- ภาค ๑ – ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา?
- จริยศึกษาเพื่อรับมือกับปัญหาของยุคพัฒนา
- ความเสื่อมโทรมของสังคมและชีวิตจิตใจ ที่เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของอเมริกาในปัจจุบัน
- สัญญาณอันตราย บอกให้ยกเครื่องการศึกษากันใหม่
- ระบบจริยธรรมที่ต่อติดกับพื้นฐานเดิมของสังคมไทย
- ชาวพุทธควรมีสิทธิเรียนจริยศึกษาแบบพุทธ
- สังคมไทยได้เปรียบสังคมอเมริกัน ในการจัดจริยศึกษาที่มีเอกภาพ
- สังคมไทยไม่มีเหตุผลที่จะไม่สอนจริยศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา
- เรียนพระพุทธศาสนา เพื่อมาร่วมอยู่และร่วมพัฒนาสังคมไทย
- การศึกษาเพื่อสร้างชนชั้นนำ สำหรับมาพัฒนาสังคมไทย
- การศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสังคมไทย
- สัญญาณเตือนภัยให้เร่งรัดส่งเสริมพุทธจริยศึกษา
- บูรณาการที่หล่นหายไปจากจริยศึกษาของไทย บนเส้นทางของจริยธรรมสากล
- จริยธรรมสากล เข้าหรือขัดกับบูรณาการ
- บูรณาการการสอนและบูรณาการเนื้อหาจริยธรรมแล้ว อย่าลืมบูรณาการนักเรียนและบูรณาการโรงเรียนด้วย
- จากคติแห่งศาสนศึกษาในอังกฤษ สู่ความคิดหาทางสายกลางของการจัดจริยศึกษา
- บทเรียนจากอเมริกา วิชาศาสนาและจริยศึกษาที่เรรวน
- จะยัดเยียด หรือจะปล่อยตามใจ ก็ไม่ใช่ทางสายกลาง
- รู้จักคิด รู้จักจำ ไม่ทำให้ยัดเยียด
- จะหลบการยัดเยียด แต่กลายเป็นปิดกั้นปัญญา/ประชาธิปไตย จะห้ามนักปราชญ์ เพื่อให้โอกาสแก่โจร
- ถ้าเรียน และสอนไม่ถูกต้อง วิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นวิชาที่ยัดเยียด
- เรื่องสามัญของตนเองที่ควรจะต้องรู้ สิ่งดีที่ตนมีพิเศษ ที่จะให้และจะนำคนอื่นได้
- หลักการที่ควรตรวจสอบและปฏิบัติการที่ควรทบทวน
- วงการพระพุทธศาสนา ก็ต้องสำรวจพิจารณาและปรับปรุงตนเอง
- บทสรุปและข้อเสนอแนะ
- บันทึกของผู้เขียน
- ภาค ๒ – จริยธรรมสากล จากความเป็นกลาง สู่ความเป็นจริง
- ตื่นตัวใหม่ เมื่อเจอภัยแห่งความเสื่อม
- จริยธรรมสากล ทางตันของการแก้ปัญหาในยุคนิยมวิทยาศาสตร์
- จริยธรรมสากล อยู่ที่ความเป็นกลาง หรืออยู่ที่ความเป็นจริง
- ขอบเขตอันคับแคบ ที่จำกัดความคิดเกี่ยวกับจริยธรรม
- ก้าวสำคัญบนเส้นทางแห่งการแสวงหาจริยธรรมสากลในอเมริกา
- ก้าวใหม่ที่ไปไม่พ้นร่องเก่า
- ขยายเขตแดนแห่งความคิด จากสากลที่เป็นกลาง สู่สากลที่เป็นจริง
- บัญญัติธรรมเพื่อจริยธรรม จริยธรรมบนฐานแห่งสัจธรรม
- จริยธรรมแห่งความเป็นจริง ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
- ระบบเงื่อนไขของมนุษย์: ตัวแทรกแซงที่ถูกลืม ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย
- การแทรกแซงที่ไม่กลมกลืน ปัจจยาการแห่งปัญหาของชีวิตและสังคม
- จริยธรรมประสานสนิทกับสัจธรรม คือ สันติสุขที่สัมฤทธิ์แก่ชีวิตและสังคม
- ถ้าจับเหตุปัจจัยในกระบวนการพัฒนาผิดพลาด การศึกษาอาจเป็นเครื่องมือก่อความพินาศ
- ถ้าจะมองเขา ก็ควรสืบสาวให้ถึงเหง้าถึงราก
- ถ้าจะตามเขา ก็ควรตามอย่างรู้เท่าทัน
- การพัฒนาจริยธรรม เป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ที่สัมพันธ์กันทั้งระบบเป็นองค์รวม
- ความเป็นสากลที่แท้ อยู่ที่ความเป็นจริง และความเป็นจริง คือความเป็นสากลที่แท้จริง
การพัฒนาจริยธรรม เป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย
ที่สัมพันธ์กันทั้งระบบเป็นองค์รวม
ได้กล่าวแล้วว่า ทฤษฎีของโกลเบอร์กได้ช่วยให้ความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมของตะวันตกก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง คือ การย้ำถึงความสำคัญของปัญญาในฐานะเป็นปัจจัยเอกของกระบวนการพัฒนาทางจริยธรรม ซึ่งเท่ากับเป็นการมองว่า พัฒนาการทางจริยธรรมเป็นเรื่องของความเป็นเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ และภายในระบบเหตุปัจจัยนี้ องค์ประกอบภายในของบุคคล คือปัญญา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดพัฒนาการทางจริยธรรมนั้น การพัฒนาจริยธรรมไม่ใช่เป็นเพียงการทำให้เด็กยึดถือตามกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมที่กำหนดวางเป็นบัญญัติของสังคมไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในที่นี้เห็นว่า ความคิดเชิงระบบของโกลเบอร์กยังไม่ชัดเจนทีเดียวนัก และโกลเบอร์กมองปัจจัยในกระบวนการพัฒนาจริยธรรมนั้นจำกัดแคบเกินไป โดยเห็นปัจจัยอย่างเดียวและทางเดียว คือ เห็นแต่ปัญญาอย่างเดียวและเป็นปัจจัยข้างเดียว พูดให้ถึงฐานก็คือ โกลเบอร์กยังมองไม่เห็นว่าการพัฒนาจริยธรรม เป็นองค์รวมแห่งระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่เป็นปัจจัยแก่กันหลายอย่างหลายด้าน และยังมองความหมายของจริยธรรมเป็นเพียงพฤติกรรมทางสังคมที่ถูกต้องดีงาม ไม่มองเห็นว่าจริยธรรมคือระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงามทั้งหมด
องค์ประกอบสำคัญที่โกลเบอร์กไม่พูดถึง ซึ่งเป็นปัจจัยในการพัฒนาจริยธรรมด้วย ก็คือ องค์ประกอบด้านจิตใจ (ภาษาไทยปัจจุบันเรียกว่าด้านอารมณ์) สภาพจิตใจ ทั้งคุณภาพจิต สมรรถภาพจิต และสุขภาพจิต เช่น ความสุขสดชื่นร่าเริงเบิกบานใจ หรือความทุกข์ความเศร้าหม่นหมองคับแค้นใจ ความสนใจ พอใจ ความอดทน ความมีสติ ไม่ประมาท เป็นต้น โดยเฉพาะการฝึกความเข้มแข็งของจิตใจ ที่จะทำได้ตามเหตุผลที่มองเห็นด้วยปัญญา และความเข้มแข็งทางจริยธรรม ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมทางจริยธรรม ทั้งโดยตรง และโดยส่งผลผ่านทางปัญญา
คนที่มีความสุขย่อมมองสถานการณ์ที่เป็นปัญหาด้วยความคิดอย่างหนึ่ง ส่วนคนที่ถูกความทุกข์ครอบงำ เช่นมีความผิดหวัง หรือคับแค้นใจ ก็อาจจะถูกสภาพจิตใจเช่นนั้นหันเหให้มองและคิดต่อสถานการณ์นั้นไปอีกอย่างหนึ่ง ในการพัฒนาจริยธรรม จะมองแต่ในด้านที่จะพัฒนาความคิดเหตุผลอย่างเดียว ไม่เพียงพอ พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากจริยธรรมบางครั้งก็คือ ปฏิบัติการในการระบายทุกข์ในจิตใจของบุคคล
พระพุทธศาสนามองการพัฒนาจริยธรรมว่าเป็นการปฏิบัติต่อองค์รวมแห่งระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นปัจจัยแก่กันและกัน แม้ว่าปัญญาจะเป็นปัจจัยเอก โดยเป็นตัวตัดสินขั้นสุดท้าย แต่ก็ต้องมองความสัมพันธ์ทั้งระบบว่า การควบคุมพฤติกรรมภายนอกด้วยวินัยและการทำเป็นนิสัยก็ดี การฝึกอบรมจิตใจก็ดี การฝึกความคิดและใช้ปัญญาก็ดี ต่างก็เป็นปัจจัยที่มีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการพัฒนาจริยธรรม และปัจจัยแต่ละอย่างก็ส่งผลมีอิทธิพลหนุนเสริมต่อกันให้ต่างก็พัฒนาไปด้วยกัน และผลรวมการพัฒนาขององค์ประกอบเหล่านี้ นั่นแหละคือการพัฒนาจริยธรรม
ในวงการการศึกษา และจิตวิทยาการศึกษาของตะวันตก ได้มีความนิยมจัดแบ่งขอบเขตที่การศึกษาจะเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือแบ่งชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของบุคคลออกเป็นด้านๆ หรือเป็นแดนๆ ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ เช่นที่นิยมแบ่งพัฒนาการของบุคคล เป็น ๔ ด้าน คือ
- พัฒนาการทางร่างกาย (physical development)
- พัฒนาการทางสังคม (social development)
- พัฒนาการทางอารมณ์ (emotional development)
- พัฒนาการทางปัญญา (intellectual development)
หรือแบ่งคล้ายๆ กันอย่างนี้เป็น ๔ เหมือนกัน คือ พัฒนาการทางร่างกาย พัฒนาการทางปัญญา พัฒนาการทางบุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม
หรืออย่างที่เบนจามิน เอส. บลูม (Benjamin S. Bloom) แบ่งเป็น ๓ แดน คือ
- พุทธิพิสัย (cognitive domain) แดนความรู้ และความคิด
- เจตพิสัย (affective domain) แดนความรู้สึก อารมณ์ และทัศนคติ
- ทักษพิสัย (psychomotor domain) แดนประสานงานจิตขับเคลื่อนกาย
ปรากฏว่า การแบ่งด้านแบ่งแดนอย่างนี้ มีความใกล้เคียงอย่างยิ่งกับการจำแนกที่มีอยู่ก่อนนานแล้วในพระพุทธศาสนา ถ้าดูเพียงแค่ตามตัวอักษรก็แทบจะไม่แตกต่างกันเลย กับการที่พระพุทธศาสนาจำแนกภาวนา คือการพัฒนาเป็น ๔ ด้าน ได้แก่ กายภาวนา (การพัฒนากาย) ศีลภาวนา (การพัฒนาพฤติกรรมที่แสดงออกต่อสภาพแวดล้อม) จิตตภาวนา (การพัฒนาจิตใจ) และปัญญาภาวนา (การพัฒนาปัญญา) และจำแนกการศึกษาหรือสิกขาเป็น ๓ ส่วนคือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา หรือ ศีล สมาธิ และปัญญา แต่เมื่อตรวจดูเนื้อหาสาระก็มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร ในแง่ของขอบเขตและจุดที่เน้นย้ำ
ที่สำคัญที่สุดก็คือ การแบ่งแยกในวงการศึกษาสมัยใหม่แบบตะวันตกมุ่งประโยชน์ในแง่ของการใช้เป็นขอบเขต เป็นด้านเป็นแดน สำหรับทำการสังเกต ตรวจสอบ วัดผล ประเมินผลในทางการศึกษาเป็นสำคัญ และไม่ได้เน้นมากในแง่ของความสัมพันธ์ส่งผลต่อกันระหว่างด้านหรือแดนเหล่านั้นในกระบวนการของการศึกษา
แต่ในทางพระพุทธศาสนา ด้านแดนหรือส่วนจำแนกเหล่านี้ นอกจากเป็นเครื่องตรวจสอบหรือวัดผลการศึกษาแล้ว สาระสำคัญอยู่ที่การเอามาใช้เป็นองค์ประกอบ และขั้นตอนในกระบวนการของการศึกษาหรือพัฒนาคน หรือพูดให้ตรงแท้ว่า เป็นส่วนต่างๆ ของกระบวนการศึกษาหรือพัฒนาคนนั้นทีเดียว และจุดเน้นที่นับว่าเป็นหัวใจของระบบทีเดียวก็คือ ความสัมพันธ์อย่างอิงอาศัยเป็นปัจจัยต่อกัน ระหว่างส่วนต่างๆ ของการศึกษาเหล่านั้น
ข้อที่น่าสังเกตมากทีเดียวก็คือ ในวงการศึกษาสมัยใหม่ พัฒนาการ ๔ ด้าน และพิสัย ๓ แดนนี้ ถือว่าเป็นเรื่องในระดับของการศึกษาทั้งหมดเป็นส่วนรวม ซึ่งจริยศึกษาจะต้องแบ่งแยกย่อยออกมาจากส่วนรวมนั้นอีกทีหนึ่ง แต่ในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าพัฒนาการ ๔ ด้าน และพิสัย ๓ แดนก็ตาม หรือภาวนา ๔ และสิกขา ๓ ก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องของจริยศึกษาทั้งสิ้น หรือว่าจริยศึกษาครอบคลุมส่วนแบ่งจำแนกเหล่านี้ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะว่า ในความหมายของพระพุทธศาสนา จริยธรรมคือการดำเนินชีวิตทั้งหมด การศึกษาก็คือการฝึกฝนพัฒนาให้คนดำเนินชีวิตได้อย่างดีงาม ดังนั้น การศึกษา ก็เพื่อจริยะ และจริยะ ก็จึงเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งหมด
No Comments
Comments are closed.