การแทรกแซงที่ไม่กลมกลืน ปัจจยาการแห่งปัญหาของชีวิตและสังคม

1 ตุลาคม 2534
เป็นตอนที่ 38 จาก 44 ตอนของ

การแทรกแซงที่ไม่กลมกลืน
ปัจจยาการแห่งปัญหาของชีวิตและสังคม

ในกรณีที่จิตใจไม่ยอมรับเงื่อนไขข้างต้น สังคมมนุษย์ก็ยังมีเงื่อนไขด้านลบ ซึ่งเป็นเรื่องของบัญญัติทางสังคมเช่นเดียวกัน เข้ามาช่วยผลักดันให้มนุษย์ต้องทำงานตามเงื่อนไขเพื่อให้ได้ทรัพย์ เงื่อนไขด้านลบนั้นก็ได้แก่ กฎเกณฑ์ข้อบังคับของสังคม เช่น กฎหมายเป็นต้น ที่ห้ามการหาหรือเอาทรัพย์โดยทางลัดหรือโดยวิธีการอันทุจริตต่างๆ ด้วยการขู่ว่าจะลงโทษ

เงื่อนไขทั้งในทางบวก ที่กำหนดให้ต้องทำงานจึงจะได้ทรัพย์ และเงื่อนไขในทางลบที่ปิดกั้นการหาทรัพย์โดยทางลัดหรือทุจริต ก็มาช่วยกันบีบบังคับมนุษย์ให้ต้องทำงานเพื่อให้ได้ทรัพย์ แต่ในกรณีเช่นนี้ เมื่อไม่มีปัจจัยด้านจิตใจคือการที่ใจยอมรับเข้ามาช่วยหล่อเลี้ยง ความขยันซึ่งเป็นคุณสมบัติด้านจิตใจก็ต้องลดหายไป

แต่ไม่ใช่แค่นั้น ปัจจัยด้านจิตใจได้มีอยู่แต่เริ่มแรกแล้ว ณ จุดตั้งต้นของกระบวนการ นั่นก็คือความโลภหรืออยากได้ เมื่อความโลภทรัพย์ไม่ได้รับการตอบสนองโดยตรง แต่มีเงื่อนไขมาบีบบังคับโดยใจไม่ได้ยอมรับ ความโลภนั้นก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิกิริยา คือทำให้เกิดความฝืนใจในการที่ต้องจำใจทำงาน ยิ่งมีความโลภแทรกมากเท่าใด ความฝืนจิตจำใจหรือความกดดันก็ยิ่งแรงมากขึ้นเท่านั้น

กระบวนการของเหตุปัจจัยในกรณีนี้จึงออกมาในรูปที่ว่า: ความโลภอยากได้ทรัพย์ + เงื่อนไขว่าจะได้ทรัพย์ต่อเมื่อทำงาน –> เป็นเหตุให้ฝืนใจทำงาน

แม้ในกรณีที่ใจยอมรับ และจิตเกิดความเคยชิน (ในการหลอกตัวเอง) ด้วยวิธีการทางวัฒนธรรม ทำให้โลภอยากได้ทรัพย์มากๆ จึงขยันทำงานให้ดีๆ มากๆ แต่กระบวนแห่งเหตุปัจจัยตามธรรมชาติก็ไม่เป็นไปโดยสอดคล้องตามนั้น จึงมีความขัดแย้งกันอยู่ในตัว เพราะเหตุปัจจัยที่ทำไม่ตรงกับผลที่ต้องการ กล่าวคือ

เมื่อทำงานด้วยความโลภอยากได้ทรัพย์ การทำงานเป็นเหตุให้เกิดผลคืองานสำเร็จ (รวมทั้งความดีงามเป็นเลิศของชิ้นงานนั้น ตลอดจนประโยชน์สุขของสังคมที่จะเกิดจากงานนั้น) แต่ผลที่ผู้ทำงานต้องการได้แก่ทรัพย์หรือเงินทอง หาใช่ความสำเร็จของงานไม่ เขาต้องการเงินไม่ใช่ต้องการงาน เขาอยากได้เงิน แต่ต้องทำงาน เพราะฉะนั้น มือเขาทำงานแต่ใจเขาอยากได้เงิน จิตใจของเขาก็ไม่แล่นไปในงาน ไม่ซาบซึ้ง ไม่เกิดความพอใจในงาน ไม่เกิดปีติคือความอิ่มใจและความสุขเมื่อเห็นงานก้าวหน้าไปในแต่ละขั้นตอนตามลำดับ

ความสุขของเขาไม่ใช่อยู่ที่มองเห็นความดีงามและคุณประโยชน์ที่เกิดจากความสำเร็จของงาน แต่อยู่ที่ความคิดส่งต่อตามระบบเงื่อนไข ที่จะได้สิ่งล่อใจหรือเหยื่อล่อคือเงิน ปีติและสุขจึงไม่มาโดยตรงกับตัวงาน เป็นความหักเหในกระบวนการของเหตุปัจจัย เป็นเหมือนการเล่นตลกกับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติ

เมื่อมนุษย์เล่นตลกกับกระบวนการของธรรมชาติ ก็คือหลอกตัวเองนั่นเอง แต่ไม่ว่ามนุษย์จะทำอย่างไรก็ตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติก็ทำงานของมันไปตามปกติอย่างซื่อตรง ความขัดแย้งไม่สอดคล้องกลมกลืนก็สะสมนอนเป็นพื้นอยู่ภายใน วัฒนธรรมที่มนุษย์ปรุงแต่งจัดสรรขึ้นก็เป็นได้เพียงเครื่องแต่งรสที่เคลือบพอกอยู่ภายนอก และเป็นช่องระบายแรงกดดันให้ผ่อนออกไปบ้าง เมื่อระบายไม่ทันหรือระบายไม่ได้ และรสชาดที่เคลือบพอกจางลงหรือชินชาหรือล่อไม่ไหว ความขัดแย้งและแรงกดดันภายในก็ส่งผลออกมา เกิดอาการที่เป็นปัญหาของชีวิตและสังคม เช่นความรู้สึกแปลกแยก ความเบื่อหน่าย ความเครียด โรคจิตประสาทต่างๆ ที่แพร่ระบาดในสังคมยุคปัจจุบัน ซึ่งบั่นทอนทั้งสุขภาพจิตสุขภาพกาย และความสงบสุขของสังคม ในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพวกที่ฝืนใจทำงาน หรือพวกที่ย้อมใจทำงานก็ตาม ก็ต้องประสบปัญหาอย่างเดียวกัน ต่างแต่เพียงช้ากว่ากัน และต่างรูปแบบ

ความขัดแย้งที่ว่ามานี้มิใช่เป็นปัญหาในชีวิตจิตใจของคนเท่านั้น แต่ออกมาแสดงบทบาทเป็นความขัดแย้งแย่งประโยชน์กันระหว่างบุคคลกับสังคมด้วย กล่าวคือ ถ้าเงื่อนไขของสังคมคือบัญญัติกฎเกณฑ์วัฒนธรรมและระบบการควบคุมต่างๆ เข้มแข็งรัดกุม งานก็เจริญก้าวหน้าเผล็ดผลอุดมสมบูรณ์ แต่ความกดดันและปัญหาภายในชีวิตจิตใจของบุคคลจะสะสมรุนแรง ในทางตรงข้าม เมื่อใดระบบเงื่อนไขของสังคมหย่อนลง หรือเข้มแข็งไม่พอ ไม่รัดกุม คุมไม่อยู่ บุคคลจำนวนมากก็จะหันออกไปใช้โอกาสหาทรัพย์ทางลัด ทำให้เกิดการทุจริตและอาชญากรรมแพร่หลาย เป็นปัญหาแก่สังคม และพร้อมกันนั้น งานการที่เป็นเครื่องพัฒนาและสร้างความรุ่งเรืองแก่สังคม ก็ไม่ก้าวหน้าด้วยดี

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ระบบเงื่อนไขของมนุษย์: ตัวแทรกแซงที่ถูกลืม ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยจริยธรรมประสานสนิทกับสัจธรรม คือ สันติสุขที่สัมฤทธิ์แก่ชีวิตและสังคม >>

No Comments

Comments are closed.