จากหลักการแห่งการศึกษา โยงไปสู่ท่าทีในการเผยแผ่พุทธศาสนา

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 10 จาก 58 ตอนของ

จากหลักการแห่งการศึกษา
โยงไปสู่ท่าทีในการเผยแผ่พุทธศาสนา

แม้ว่าสังฆะจะเป็นชุมชนของผู้ที่ได้อุทิศตัวมุ่งมาสู่การฝึกฝนพัฒนาตน หรือเรียนรู้ ตามหลักไตรสิกขา แต่ในขณะเดียวกันนั้น สังฆะก็เป็นชุมชนของผู้ที่อุทิศตัวเพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุด

ทั้งนี้เพราะว่า ผู้ที่ฝึกฝนพัฒนาตนดีแล้ว สมบูรณ์แล้ว ก็จะไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองต่อไปอีก ดังลักษณะหนึ่งของผู้ที่บรรลุผลของการพัฒนาตน มีการศึกษาที่สมบูรณ์ ท่านเรียกว่าเป็น “อนุปฺปตฺตสทตฺโถ” คือเป็นผู้ที่บรรลุประโยชน์ตนแล้ว

ทั้งนี้เพราะว่า ประโยชน์ที่แท้จริงของมนุษย์ก็คือการมีชีวิตที่ประกอบด้วยพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาที่ได้พัฒนาแล้วโดยสมบูรณ์ จนลุถึงจุดหมายแห่งการมีสันติสุขที่เป็นอิสระ มิใช่หมายถึงผลประโยชน์ข้างนอก

เมื่อทำชีวิตของตนเองให้สมบูรณ์แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีก ต่อจากนั้นก็อุทิศตัวให้แก่การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้เต็มที่ ลักษณะของพระอรหันต์ก็เป็นอย่างนี้

ตอนที่ยังอยู่ในระหว่างฝึกตน ก็มีชีวิตที่เกื้อกูลกัน เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตรแก่กัน ดังนั้นสังคมของพุทธศาสนา ในระหว่างที่ยังอยู่ในไตรสิกขา ก็เป็นสังคมของกัลยาณมิตร คือเอื้อต่อกัน ช่วยเหลือกัน

แต่พอตนเองบรรลุผลการพัฒนาเต็มที่ เป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว คราวนี้สำหรับตัวเอง ไม่มีอะไรต้องทำหรือต้องหาอีก ไม่ว่าความสุข หรือความดีงาม

ต่างจากคนธรรมดาที่ยังต้องหาความสุขอยู่ จึงไม่สามารถทำเพื่อผู้อื่นเต็มที่ เพราะต้องมีอะไรเพื่อตนอยู่

เมื่อบรรลุประโยชน์ตนแล้ว ความสุขมีอยู่ในตัวเอง ไม่ต้องไปหาอีก ชีวิตสมบูรณ์แล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตนเอง เพราะฉะนั้นชีวิตที่เหลืออยู่จึงอุทิศให้แก่โลกได้เต็มที่ ดังคติของพุทธศาสนา ซึ่งจะเห็นได้ในการส่งพระสาวกออกไปเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน ที่ตรัสว่า

“จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย” = เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แก่ชนจำนวนมาก เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลก

(วินย.๔/๓๒)

ตอนนี้เรื่องของตัวไม่มีแล้ว ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเดียว อันนี้ถือเป็นคติของการทำหน้าที่ของพระตลอดมา พระสงฆ์ทำหน้าที่นี้ คือ

ก) ฝึกตนเอง พร้อมไปกับการเกื้อหนุนผู้อื่น และ

ข) เมื่อฝึกตนเองแล้ว ก็ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเต็มที่

หลายคนไม่เข้าใจเรื่องคติพระอรหันต์ และพระโพธิสัตว์ โดยมองคลาดเคลื่อนไปว่า พระโพธิสัตว์อุทิศตัวเพื่อจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ด้วยมหากรุณา ส่วนพระอรหันต์ทำเพื่อตนเอง

นี่ก็คือไม่เข้าใจหลักการ ที่ว่ามนุษย์จะบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นได้เต็มที่ ต่อเมื่อมีปัญญารู้ชัดว่าอะไรเป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ จึงต้องพัฒนาตนเอง ให้มีปัญญาเต็มที่

ก่อนนั้นก็ช่วยได้ แต่ช่วยไปตามที่เชื่อกันมาว่าอย่างนั้นดี อย่างนั้นเป็นประโยชน์แก่เขา ซึ่งอาจจะผิดพลาดได้ ถ้าจะช่วยให้เขาได้ประโยชน์ที่แท้จริงก็ต้องมีปัญญารู้เพียงพอ มหากรุณาจะเป็นของแท้ ก็ต่อเมื่อเป็นไปพร้อมด้วยปัญญาที่ถึงโพธิ

อีกประการหนึ่ง ถ้าตัวเองยังต้องหาความสุขอยู่ หรือยังต้องแสวงหาความดีงามที่สมบูรณ์อยู่ หรือยังต้องฝึกฝนพัฒนาตน ยังต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ ก็จะทำเพื่อผู้อื่นได้ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ หรือไม่พอดี

พระอรหันต์นั้น เพราะตนเองสมบูรณ์แล้ว การกระทำเพื่อผู้อื่นจึงเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะไม่มีอะไรต้องทำหรือต้องหาเพื่อตนเองอีก

ต่างจากพระโพธิสัตว์ที่ต้องทำด้วยปณิธาน คือต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งจุดหมาย เพราะตนเองยังไม่สมบูรณ์ ฉันจะทำเพื่อผู้อื่นเต็มที่ ยอมสละแม้ชีวิตนี้ เสียสละตัวเองให้เต็มที่ ทำอยู่ได้ด้วยปณิธาน และทำเพื่อทำตนเองให้สมบูรณ์

แต่พระอรหันต์ไม่ต้องมีปณิธาน ท่านทำโดยอัตโนมัติ เพราะเป็นชีวิตของท่านอย่างนั้นเอง เป็นไปตามธรรมชาติ เรียกว่าเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ไม่ต้องมาตั้งใจซ้อนขึ้นอีกชั้นหนึ่ง

พุทธศาสนาบอกว่า จงจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเห็นแก่ชาวโลก ไม่มีคำว่าจงไปทำให้เขาหันมานับถือ คือ มุ่งไปเพื่อประโยชน์แก่เขาอย่างเดียว

“จงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก” จบเท่านั้น เขาจะนับถือ หรือไม่นับถือ เป็นเรื่องของเขา

การพูดอย่างนี้เป็นท่าทีที่สอดคล้องกับหลักการ เพราะว่าท่าทีย่อมสืบเนื่องมาจากหลักการ ท่าทีเป็นช่วงต่อระหว่างเนื้อหากับรูปแบบ รูปแบบจะออกมาได้ก็ต้องมีเนื้อหาเป็นที่ตั้ง และรูปแบบก็เป็นที่แสดงออกของท่าทีด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จากหลักการแห่งธรรมชาติของมนุษย์ โยงไปสู่ท่าทีแห่งการแสดงบทบาทในสังคมแบบอย่างแห่งการให้เสรีภาพทางศาสนาระดับรัฐ >>

No Comments

Comments are closed.