- ภาค ๑ – ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา?
- จริยศึกษาเพื่อรับมือกับปัญหาของยุคพัฒนา
- ความเสื่อมโทรมของสังคมและชีวิตจิตใจ ที่เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของอเมริกาในปัจจุบัน
- สัญญาณอันตราย บอกให้ยกเครื่องการศึกษากันใหม่
- ระบบจริยธรรมที่ต่อติดกับพื้นฐานเดิมของสังคมไทย
- ชาวพุทธควรมีสิทธิเรียนจริยศึกษาแบบพุทธ
- สังคมไทยได้เปรียบสังคมอเมริกัน ในการจัดจริยศึกษาที่มีเอกภาพ
- สังคมไทยไม่มีเหตุผลที่จะไม่สอนจริยศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา
- เรียนพระพุทธศาสนา เพื่อมาร่วมอยู่และร่วมพัฒนาสังคมไทย
- การศึกษาเพื่อสร้างชนชั้นนำ สำหรับมาพัฒนาสังคมไทย
- การศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสังคมไทย
- สัญญาณเตือนภัยให้เร่งรัดส่งเสริมพุทธจริยศึกษา
- บูรณาการที่หล่นหายไปจากจริยศึกษาของไทย บนเส้นทางของจริยธรรมสากล
- จริยธรรมสากล เข้าหรือขัดกับบูรณาการ
- บูรณาการการสอนและบูรณาการเนื้อหาจริยธรรมแล้ว อย่าลืมบูรณาการนักเรียนและบูรณาการโรงเรียนด้วย
- จากคติแห่งศาสนศึกษาในอังกฤษ สู่ความคิดหาทางสายกลางของการจัดจริยศึกษา
- บทเรียนจากอเมริกา วิชาศาสนาและจริยศึกษาที่เรรวน
- จะยัดเยียด หรือจะปล่อยตามใจ ก็ไม่ใช่ทางสายกลาง
- รู้จักคิด รู้จักจำ ไม่ทำให้ยัดเยียด
- จะหลบการยัดเยียด แต่กลายเป็นปิดกั้นปัญญา/ประชาธิปไตย จะห้ามนักปราชญ์ เพื่อให้โอกาสแก่โจร
- ถ้าเรียน และสอนไม่ถูกต้อง วิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นวิชาที่ยัดเยียด
- เรื่องสามัญของตนเองที่ควรจะต้องรู้ สิ่งดีที่ตนมีพิเศษ ที่จะให้และจะนำคนอื่นได้
- หลักการที่ควรตรวจสอบและปฏิบัติการที่ควรทบทวน
- วงการพระพุทธศาสนา ก็ต้องสำรวจพิจารณาและปรับปรุงตนเอง
- บทสรุปและข้อเสนอแนะ
- บันทึกของผู้เขียน
- ภาค ๒ – จริยธรรมสากล จากความเป็นกลาง สู่ความเป็นจริง
- ตื่นตัวใหม่ เมื่อเจอภัยแห่งความเสื่อม
- จริยธรรมสากล ทางตันของการแก้ปัญหาในยุคนิยมวิทยาศาสตร์
- จริยธรรมสากล อยู่ที่ความเป็นกลาง หรืออยู่ที่ความเป็นจริง
- ขอบเขตอันคับแคบ ที่จำกัดความคิดเกี่ยวกับจริยธรรม
- ก้าวสำคัญบนเส้นทางแห่งการแสวงหาจริยธรรมสากลในอเมริกา
- ก้าวใหม่ที่ไปไม่พ้นร่องเก่า
- ขยายเขตแดนแห่งความคิด จากสากลที่เป็นกลาง สู่สากลที่เป็นจริง
- บัญญัติธรรมเพื่อจริยธรรม จริยธรรมบนฐานแห่งสัจธรรม
- จริยธรรมแห่งความเป็นจริง ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
- ระบบเงื่อนไขของมนุษย์: ตัวแทรกแซงที่ถูกลืม ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย
- การแทรกแซงที่ไม่กลมกลืน ปัจจยาการแห่งปัญหาของชีวิตและสังคม
- จริยธรรมประสานสนิทกับสัจธรรม คือ สันติสุขที่สัมฤทธิ์แก่ชีวิตและสังคม
- ถ้าจับเหตุปัจจัยในกระบวนการพัฒนาผิดพลาด การศึกษาอาจเป็นเครื่องมือก่อความพินาศ
- ถ้าจะมองเขา ก็ควรสืบสาวให้ถึงเหง้าถึงราก
- ถ้าจะตามเขา ก็ควรตามอย่างรู้เท่าทัน
- การพัฒนาจริยธรรม เป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ที่สัมพันธ์กันทั้งระบบเป็นองค์รวม
- ความเป็นสากลที่แท้ อยู่ที่ความเป็นจริง และความเป็นจริง คือความเป็นสากลที่แท้จริง
บัญญัติธรรมเพื่อจริยธรรม
จริยธรรมบนฐานแห่งสัจธรรม
เคยกล่าวแล้วว่า ในวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งไม่เคยรู้จักจริยธรรมตามหลักเหตุผลในกฎธรรมชาติมาก่อนนั้น เมื่อวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นแล้ว ปฏิกิริยาต่อจริยธรรมแบบเทวบัญชาที่มีมาในภูมิหลังของตนเอง ได้ทำให้คนสมัยใหม่มองจริยธรรม ตลอดจนความดี-ความชั่ว ความถูก-ความผิดที่เนื่องอยู่กับจริยธรรมนั้นว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดกำหนดกันขึ้นเอง เป็นเพียงบัญญัติของสังคมเท่านั้น คือไม่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในธรรมชาติ หรือไม่เป็นความจริง แต่เป็นเพียงของสมมติเท่านั้นเอง
คนเหล่านี้จะยกตัวอย่างและหลักฐานต่างๆ มาอ้างว่า สิ่งหนึ่งหรือการกระทำอย่างหนึ่งที่ถือกันในสังคมถิ่นหนึ่งหรือยุคสมัยหนึ่งว่าเป็นความดี แต่สิ่งนั้นหรือการกระทำอย่างนั้นเองในสังคมอีกถิ่นหนึ่งหรืออีกยุคสมัยหนึ่งกลับถือว่าเป็นความชั่ว ในทางกลับกัน สิ่งที่ถือกันในสังคมถิ่นนี้ยุคนี้ว่าเป็นความชั่ว กลับเป็นที่ยอมรับในสังคมอีกถิ่นหนึ่งหรืออีกยุคหนึ่งว่าเป็นความดีงาม
จะเห็นว่า ตัวอย่างและหลักฐานต่างๆ ที่คนเหล่านี้ยกมาอ้างล้วนเป็นจริงอย่างนั้นแทบทั้งสิ้น แต่พร้อมกันนั้นเอง คนเหล่านี้ก็ได้ถูกหลักฐานหรือตัวอย่างที่เป็นจริงเหล่านั้นเองหลอกหรือบังตาไว้ไม่ให้เห็นความจริงที่ซ้อนอยู่ในนั้นอีกชั้นหนึ่ง
จุดพลาดของคนเหล่านี้ก็คือ ความไม่สามารถแยกระหว่างบัญญัติธรรม คือกฎเกณฑ์ที่สังคมบัญญัติหรือกำหนดขึ้น กับจริยธรรม คือตัวความดีความงามที่มนุษย์ต้องการเพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมของเขานั้น
มนุษย์กำหนดวางบัญญัติธรรม เช่นกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีขึ้นมา ก็เพื่อเป็นหลักประกันที่จะให้จริยธรรมเกิดมีหรือดำรงอยู่ในสังคมของเขา
กฎเกณฑ์ กติกา ธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับการต้อนรับแขก การค้าขาย ชีวิตครอบครัว ฯลฯ ในสังคมมากหลาย ต่างถิ่นต่างกาล อาจแตกต่างกันมาก จนบางทีถึงตรงข้ามกันก็มี แต่ทั้งหมดนั้นเป็นบัญญัติธรรม และบัญญัติธรรมทั้งหมดนั้น มนุษย์กำหนดกันขึ้นก็เพื่อมุ่งประสงค์จริยธรรมอย่างเดียวกัน คือต้องการให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสงบราบรื่น การไม่เบียดเบียนข่มเหงเอารัดเอาเปรียบกัน ความมีไมตรี การอยู่ร่วมกันด้วยดี และความเป็นธรรมต่อกัน เป็นต้น
ความแตกต่างหลากหลายของบัญญัติธรรมนั้น นอกจากเป็นเพราะปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเกี่ยวด้วยกาลเทศะแล้ว ก็ย่อมสืบเนื่องมาจากขีดขั้นแห่งสติปัญญา และความสุจริตของมนุษย์ที่จัดวางหรือกำหนดบัญญัติธรรมเหล่านั้นขึ้น
ด้วยเหตุนี้ บัญญัติธรรมทั้งหลายของสังคมต่างถิ่นต่างสมัย จึงมีประสิทธิภาพไม่เท่ากันหรือไม่เหมือนกันในการที่จะช่วยให้เกิดจริยธรรมและดำรงรักษาจริยธรรมไว้ในสังคมนั้น บางทีในบางสังคม บัญญัติธรรมอาจวางกันผิดพลาดถึงกับกลายเป็นให้ผลตรงข้าม กลับเป็นการทำลายจริยธรรมไปก็มี และด้วยเหตุทั้งหมดนั้น บัญญัติธรรมจึงมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงแก้ไขตามกาลเทศะ
ถึงแม้บัญญัติธรรมจะแตกต่างหลากหลายแปลกกันไปได้มากอย่างนี้ ผู้มีปัญญาก็มิได้มองว่าบัญญัติธรรมเหล่านั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดกันขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย เป็นของเล่นสนุก หรือบัญญัติวางตามชอบใจ แต่เขามองว่าบัญญัติธรรมเหล่านั้นเป็นความเพียรพยายามของมนุษย์ในการที่จะประดิษฐานจริยธรรมในชีวิตและสังคมของตน แต่ความเพียรพยายามนั้นจะบรรลุความสำเร็จหรือไม่เพียงใด ก็เป็นไปตามวิสัยแห่งปัญญาของสังคมนั้น ตลอดจนความสุจริตหรือทุจริตของกลุ่มชนที่มีอำนาจหรือได้รับมอบหมายให้จัดวางบัญญัติธรรมสำหรับสังคมนั้น
การที่ว่าบัญญัติธรรมนั้นๆ จะช่วยให้มนุษย์เข้าถึงและดำรงรักษาจริยธรรมไว้ได้สำเร็จจริงหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่ามันมีความสอดคล้องและสมบูรณ์ที่จะให้เกิดผลตามระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ตามกฎธรรมชาติแค่ไหนเพียงไร พูดสั้นๆ ว่าจะต้องเป็นไปตามระบบและกระบวนการของความจริงแห่งสัจธรรม ถ้าบัญญัติธรรมที่วางกันไว้ ทำให้เกิดองค์ประกอบและปัจจัยสัมพันธ์สืบทอดกันพรั่งพร้อมที่จะให้เกิดผลพอดีที่จะเกิดมีจริยธรรมที่ประสงค์ บัญญัติธรรมนั้นก็นำให้เข้าถึงจริยธรรมที่ต้องการได้ โดยนัยนี้ สัจธรรมจึงเป็นฐานรองรับจริยธรรมอีกชั้นหนึ่ง
No Comments
Comments are closed.