรรมชาติส่วนที่มีวิวัฒนาการสูงสุด ละเอียดซับซ้อนที่สุด และจริยธรรมนี้ก็เป็นธรรมชาติส่วนที่ประณีตหรือสุดยอดแห่งการแสดงออกของมนุษย์ด้วย ความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยในทางจริยธรรมจึงมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนอย่างยิ่ง เป็นการประสานของระบบปัจจยาการ หรือกฎแห่งความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัย ทั้งของธรรมชาติฝ่ายกายภาพ ธรรมชาติด้านชีววิทยา ธรรมชาติฝ่ายจิต และธรรมชาติด้านเจตน์จำนงเสรี แต่รวมแล้วก็อยู่ภายในระบบแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เป็นความจริงตามธรรมชาติ เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติทั้งหมด

จริยธรรมที่มีความเป็นจริงอยู่ในธรรมชาติ คือเป็นไปตามกฎแห่งปัจจยาการนี้ จึงจะเป็นจริยธรรมที่สากล คือถูกต้องใช้ได้ทุกถิ่นฐานทุกกาลสมัย หรือไม่จำกัดด้วยกาละและเทศะ หมายความว่า ความเป็นสากลของจริยธรรม อยู่ที่ความเป็นจริง (ตามธรรมดาของธรรมชาติ)

อย่างไรก็ตาม จริยธรรมสากลอย่างที่เข้าใจกันอยู่หรือตามความหมายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีกำเนิดในประเทศตะวันตก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มิใช่เป็นจริยธรรมสากลในความหมายของความเป็นจริงอย่างที่เพิ่งกล่าวมานี้

จะเห็นได้จากเหตุผลและความเป็นมาของจริยธรรมแบบนั้นดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า จริยธรรมสากลของตะวันตกเกิดขึ้นจากการคิดหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างลัทธิและนิกายศาสนาต่างๆ มีลักษณะเป็นการตัดส่วนที่แตกต่างออกไป คงไว้แต่ส่วนที่เหมือนกันหรือไปกันได้ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ความเป็นสากลของจริยธรรมแบบนี้ จึงอยู่ที่ความเป็นกลาง ไม่ใช่อยู่ที่ความเป็นจริง

ว่าโดยวิธีการ การที่จะจัดสรรหรือสร้างจริยธรรมแบบนี้ ก็ต้องใช้การเก็บรวบรวมหัวข้อจริยธรรมที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีเหมือนๆ กัน หรือยอมรับกันได้ เอามาประมวลเข้าไว้เป็นหลักการที่จะใช้ร่วมกัน ในกรณีที่ลัทธิหรือนิกายศาสนาหน่วยใดหน่วยหนึ่ง มีคำสอนที่ลึกซึ้งเป็นความจริงแท้หยั่งถึงสัจธรรม คำสอนหรือหลักการเช่นนั้นก็จะต้องถูกตัดทิ้งไป เพื่อเห็นแก่การยอมรับร่วมกัน คำสอน หลักการ และข้อปฏิบัติต่างๆ ที่จริยธรรมสากลแบบนี้จะรวบรวมมาได้ ก็คือสิ่งที่เป็นพื้นๆ ง่ายๆ อย่างสามัญทั่วๆ ไป ถ้ามองในความหมายนี้ จริยธรรมสากลก็จะกลายเป็นจริยธรรมที่ด้อยคุณภาพที่สุด

อาจจะมีคำแย้งขึ้นว่า ในการแสวงหาหรือประมวล สร้างจริยธรรมสากลนั้น ก็ได้มองในแง่ความจริงหรือความถูกต้องแน่นอนด้วย ดังหลักเกณฑ์ที่เคยยกมาอ้างในหนังสือนี้เองว่าเป็นจริยธรรมที่ “เป็นผลแห่งประสบการณ์ของมนุษย์ เป็นที่ยอมรับของปวงอารยชน อันปรัชญาเมธีทุกเชื้อชาติสั่งสอนลงกัน และเป็นที่ยืนยันโดยลัทธิที่ทรงภูมิปัญญาทั้งปวง”1

คำแย้งนี้ตอบได้ง่ายๆ ว่า แม้ผู้คิดหาจริยธรรมสากลนั้นจะมองในแง่ความเป็นจริงอยู่ด้วย แต่การหาความจริงนั้นก็เป็นเพียงเครื่องเสริมหรือเป็นส่วนประกอบเท่านั้น ความคิดหลักก็คือ การหาคำสอนที่เป็นกลางๆ แม้ในคำที่ยกมาอ้างนั้นก็เห็นได้ชัดว่า แม้แต่การมองความจริง ก็มองในแง่ของความเป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์และสังคมหรือมนุษย์ที่เจริญแล้วในกาละและเทศะที่กว้างขวางที่สุด ไม่ใช่มองในแง่ที่เป็นความจริงตามกฎธรรมชาติ หรือเป็นความจริงตามระบบความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ที่มันจะต้องเป็นของมันอย่างนั้น พูดสั้นๆ ว่า ไม่ได้มองจริยธรรมโดยสัมพันธ์กับสัจธรรม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จริยธรรมสากล ทางตันของการแก้ปัญหาในยุคนิยมวิทยาศาสตร์ขอบเขตอันคับแคบ ที่จำกัดความคิดเกี่ยวกับจริยธรรม >>

เชิงอรรถ

  1. Gerald Grant, “Bringing the ‘Moral’ Back In,” NEA Today, January 1989, p. 55 (หนังสือต้นฉบับระบุไว้ว่า “ดู 1” — ผู้จัดทำเว็บไซต์)

No Comments

Comments are closed.