รูปแบบของพุทธศาสนา สื่อถึงหลักการแห่งธรรมชาติของมนุษย์

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 8 จาก 58 ตอนของ

รูปแบบของพุทธศาสนา
สื่อถึงหลักการแห่งธรรมชาติของมนุษย์

อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เราจัดตั้งรูปแบบขึ้นมา ก็เพื่อรักษาหลักการ เพื่อจะเป็นสื่อนำหลักการนั้นไปถ่ายทอด และเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการที่จะช่วยผู้ที่จะไปสู่จุดหมายของหลักการนั้น ให้ดำเนินไปได้โดยง่าย ด้วยพื้นความเข้าใจนี้ เราจึงได้มีการจัดตั้งที่เรียกว่า “สังฆะ” ขึ้นมา คณะสงฆ์เป็นรูปแบบจัดตั้งที่มีขึ้นเพื่อสนองหลักการอะไร

หลักการก็คือ พุทธศาสนาบอกว่าตามความจริงของธรรมชาติ มนุษย์นี้เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง แต่เป็นสัตว์พิเศษ พิเศษอย่างไร พิเศษคือเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนา และก็ฝึกได้ด้วย คือต้องฝึก และก็ฝึกได้ ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น

สัตว์ชนิดอื่นนั้น แทบจะไม่ต้องฝึกเลย เพราะอยู่ได้โดยสัญชาตญาณ ส่วนมนุษย์นั้นไม่สามารถอยู่ได้เพียงด้วยสัญชาตญาณ สิ่งที่มนุษย์จะนำมาใช้ในการอยู่รอด มนุษย์ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงใช้เวลาเลี้ยงนาน กว่าจะสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง ระหว่างนั้นก็ต้องเรียนโดยอาศัยผู้เลี้ยง มีพ่อแม่เป็นต้น

สัตว์ชนิดอื่นจะอาศัยพ่อแม่นิดเดียว หรือแทบจะไม่ต้องอาศัยเลย พอเกิดมาบางทีก็เดินได้เลย อย่างลูกวัว พอออกมาปั๊บ เดี๋ยวเดินแล้ว และเดี๋ยวก็หากินได้ อยู่รอดได้ และก็มีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษที่ไม่สามารถอยู่ได้เพียงด้วยสัญชาตญาณ จึงต้องอาศัยการเรียนรู้ การฝึกฝนพัฒนา พระใช้คำว่า “ฝึก” ต้องฝึกทั้งนั้น

กินก็ต้องฝึก นอนก็ต้องฝึก นั่งก็ต้องฝึก ขับถ่ายก็ต้องฝึก เดินก็ต้องฝึก พูดก็ต้องฝึก นี่เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตทั้งนั้น และมนุษย์ก็ต้องฝึกทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงถือเป็นสัตว์พิเศษที่ว่าต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่รอด อยู่ไม่ได้เพียงด้วยสัญชาตญาณ อันนี้คือความพิเศษของมนุษย์

พิเศษมิใช่หมายความว่าต้องดี พิเศษ แปลว่า แปลกพวก วิ แปลว่า แปลก เศษ แปลว่า ที่เหลือ พิเศษ จึงแปลว่าแปลกจากพวกที่เหลือ แปลกจากสัตว์อื่น คือแปลกพวก

มนุษย์ก็พิเศษในแง่นี้ เป็นความพิเศษในทางด้อยคือแพ้สัตว์อื่น ที่ไม่สามารถอยู่ได้เพียงด้วยสัญชาตญาณ แต่ก็กลับมาเป็นข้อดีของมนุษย์ที่ว่า นอกจากมนุษย์ต้องฝึก ต้องเรียนรู้แล้ว เขาก็เรียนรู้ได้ และฝึกได้ด้วย และก็ฝึกได้แทบจะไม่มีขีดจำกัด

ฉะนั้น พอตั้งต้นเรียนรู้ฝึกไป มนุษย์จะเดินหน้าล้ำเลิศกว่าสัตว์ทั้งหลายอื่น สัตว์ทั้งหลายเกิดมาด้วยสัญชาตญาณอย่างไร อยู่ไปจนตายก็แค่สัญชาตญาณอย่างนั้น แต่มนุษย์จากจุดที่เกิดมาอยู่เองไม่ได้ ไม่รอด สัญชาตญาณช่วยไม่ไหว แต่พอฝึกไป เรียนไป กว่าจะตาย ไปลิบ สามารถเป็นสัตว์ประเสริฐกระทั่งบรรลุชีวิตที่สมบูรณ์

เราก็จึงตั้งพระพุทธเจ้าขึ้นมาเป็นตัวแบบว่า นี่เป็นตัวอย่างของมนุษย์ที่ฝึกตนเองดีแล้ว ฝึกได้ขนาดเป็นพุทธ

เราทุกคนสามารถเป็นพุทธได้ทั้งนั้น ในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นอย่างนั้น แต่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตนเอง

จากความจริงที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก พุทธศาสนาก็ถือเป็นหลักการว่า มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามได้ ต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน หรือพูดว่าเมื่อมนุษย์ต้องการมีชีวิตที่ดี ก็ต้องมีการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา

กับทั้งเพื่อสนองหลักการนั้น เพื่อให้มั่นใจว่ามนุษย์จะได้มีการฝึกฝนพัฒนาตน ก็ต้องมีการจัดตั้งวางระบบหรือรูปแบบขึ้นมา เพื่อให้เกิดมีสภาพความเป็นอยู่ที่เอื้อต่อการที่มนุษย์จะได้ฝึกฝนพัฒนาตน หรือมีการเรียนรู้อย่างดีที่สุด

มนุษย์นั้น แม้จะเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตนกันอยู่ แต่เพราะไม่รู้หลักการชัดเจน ก็เรียนไปอย่างนั้นๆ ตามที่ความจำเป็นบีบบังคับ คือ ฝึกพออยู่ได้ ฝึกเดินพอเดินได้ ฝึกพูดพอพูดได้ แต่จะพูดให้ดี ให้เป็น ให้ได้ผลกว่านั้น บางทีก็ไม่ยอมฝึก ทั้งๆ ที่มีศักยภาพ

ทีนี้จะทำอย่างไรให้การฝึกไม่หยุดเพียงแค่พออยู่รอด แต่ฝึกให้มันดีที่สุด ให้เต็มศักยภาพของมนุษย์ เราก็จึงจัดตั้งวางระบบขึ้นมา

การที่พระพุทธเจ้าจัดตั้งระบบขึ้นมาเป็นสังฆะ ก็เพื่อสนองหลักการนี้ คือ เพื่อให้เป็นชุมชนที่จะเอื้ออำนวยให้มนุษย์ได้เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตน

สังฆะจึงเป็นชุมชนที่มีชีวิตแห่งการศึกษา เพราะว่า สังฆะนั้นตั้งขึ้นเพื่อการศึกษา

จะเห็นว่า เวลาพระใหม่บวชเสร็จ อุปัชฌาย์ก็จะบอกว่า ท่านจะต้องอาศัยเลี้ยงชีพด้วยอะไรบ้าง และท่านจะทำอะไรไม่ได้บ้างที่ขัดกับลักษณะชีวิตความเป็นอยู่ของท่าน อันนี้คือนิสัย ๔ และอกรณียกิจ ๔

จากนั้นก็จะบอกตัวเนื้อแท้ของชีวิตพระ คือ ไตรสิกขา ว่า “สีลํ สมฺมทกฺขาตํ, สมาธิ สมฺมทกฺขาโต, ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา” นี่คือชีวิตของท่าน ต่อแต่นี้ไปท่านอยู่กับ ๓ อย่างนี้ คือไตรสิกขา (การศึกษา ๓ ด้าน) ตลอดชีวิต

ในทางพุทธศาสนา ถือว่า ทุกคนต้องศึกษา ๓ ด้านที่เรียกว่า “ไตรสิกขา”นี้ คือพัฒนา ศีล สมาธิ ปัญญา ได้แก่พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา เราจะมีชีวิตที่ประเสริฐด้วยการศึกษาทั้ง ๓ ด้านนี้

เมื่อเราพัฒนาไป ก็จะกลายเป็นคนมีชีวิตดีงาม ที่ท่านเรียกว่าเป็นอริยะ ซึ่งมี ๔ ขั้นคือ เป็น โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี สามขั้นนี้เรียกว่า “เสขะ” หรือ “เสกขะ” ซึ่งมาจากคำว่า สิกขา เป็นผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่ คือผู้ยังอยู่ในไตรสิกขา จนกระทั่งถึงขั้นที่ ๔ เป็นพระอรหันต์ จบการศึกษา เรียกว่าเป็น “อเสขะ” หรือ “อเสกขะ” จึงไม่ต้องศึกษา

จะเห็นว่า ทั้งหมดนี้มีศัพท์สำคัญอยู่ที่คำว่า “สิกขา” คือการศึกษา

เพราะฉะนั้น สังฆะ ก็คือชุมชนที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อจะให้สมาชิกมีโอกาสพัฒนาตนเอง ด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่ เพราะว่าในสังคมมนุษย์ทั่วไปนั้น การจัดตั้งยังเปะปะอยู่ จำเป็นจะต้องมีการมาช่วยเหลือกันโดยอยู่เป็นชุมชนที่ปฏิบัติได้เต็มตามหลักการ แล้วให้กลุ่มขยายออกไป

รวมความว่า การตั้งสังฆะ ก็เพื่อประโยชน์นี้ คือ เพื่อสร้างสภาพเอื้อในการที่จะให้มนุษย์ที่เข้ามา ได้ฝึกฝน เรียนรู้ พัฒนาตนเอง

เมื่อตัวเองมีความรู้ ความเข้าใจ ฝึกฝน พัฒนาตนเองดีแล้ว ก็จะได้ช่วยผู้อื่น โดยเป็นแหล่งที่คนภายนอกได้มาอาศัย ในการที่จะได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในการฝึกฝน พัฒนาตน

นอกจากนั้น ผู้ที่อยู่ในชุมชนนี้ เมื่อศึกษาพัฒนาตนดีแล้ว ก็ออกไปข้างนอก เพื่อนำความรู้ ความเข้าใจ ตามหลักการศึกษานี้ ไปช่วยให้คนอื่นศึกษาต่อไป

เป็นอันว่า พระพุทธศาสนาในทางปฏิบัติก็วนเวียนอยู่ในหลักการนี้เท่านั้นเอง คือเรื่องของไตรสิกขา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ท่าทีของพุทธศาสนาตามหลักการที่เป็นสากลจากหลักการแห่งธรรมชาติของมนุษย์ โยงไปสู่ท่าทีแห่งการแสดงบทบาทในสังคม >>

No Comments

Comments are closed.