- ภาค ๑ – ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา?
- จริยศึกษาเพื่อรับมือกับปัญหาของยุคพัฒนา
- ความเสื่อมโทรมของสังคมและชีวิตจิตใจ ที่เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของอเมริกาในปัจจุบัน
- สัญญาณอันตราย บอกให้ยกเครื่องการศึกษากันใหม่
- ระบบจริยธรรมที่ต่อติดกับพื้นฐานเดิมของสังคมไทย
- ชาวพุทธควรมีสิทธิเรียนจริยศึกษาแบบพุทธ
- สังคมไทยได้เปรียบสังคมอเมริกัน ในการจัดจริยศึกษาที่มีเอกภาพ
- สังคมไทยไม่มีเหตุผลที่จะไม่สอนจริยศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา
- เรียนพระพุทธศาสนา เพื่อมาร่วมอยู่และร่วมพัฒนาสังคมไทย
- การศึกษาเพื่อสร้างชนชั้นนำ สำหรับมาพัฒนาสังคมไทย
- การศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสังคมไทย
- สัญญาณเตือนภัยให้เร่งรัดส่งเสริมพุทธจริยศึกษา
- บูรณาการที่หล่นหายไปจากจริยศึกษาของไทย บนเส้นทางของจริยธรรมสากล
- จริยธรรมสากล เข้าหรือขัดกับบูรณาการ
- บูรณาการการสอนและบูรณาการเนื้อหาจริยธรรมแล้ว อย่าลืมบูรณาการนักเรียนและบูรณาการโรงเรียนด้วย
- จากคติแห่งศาสนศึกษาในอังกฤษ สู่ความคิดหาทางสายกลางของการจัดจริยศึกษา
- บทเรียนจากอเมริกา วิชาศาสนาและจริยศึกษาที่เรรวน
- จะยัดเยียด หรือจะปล่อยตามใจ ก็ไม่ใช่ทางสายกลาง
- รู้จักคิด รู้จักจำ ไม่ทำให้ยัดเยียด
- จะหลบการยัดเยียด แต่กลายเป็นปิดกั้นปัญญา/ประชาธิปไตย จะห้ามนักปราชญ์ เพื่อให้โอกาสแก่โจร
- ถ้าเรียน และสอนไม่ถูกต้อง วิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นวิชาที่ยัดเยียด
- เรื่องสามัญของตนเองที่ควรจะต้องรู้ สิ่งดีที่ตนมีพิเศษ ที่จะให้และจะนำคนอื่นได้
- หลักการที่ควรตรวจสอบและปฏิบัติการที่ควรทบทวน
- วงการพระพุทธศาสนา ก็ต้องสำรวจพิจารณาและปรับปรุงตนเอง
- บทสรุปและข้อเสนอแนะ
- บันทึกของผู้เขียน
- ภาค ๒ – จริยธรรมสากล จากความเป็นกลาง สู่ความเป็นจริง
- ตื่นตัวใหม่ เมื่อเจอภัยแห่งความเสื่อม
- จริยธรรมสากล ทางตันของการแก้ปัญหาในยุคนิยมวิทยาศาสตร์
- จริยธรรมสากล อยู่ที่ความเป็นกลาง หรืออยู่ที่ความเป็นจริง
- ขอบเขตอันคับแคบ ที่จำกัดความคิดเกี่ยวกับจริยธรรม
- ก้าวสำคัญบนเส้นทางแห่งการแสวงหาจริยธรรมสากลในอเมริกา
- ก้าวใหม่ที่ไปไม่พ้นร่องเก่า
- ขยายเขตแดนแห่งความคิด จากสากลที่เป็นกลาง สู่สากลที่เป็นจริง
- บัญญัติธรรมเพื่อจริยธรรม จริยธรรมบนฐานแห่งสัจธรรม
- จริยธรรมแห่งความเป็นจริง ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
- ระบบเงื่อนไขของมนุษย์: ตัวแทรกแซงที่ถูกลืม ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย
- การแทรกแซงที่ไม่กลมกลืน ปัจจยาการแห่งปัญหาของชีวิตและสังคม
- จริยธรรมประสานสนิทกับสัจธรรม คือ สันติสุขที่สัมฤทธิ์แก่ชีวิตและสังคม
- ถ้าจับเหตุปัจจัยในกระบวนการพัฒนาผิดพลาด การศึกษาอาจเป็นเครื่องมือก่อความพินาศ
- ถ้าจะมองเขา ก็ควรสืบสาวให้ถึงเหง้าถึงราก
- ถ้าจะตามเขา ก็ควรตามอย่างรู้เท่าทัน
- การพัฒนาจริยธรรม เป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ที่สัมพันธ์กันทั้งระบบเป็นองค์รวม
- ความเป็นสากลที่แท้ อยู่ที่ความเป็นจริง และความเป็นจริง คือความเป็นสากลที่แท้จริง
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
เมื่อพูดอย่างรวบรัด รัฐควรจัดหลักสูตรการศึกษาให้คนไทยส่วนใหญ่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุผลสำคัญ ๓ ประการ คือ
- คนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนควรมีความรู้ความเข้าใจ และปฏิบัติถูกต้องต่อศาสนาที่ตนนับถือ
- คนทุกคนที่อยู่ในสังคมไทย ควรเรียนรู้พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นสถาบันใหญ่ และเป็นสภาพแวดล้อมของสังคมไทย เพื่อดำเนินชีวิตและทำงานหรือทำหน้าที่ที่เป็นส่วนร่วมของตน ในการพัฒนาสังคมไทยนั้น อย่างประสานกลมกลืน และได้ผลดี
- สังคมไทยอาศัยพระพุทธศาสนา เป็นแหล่งคำสอนจริยธรรม และได้ยอมรับระบบจริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นมาตรฐานที่ยึดถือปฏิบัติตามตลอดมา คนไทยจึงควรเรียนรู้พุทธจริยธรรม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิตพัฒนาสังคมให้บรรลุประโยชน์และสันติสุข
พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับคนไทย และสังคมไทยในแง่ด้านต่างๆ มากหลาย คนไทยควรศึกษาพระพุทธศาสนาในแง่ด้านต่างๆ เหล่านั้นให้ครบถ้วนตามฐานะต่างๆ ดังนี้
- พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นสถาบันสังคมที่ใหญ่และสำคัญมากในประเทศไทย
- พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่แผ่กว้างครอบคลุมสังคมไทย
- พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นเนื้อหาสาระส่วนสำคัญและเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย
- พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นมรดกของชนชาติไทย
- พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนาซึ่งคนไทยส่วนใหญ่นับถือ และเป็นศาสนาประจำชาติไทย
- พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นหลักคำสอนและระบบจริยธรรมสำหรับพัฒนาชีวิตและสังคม
- พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวิชาการ ซึ่งเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าทางปัญญาให้แก่สังคมมนุษย์
- พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นแหล่งหนึ่ง แห่งอารยธรรมของมนุษยชาติ
การศึกษาพระพุทธศาสนานั้น อาจจัดแยกออกได้เป็น ๒ หมวดใหญ่ คือ
๑. การศึกษาภาคเนื้อหา ได้แก่ ข้อมูลความรู้ หรือสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งคนไทยและพุทธศาสนิกชนควรจะต้องรู้ตามสมควรแก่ฐานะของตน และเพื่อความเป็นชาวพุทธที่ดี เช่น พุทธประวัติ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณีไทยที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา และหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา
๒. การศึกษาภาคปฏิบัติการ ได้แก่ การพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ซึ่งพร้อมที่จะอยู่ร่วมด้วยดีและมีส่วนในการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะรู้จักนำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาใช้ปฏิบัติ เพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาของท้องถิ่นและยุคสมัยนั้นๆ ได้
การศึกษาภาคเนื้อหา เป็นสิ่งสำคัญ และมีความจำเป็นในขั้นพื้นฐาน แต่ถ้าหยุดอยู่เพียงนั้น ก็จะไม่เป็นการศึกษาที่แท้จริง เพราะจะไม่เกิดการฝึกฝนพัฒนาแก่ชีวิตของบุคคล และไม่สำเร็จประโยชน์แก่สังคม เมื่อศึกษาภาคเนื้อหาข้อมูลพอสมควรแล้ว จะต้องเน้นภาคปฏิบัติการในการฝึกฝนพัฒนา ให้รู้จักปฏิบัติต่อประสบการณ์ หรือสถานการณ์ต่างๆ อย่างถูกต้อง สามารถนำข้อมูลที่ได้เรียนรู้ไว้ไปใช้ประโยชน์ โดยให้รู้จักคิดเป็น พูดเป็นหรือสื่อสารเป็น ทำเป็นผลิตเป็น และแก้ปัญหาเป็นด้วย
การศึกษาภาคปฏิบัติการนั้น มีลักษณะสำคัญ คือ
– พัฒนาความสามารถที่จะนำความรู้ที่ได้เรียนในภาคเนื้อหามาใช้ให้เกิดผลจริง
– เป็นการเรียนโดยยกเอาวัตถุประสงค์หรือปัญหาเป็นตัวตั้ง เช่น ตั้งหัวข้อว่า “เรียนอย่างไรจึงจะได้ผลดี?” “ทำอย่างไรครอบครัวของเราจึงจะมีความสุข?” “ชุมชนของเราจะพัฒนาได้อย่างไร?” “สังคมอุตสาหกรรมที่ดีควรเป็นอย่างไร?” “รับฟังข่าวสารอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์?” “ท้องถิ่นนี้ชอบเล่นการพนัน จะแก้ปัญหาอย่างไร?” ฯลฯ
– กระบวนการเรียนการสอนเน้นวิธีบูรณาการ แต่แทนที่จะบูรณาการพระพุทธศาสนา หรือจริยธรรมเข้าในวิชาต่างๆ กลับเอาวิชาอื่นๆ ทุกวิชามาบูรณาการเข้า โดยมีวิชาพระพุทธศาสนาหรือจริยศึกษาเป็นสนาม และเอาธรรมเป็นแกนของการบูรณาการ
การเรียนการสอนตามหลักการนี้จะสำเร็จผลได้ จะต้องมีวิธีสอนที่ดี เฉพาะอย่างยิ่งต้องได้ครูที่มีความรู้ความสามารถมีคุณภาพสูง เพราะการที่จะบูรณาการวิชาต่างๆ ทุกวิชาเข้าด้วยกัน โดยมีจริยธรรมเป็นแกนในสนามรวมแห่งพระพุทธศาสนาหรือจริยศึกษานั้น มิใช่เป็นงานที่ครูไหนๆ ก็ทำได้ จึงต้องมีการเน้นย้ำในเรื่องการฝึกหัดและพัฒนาครู ซึ่งโยงไปถึงการที่รัฐจะต้องมีนโยบายส่งเสริมยกระดับ และยกฐานะครู พร้อมไปด้วยกันกับการให้ความสำคัญแก่การศึกษาพระพุทธศาสนาและจริยศึกษา ในเรื่องนี้ บางที พ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษา ๒๕๓๑ ของอังกฤษ อาจมีแง่คิดหรือข้อเตือนสติอะไรบางอย่าง ที่เราควรจะพิจารณาอยู่บ้าง ท้ายที่สุดสิ่งหนึ่งที่พึงย้ำไว้ ก็คือ รัฐจะต้องตกลงที่จะพยายามส่งเสริมให้ระบบการคัดเลือกคน ในทางการศึกษาออกผลมาในรูปที่ว่า ผู้ที่เป็นยอดคนจึงมาเป็นครู และผู้ที่เป็นยอดครู จึงมาเป็นครูสอนพระพุทธศาสนาหรือครูจริยศึกษา
No Comments
Comments are closed.