บุกฝ่าพรมแดน ๓๐๐ ปี จึงได้ครอบครองโลกใหม่ อารยธรรมอเมริกันได้อะไรจากประสบการณ์ผจญภัย

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 34 จาก 58 ตอนของ

บุกฝ่าพรมแดน ๓๐๐ ปี จึงได้ครอบครองโลกใหม่
อารยธรรมอเมริกันได้อะไรจากประสบการณ์ผจญภัย

ขอย้อนกลับไปพูดถึงชนชาติอเมริกัน ซึ่งเป็นชาวประเทศตะวันตก ผู้ตกทุกข์ได้ยากระเหระหนจากดินแดนแห่งความเจริญสมัยใหม่นั้น แต่ได้ไปสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นจากการฝ่าฟันภยันตราย จนกลายเป็นผู้นำของอารยธรรมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

ดังได้กล่าวแล้วว่า ชนชาติใหม่นี้หนีภัยแห่งการบีบคั้นเบียดเบียน ทั้งทางศาสนาและการเมือง จากยุโรป ไปผจญภัยในโลกใหม่ ด้วยความใฝ่ฝันที่จะได้พบกับความเป็นอิสระเสรี และความหวังนี้ก็ได้ฝังลึกในจิตใจและวัฒนธรรม จนกลายเป็นอุดมคติข้อสำคัญของชนชาติอเมริกัน คือ อุดมคติแห่งเสรีภาพ (ideal of freedom)

เมื่อชาวยุโรปผู้ลี้ภัยข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาขึ้นฝั่งโลกใหม่ที่ชายฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะแถบที่เรียกต่อมาว่า “อังกฤษใหม่” (New England) นั้น ข้างหน้าของเขาคือป่าเขาพงไพรถิ่นกันดาร หรือดินแดนรกร้างที่ไม่เคยรู้จัก ซึ่งไม่มีความสุขความเจริญความสะดวกสบายอะไรที่จะหยิบฉวยเอาได้ มีแต่จะต้องบากบั่นอดทนสร้างมันขึ้นมาด้วยตนเอง

นอกจากป่าดงและสัตว์ร้าย ก็ยังมีคนเจ้าถิ่นอินเดียนแดงที่พวกตนมองด้วยสายตาว่าเป็นมนุษย์ป่าเถื่อน เมื่อมองข้างหลังทางทิศตะวันออกก็มีแต่ทะเลใหญ่ ที่ไม่อาจหวนหลังกลับไป และไม่มีทางพึ่งพาญาติมิตรที่จากมาแล้ว

ความอยู่รอดและความหวังมีทางเป็นไปได้อย่างเดียว คือการบุกฝ่าไปข้างหน้าทางทิศตะวันตก และการสร้างขึ้นใหม่ ทุกอย่างต้องทำต้องหา และการทำการหานั้นต้องดำเนินไปท่ามกลางความยากลำบาก และภัยอันตรายรอบตัว

ความอยู่รอดและความสำเร็จเป็นปัญหาที่ทุกคนจะต้องเผชิญและฟันฝ่าร่วมกัน แต่ความลำเค็ญยากลำบากทั้งหมดนั้นก็เป็นความหวังแห่งความสุขสมบูรณ์และความยิ่งใหญ่ภายภาคหน้า ที่จะมากับการเคลื่อนที่ไปในดินแดนข้างหน้าที่ไม่รู้ว่าจะไกลไปถึงไหน ในทิศตะวันตก

บุกฝ่าไปข้างหน้าได้เท่าใด พรมแดนที่กั้นขวาง (frontier) ก็อยู่ตรงนั้น ความสำเร็จคือการที่จะต้องบุกฝ่าขยายพรมแดนออกไป เพราะฉะนั้นกาลเวลาหลายร้อยปี (๓๐๐ ปี) ต่อจากนั้น จึงเป็นยุคแห่งการเคลื่อนย้ายไปตะวันตก (westward movement; “Go West”1) และการบุกฝ่าขยายพรมแดน (frontier expansion)

สภาพชีวิตตลอดช่วงเวลานานแสนนานนี้ คือการที่ต้องตื่นตัวคอยระแวดระวังภัย การที่ต้องเร่งรัดขวนขวายแก้ปัญหาอย่างไม่อาจผัดเพี้ยน การเผชิญชะตากรรมร่วมกัน การที่ต้องรวมหมู่สู้ภัยจากชนเผ่าท้องถิ่นคืออินเดียนแดง พร้อมทั้งการแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์และความสำเร็จในหมู่พวกเดียวกันเอง ท่ามกลางความหวังต่อความสุขสมบูรณ์ด้วยการบุกฝ่าไปในดินแดนข้างหน้า

ภาวะบีบคั้นและการดิ้นรนต่อสู้เช่นนี้ ได้ปลูกฝังบุคลิกลักษณะ อุปนิสัยและจิตสำนึกที่เป็นเอกลักษณ์ ลงในดวงจิตและวิถีชีวิตของชนชาติอเมริกัน ซึ่งเรียกด้วยคำสั้นๆ ว่า สภาพจิตบุกฝ่าพรมแดน (frontier mentality) หรือบางทีก็เรียกว่า อุดมคติหรือคติบุกฝ่าพรมแดน (ideal or myth of frontier)

คติฟรอนเทียร์นี้ คนอเมริกันภูมิใจนักว่าเป็นปัจจัยสำคัญแห่งความเจริญก้าวหน้าของชาติตน และมักยกขึ้นอ้างในการปลุกจิตสำนึกเพื่อนร่วมชาติ ในการที่จะบุกฝ่าสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าต่อไป

ตัวอย่างเช่น จอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) ก้าวขึ้นสู่ความเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยการปลุกเร้าชาวอเมริกัน ให้ก้าวเข้าสู่ยุค “New Frontier” แห่งการบุกฝ่าพรมแดนใหม่ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา สังคม และเศรษฐกิจ ดังปรากฏผลต่อมา ทั้งการแผ่อิทธิพลออกไปในโลกนี้ และการออกสำรวจกว้างไกลบุกฝ่าไปในอวกาศ

แท้จริงนั้น ชนชาติใหม่คืออเมริกันนี้ มิใช่มาต่อสู้ผจญภัยในโลกใหม่อย่างโดดเดี่ยวและยากเข็ญมากนัก เพราะประเทศแม่ของเขาในยุโรปก็ตามมาปกครองเอาพวกเขาไว้ในอาณานิคม

ระหว่างที่เขาบุกฝ่าพรมแดน มุ่งหน้าตะวันตก ล้างป่าแปลงเป็นเมือง และรบอยู่กับอินเดียนแดงนั้น ประเทศเจ้าอาณานิคมจากยุโรป คืออังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน ก็มาทำสงครามแย่งชิงดินแดนกันบนผืนแผ่นดินอเมริกาด้วย

ชนชาติใหม่นี้ นอกจากรบกับอินเดียนแดงแล้ว ก็ได้ร่วมรบในสงครามระหว่างประเทศเจริญที่เป็นเจ้าอาณานิคมด้วย และในที่สุดเขาก็ทำสงครามปฏิวัติ (American Revolution) ประกาศอิสร-ภาพ (ค.ศ.1776) เป็นเอกราชจากประเทศแม่ได้สำเร็จ

จึงเห็นได้ว่า ความเจริญก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในยุโรปทุกอย่างก็มาถึงชนชาติใหม่นี้ด้วย โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ชนชาติอเมริกันมีเครื่องมือเครื่องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่พรั่งพร้อม มีกำลังอำนาจเหนือกว่าชนเจ้าถิ่นเดิมคืออินเดียนแดงอย่างมากมาย

หลังจากได้อิสรภาพ พ้นจากความเป็นอาณานิคม ตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นได้แล้ว ชาวอเมริกันก็ยังขยายดินแดนบุกฝ่าตะวันตกทำสงครามกับอินเดียนแดง และสู้รบกับประเทศเจ้าอาณานิคม โดยเฉพาะสเปน ต่อมาอีกนาน

จนในที่สุด ใน ค.ศ.1890 อเมริกันก็ทำสงครามครั้งสุดท้ายในการปราบอินเดียนแดงสำเร็จเสร็จสิ้น และในช่วงระยะเวลาใกล้กันนี้สหรัฐอเมริกาได้ครอบครองแผ่นดินขยายพรมแดนทางตะวันตกมาจนสุดแผ่นดินจดฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว (California ได้เป็นรัฐที่ ๓๑ ใน ค.ศ.1850, Oregon ได้เป็นรัฐที่ ๓๓ ใน ค.ศ. 1859, Washington ได้เป็นรัฐที่ ๔๒ ใน ค.ศ.1889)

อเมริกาจึงมาถึงจุดแห่งประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า จบสิ้นพรมแดน (closing of the frontier)

ถ้านับจุดเริ่มจากปีที่ชาวยุโรปตั้งเมืองแรกในแผ่นดินสหรัฐอเมริกา ก็ได้แก่ ค.ศ.1565 (คือเมือง St. Augustine หรือ San Augustin2 ในรัฐฟลอริดา/Florida ซึ่งพวกสเปนตั้งขึ้น)

ถ้านับจากปีที่ชาวอังกฤษตั้งถิ่นฐานถาวรแห่งแรก ก็ได้แก่ ค.ศ.1607 (คือเมือง Jamestown ในรัฐเวอร์จิเนีย/Virginia ซึ่งพวกพ่อค้าและนักล่าอาณานิคมที่รัฐบาลอังกฤษสนับสนุน ได้มาตั้งขึ้น)

ถ้านับจากปีที่ราษฎรอังกฤษหนีภัยทางศาสนามาได้ที่พึ่งพำนักใหม่แห่งแรก ก็ได้แก่ ค.ศ.1620 (คือปีที่พวกพิลกริมส์/ Pilgrims มาขึ้นฝั่งที่ “อังกฤษใหม่” คือ New England)

นับจากจุดเริ่มที่กล่าวนี้ ชนชาติอเมริกันได้บุกฝ่าพรมแดนเป็นระยะทาง ๓,๐๐๐ ไมล์ (เกินกว่า ๔,๘๐๐ กม.) มุ่งหน้าขยายดินแดนออกมาทางตะวันตก โดยเฉลี่ยปีละ ๑๐ ไมล์ จนมาถึงจุดจบพรมแดนนี้ ใช้เวลาประมาณ ๓๐๐ ปี

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< วิทยาศาสตร์ – อุตสาหกรรม มาตรฐานวัดความเจริญก้าวหน้าของโลกยุคใหม่ผ่านภูมิหลังแห่งแนวคิดความเชื่อและความใฝ่ฝัน สู่ความยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดินิยมอเมริกัน >>

เชิงอรรถ

  1. “ไปตะวันตก” ใช้เป็นสำนวน มีความหมายด้วยว่า ตาย มลาย หรือหายสาบสูญ
  2. ที่นี่ พวกฮิวเกนอต (Huguenots) คือ โปรเตสแตนต์ชาวฝรั่งเศส ที่ลี้ภัยมาจากประเทศของตนจำนวนหนึ่ง ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน ในปี 1564 และได้ถูกพวกสเปนกวาดล้างตายแทบหมดในคราวนี้

No Comments

Comments are closed.