ประวัติศาสตร์สรุปว่า ชาวพุทธถูกห้ำหั่นบีฑา แต่ไม่มีสงครามศาสนากับชาวพุทธ

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 51 จาก 58 ตอนของ

ประวัติศาสตร์สรุปว่า ชาวพุทธถูกห้ำหั่นบีฑา
แต่ไม่มีสงครามศาสนากับชาวพุทธ

เนื่องจากชาวพุทธถูกกำจัดกวาดล้างข้างเดียว ไม่ว่าจะโดยชาวฮินดูหรือโดยชาวมุสลิม จึงมีแต่การทำ persecution (ห้ำหั่นบีฑา) แก่ชาวพุทธ ไม่มี religious war คือไม่มีสงครามศาสนากับชาวพุทธ

เรื่องนี้ตรงข้ามกับชาวฮินดู เมื่อกองทัพมุสลิมยกเข้ารุกรานในอินเดียนั้น มิใช่เฉพาะกำจัดกวาดล้างชาวพุทธเท่านั้น แต่ได้กำจัดฮินดูด้วย

แต่ฮินดูมิได้หมดไปอย่างพุทธศาสนา ชาวฮินดูยังคงอยู่และได้รบกับชาวมุสลิมที่ปกครองอินเดียตลอดมาอีกราว ๕๐๐ ปี จนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไปด้วยกัน

(อินเดียอยู่ใต้อำนาจบริษัท East India Company ของอังกฤษเกือบทั้งหมดในปี 1773 และมาเป็นของรัฐบาลอังกฤษ ใน ค.ศ.1858 จนกระทั่ง ค.ศ.1876 รัฐบาลอังกฤษจึงได้ประกาศให้ราชินีวิคตอเรียเป็นพระจักรพรรดินีแห่งอินเดีย)

ต่อมาเมื่อต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ก็เริ่มวิวาทกันอีก จนเมื่อได้เป็นเอกราชใน ค.ศ.1947 ก็เลยต้องแยกเป็น ๒ ประเทศ คือ อินเดีย (ฮินดู) กับปากีสถาน (มุสลิม)

ระหว่างที่ราชวงศ์มุสลิมปกครองอินเดีย ซึ่งมีการรบราฆ่าฟันสงครามกับนักรบฮินดูมาเรื่อยๆ นั้น แม้ผู้ปกครองมุสลิมจะต้องผ่อนเบาเอาใจฮินดูตามสมควร แต่บางครั้งก็ยังมีการกำจัดกวาดล้าง (persecution)

โดยเฉพาะครั้งใหญ่คือ ในรัชกาลพระเจ้าออรังเซบ (Aurangzeb ค.ศ.1658-1707) ซึ่งเมื่อเห็นว่าตนมีอำนาจยิ่งใหญ่เข้มแข็งมากแล้ว ก็กำจัดกวาดล้างชาวฮินดูอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการก่อกบฎ ที่กลับทำให้ราชวงศ์โมกุลของตนอ่อนแอลงอย่างไม่ฟื้น จนในที่สุดก็เสียแก่อังกฤษ

เรื่องทางด้านมุสลิมนี้ นอกจากในอินเดียที่ว่ามาแล้ว ก็เป็นที่รู้กันดีว่าได้มีเรื่อง persecution และ religious war และ holy war หรือ jihad มาตลอด ดังเช่น สงครามครูเสด (Crusades) เกือบ ๒๐๐ ปี กับประเทศคริสต์ในยุโรป การกำจัดกวาดล้างศาสนาโซโรอัสเตอร์ในอิหร่าน ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8-10 และการกำจัดกวาดล้างและสงครามกับพวกลัทธิ Babism (ที่มาของศาสนาบาไฮ/Baha’ism) ในอิหร่านเช่นเดียวกัน

ในช่วง ค.ศ.1848-1850 ในอินเดีย นอกจากรบกับฮินดูแล้ว ชาวมุสลิมก็รบกับพวกสิกข์ (Sikhs) เป็นต้น ไม่ต้องพูดถึงความเป็นมาในอาฟริกา (โดยเฉพาะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19) ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างชาวยิวในอิสราเอล กับกลุ่มประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางจนปัจจุบัน

ฝรั่งหรือฝ่ายคริสต์มักพูดถึงศาสนาอิสลามว่า เผยแพร่ศาสนาด้วยคมดาบ (เช่น Encyclopaedia Britannica, 1997 คำ “Western Africa”: “Islam has been spread by the sword, . . .”)

แต่ทางฝ่ายชาวมุสลิมก็อ้างคัมภีร์กุรอ่านที่สอนว่า “จงอย่าได้มีการบังคับในศาสนา” (There shall be no compulsion in religion.) และในข้อที่ว่าอิสลามให้ทำสงครามศาสนานั้น ปราชญ์มุสลิมปัจจุบันก็เน้นให้ตีความเป็นการทำสงครามต่อสู้กับกิเลสในจิตใจของตนเอง

ถ้ามีการเน้นให้สอนกันอย่างหลังนี้ และจำกัดกันไว้ให้ชัดเจนแน่นหนาได้จริง พร้อมทั้งมิให้มีการยกคำสอนใดๆ ในคัมภีร์ไปอ้างเพื่อการรบราฆ่าฟัน การสถาปนาสันติภาพในโลก และการสร้างสรรค์สันติสุขให้แก่มวลมนุษย์ก็น่าจะมีทางเป็นไปได้

ในจีน พระพุทธศาสนาเริ่มประดิษฐานตั้งแต่ ค.ศ.77 (พ.ศ. ๖๑๐) แต่เมื่อเจริญรุ่งเรืองขึ้น ก็ถูกอิทธิพลของลัทธิขงจื๊อขัดขวาง และใช้กำลังทำลายเป็นครั้งคราว

ที่เรียกว่าเป็น persecution คือ กำจัดกวาดล้าง ได้แก่ ใน ค.ศ.446 (พ.ศ.๙๘๙) และ ค.ศ.574-577 (พ.ศ.๑๑๑๗-๑๑๒๐) ในช่วงที่ ๒ นี้ มีการทำลายรุนแรง เช่น ยึดวัด ๔๐,๐๐๐ วัด บังคับพระภิกษุให้ลาสิกขา ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูป ทำลายพระพุทธรูปเอาทองคำและทองแดงไปทำทองแท่งและเหรียญกษาปณ์

ต่อมาอีกครั้งหนึ่ง ใน ค.ศ.845 (พ.ศ.๑๓๘๘) จักรพรรดิจีน (พระเจ้าบู่จง) ซึ่งทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋า ทรงแต่งตั้งนักบวชเต๋าเป็นเสนาบดี แล้วดำเนินการทำลายพระพุทธศาสนา โดยทำลายวัดมากกว่า ๔,๖๐๐ แห่ง ทำลายเจดีย์วิหารกว่า ๔๐,๐๐๐ แห่ง ริบที่ดินวัด เผาคัมภีร์ หลอมพระพุทธรูป และบังคับภิกษุและภิกษุณีให้สึกมากกว่า ๒๖๐,๐๐๐ รูป

พึงสังเกตว่า พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในจีนอย่างมากและยาวนาน แต่ตลอดระยะเวลาที่เจริญรุ่งเรืองนั้น ทางฝ่ายพุทธศาสนาไม่เคยกำจัดเบียดเบียนลัทธิศาสนาอื่น ไม่ว่าจะเป็นขงจื๊อ เต๋า หรือลัทธิใด และเมื่อผ่านการถูกกำจัดไปแล้ว ก็มิได้ทำการแก้แค้น

คงเป็นเพราะเหตุนี้ วงการพุทธศาสนาจึงไม่มีคู่กรณีหรือคู่เวรกับลัทธิศาสนาใด ที่อาฆาตคั่งแค้นต่อสู้กันมาในประวัติศาสตร์ เหมือนดังในที่อื่นๆ (เพราะเป็นฝ่ายถูกกระทำข้างเดียว)

น่าสังเกตด้วยว่า ในจีนที่พุทธศาสนารุ่งเรืองต่อกันมายาวนานนี้ แม้เมื่อมีการกำจัดพุทธศาสนาอย่างรุนแรง ก็ไม่ถึงขั้นมุ่งทำลายชีวิต ส่วนมากทำเพียงในขั้นให้ภิกษุและภิกษุณีลาสิกขา (อาจเป็นเพราะคนมีลักษณะผ่อนคลายความรุนแรงลงไป หรืออาจเป็นเพราะรู้อยู่ว่าถึงปล่อยให้มีชีวิตอยู่ ชาวพุทธก็จะไม่มาแก้แค้น)

ขอพูดถึงอินเดียและจีนเป็นตัวอย่างไว้เท่านี้ เรื่องราวที่อื่นๆ เช่นญี่ปุ่น ไทย จะไม่กล่าวถึง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ภาพลักษณ์ของพุทธศาสนา ในภูมิหลังแห่งการเบียดเบียนบีฑาทางศาสนาไม่มีการขัดแย้งโดยใช้กำลัง ระหว่างต่างนิกายในพุทธศาสนา >>

No Comments

Comments are closed.