การศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสังคมไทย

28 พฤศจิกายน 2533
เป็นตอนที่ 11 จาก 44 ตอนของ

การศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสังคมไทย

๘. พระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่ต่างจากศาสนาทั่วไป จนบางทีผู้ที่มองความหมายจากแง่ของศาสนาอื่นๆ ไม่ถือว่าเป็นศาสนา หรือมิฉะนั้นก็ถือกันว่า เป็นศาสนาแห่งปัญญา เพราะไม่บังคับศรัทธา แต่ถือปัญญาเป็นสำคัญ กล่าวคือ ให้เสรีภาพทางความคิด ไม่เรียกร้องและไม่บังคับความเชื่อ ไม่กำหนดข้อปฏิบัติที่บังคับแก่ศาสนิกชน แต่ให้พิจารณาเลือกตัดสินใจด้วยตนเอง

การปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงต้องอาศัยการศึกษา เพราะในเมื่อไม่กำหนดข้อบังคับในสิ่งที่ต้องเชื่อและต้องปฏิบัติอย่างตายตัวแล้ว ถ้าไม่ศึกษาให้รู้เข้าใจอย่างถูกต้องแท้จริง ก็มีโอกาสอย่างมากที่จะเกิดความเคลื่อนคลาดผิดเพี้ยนในความเชื่อและการปฏิบัติ เมื่อเชื่อผิดพลาดและปฏิบัติคลาดเคลื่อนไป นอกจากจะเป็นผลเสียหายในทางศาสนาแล้ว ก็ทำให้เกิดโทษแก่ชีวิตและสังคมไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ การศึกษาหรือสิกขาจึงเป็นเนื้อตัวของชีวิตในทางพระพุทธศาสนา ที่จะทำให้ระบบจริยธรรมดำเนินไปได้ ผู้นำหรือผู้บริหารกิจการพระพุทธศาสนาจึงต้องเอาใจใส่ ถือเป็นหน้าที่หลักสำคัญที่สุด ที่จะต้องเอื้ออำนวยจัดให้มีการศึกษาแก่พุทธบริษัททั้งปวง

ด้วยเหตุที่พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งปัญญา และความเชื่อถือปฏิบัติที่ถูกต้องขึ้นต่อการศึกษาเช่นนี้ ไม่ว่าสถาบันพุทธศาสนาจะเอาใจใส่จัดการศึกษาให้แก่ศาสนิกชนของตนหรือไม่ก็ตาม ในกรณีที่พลเมืองส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา รัฐที่เป็นประชาธิปไตย และมีความรับผิดชอบต่อประโยชน์สุขของประชาชน และต่อความเสื่อม ความเจริญของสังคม จะต้องเอาใจใส่ขวนขวายเอื้ออำนวยให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นพุทธศาสนิกชนนั้นได้มีโอกาสศึกษาพระพุทธศาสนาให้ดีที่สุด ทั้งนี้เพราะว่า ความเป็นพุทธศาสนิกชนของประชากรส่วนใหญ่เหล่านั้น อยู่ในตัวบุคคลผู้เดียวกันกับที่เป็นพลเมืองของประเทศไทย แยกจากกันไม่ออก

ถ้าพลเมืองผู้นั้นในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา มีความเชื่อถือและปฏิบัติผิดพลาดคลาดเคลื่อน เช่น เชื่อถือสิ่งเหลวไหล มีความหลงงมงาย มีพฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ ผลร้ายก็ย่อมตกแก่สังคมไทยนั่นเอง การให้การศึกษาเพื่อให้พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ก็คือการพัฒนาคุณภาพประชากรของประเทศไทย

เพราะฉะนั้น ผู้บริหารรัฐที่มีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ ถึงแม้จะไม่ห่วงใยเลยว่า พระพุทธศาสนาจะเจริญหรือเสื่อมไปอย่างไร แต่ก็จำเป็นต้องจัดให้ประชาชนศึกษาพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของสังคมไทย

อนึ่ง ในกรณีที่นำเอาระบบจริยธรรมอย่างอื่นเข้ามาสอนในระบบการศึกษาของชาติ นอกจากความแปลกแยกขัดแย้งไม่กลมกลืนจะเกิดขึ้นแล้ว ผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเชื่อถือและการปฏิบัติที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่างๆ ที่มีอยู่โดยอาศัยชื่อว่าเป็นพุทธศาสนา ก็จะลอยตัวออกไปอยู่นอกเขตความรับผิดชอบของการศึกษา จะเคว้งคว้างหาผู้รับผิดชอบจัดการไม่ได้ เพราะไม่มีข้อกำหนดบังคับศรัทธา หรือข้อกำหนดการปฏิบัติใดๆ ที่องค์กรพุทธศาสนาจะยกไปอ้างบังคับเขาอย่างในศาสนาอื่นได้ และความเชื่อถือปฏิบัติผิดพลาดเสียหายเหล่านั้น ก็จะถูกปล่อยให้ถ่ายทอดสืบต่อขยายตัวออกไปได้โดยเสรี ก่อพิษก่อภัยแก่สังคมไทยกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

(ประสบการณ์ทางการศึกษาในประเทศไทยเองก็ดี ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ดี ได้ชี้บอกว่า การศึกษาวิทยาศาสตร์ เท่าที่จัดกันมาแล้ว ไม่มีกำลังพอที่จะแก้ปัญหาทำนองนี้ได้ ดังที่เห็นกันอยู่ว่า คนในสังคมสมัยใหม่เอาแต่วัตถุเทคโนโลยีที่เป็นผลผลิตจากวิทยาศาสตร์ แต่ความคิดจิตใจไม่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือไม่ก็ขาดความมั่นใจไม่ซึมซาบในวิทยาศาสตร์ ความเชื่อถือและการปฏิบัติที่เหลวไหลสวนทางกับวิทยาศาสตร์ก็ยังคงดาษดื่น และยังแถมเอาเทคโนโลยีไปรับใช้ความเชื่อถือและการปฏิบัติเหล่านั้นด้วย ยิ่งในยุคต่อไปนี้ ที่วิทยาศาสตร์ได้เสื่อมเสียฐานะนิยมลงไปมาก การแก้ปัญหาด้วยการมุ่งส่งเสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวจะยิ่งไม่มีทางแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ)

และในสภาพเช่นนี้ ผู้ที่จะได้รับความกระเทือนประสบผลร้ายมากที่สุด ก็คือสังคมไทย หาใช่พระพุทธศาสนาไม่

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การศึกษาเพื่อสร้างชนชั้นนำ สำหรับมาพัฒนาสังคมไทยสัญญาณเตือนภัยให้เร่งรัดส่งเสริมพุทธจริยศึกษา >>

No Comments

Comments are closed.