จากหลักการแห่งธรรมชาติของมนุษย์ โยงไปสู่ท่าทีแห่งการแสดงบทบาทในสังคม

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 9 จาก 58 ตอนของ

จากหลักการแห่งธรรมชาติของมนุษย์
โยงไปสู่ท่าทีแห่งการแสดงบทบาทในสังคม

ที่พูดนี้ เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ทำไมจึงมีการจัดตั้งชุมชนขึ้นมา ดังที่เรียกว่าเป็น “สังฆะ” และหลักการนี้ก็อยู่ในเนื้อหาสาระ ซึ่งเป็นความจริงตามธรรมชาติ คือหลักการที่บอกว่า ตถาคตทั้งหลายจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม ความจริงก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้น อย่างที่พระสวดเสมอว่า “อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ”

ตถาคตทั้งหลายจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม ความจริงมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น แต่มนุษย์นี้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ทั้งๆ ที่มันก็อยู่ต่อหน้าต่อตา จนกระทั่งมีผู้ที่พัฒนาตนเองจนเกิดปัญญารู้แจ้ง มาค้นพบ มารู้ความจริงเข้า

พอรู้ความจริงนี้แล้วก็มาเปิดเผย ชี้แจง แสดง อธิบายให้เข้าใจง่าย ว่าเป็นอย่างนี้ๆ นี่คือ ธรรม แล้วหลักการในธรรมชาติก็กลายเป็นหลักการของมนุษย์ขึ้นมา หลักการนี้เรียกว่าธรรม

เป็นอันว่า หลักการในพุทธศาสนา ก็คือความจริงที่มีในธรรมชาติ พุทธศาสนาไม่มีอะไร ก็คือเรื่องของธรรมชาติ หรือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา

ทีนี้ พอได้หลักการแล้ว เราก็หาทางให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากหลักการ หรือตัวความจริงในธรรมชาตินั้น เพราะความจริงของธรรมชาตินั้นครอบงำชีวิตของมนุษย์อยู่ และเราก็อยู่ในกฎธรรมชาติ ถ้าเราทำถูกต้องตามกฎธรรมชาติ ผลดีก็เกิดแก่ชีวิตของเรา ถ้าเราทำไม่ถูก ผลร้ายก็เกิดขึ้นตามมา

เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากความจริงของธรรมชาตินี้ จะทำอย่างไร ก็ต้องมีการสั่งสอนกัน

ถ้าพระพุทธเจ้าสั่งสอนทีละคนๆ กว่าจะได้ผลก็ช้า และบางทีเขาเดินหน้าไปได้นิดหน่อยก็ถูกกลืนกลับเข้าไปในชุมชนแวดล้อม ก็จึงมีการตั้งสังฆะขึ้น

การตั้งสังฆะ ก็คือการจัดตั้งระบบขึ้นมา เพื่อให้เป็นชุมชนที่มีสภาพเอื้อ หรือเป็นชุมชนที่ประกอบด้วยคนที่มุ่งทำตามหลักการนี้ และมามีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการที่จะให้เกิดผลสำเร็จตามหลักการ การจัดตั้งนี้ เรียกว่า “วินัย”

ฉะนั้นในพระพุทธศาสนา จึงมีธรรม กับ วินัย เป็นคู่กัน และจึงเรียกพุทธศาสนาในชื่อเดิมว่า “ธรรมวินัย”

ธรรม คือตัวหลักการแห่งความจริงตามธรรมชาติที่ค้นพบ และจะเอามาใช้ประโยชน์

ส่วนวินัย คือ การจัดตั้ง วางระบบ วางรูปแบบ เป็นสังคม เป็นชุมชน เพื่อจะให้หลักการนั้น ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง

เรื่องของหลักการ หรือเนื้อหาสาระกับรูปแบบ ก็มีอย่างนี้ มีเท่านี้ เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ท่าทีของพุทธศาสนาก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องพูดกันมาก

เมื่อหลักการเป็นอย่างนี้ ก็มีจุดหมายที่แน่นอนว่า จะมุ่งเพื่อให้คนที่เข้ามาในชุมชน ได้มีโอกาสฝึกฝนอบรมตนและเรียนรู้อย่างดี ในการพัฒนาชีวิตของตน ที่เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมทั้งนำผู้อื่นในการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญานั้นด้วย

จากหลักการใหญ่นี้ ก็เลยพลอยขยายออกไปสู่หลักการที่ว่าพระพุทธศาสนาจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับระบบผลประโยชน์และเรื่องอำนาจเป็นต้น ในสังคม

อย่างไรก็ตาม ที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่เป็นการปลีกตัว แต่เพราะสังฆะไม่ต้องการอำนาจในระบบการเมือง และไม่ต้องการผลประโยชน์ในระบบธุรกิจ สังฆะจึงปลีกตัวในแง่นั้น เพื่อจับเอาบทบาทที่สอดคล้องกับหลักการของตนโดยเฉพาะ สังฆะจึงเน้นการมีฐานะและบทบาทที่สัมพันธ์กับสังคมในแง่การให้การศึกษา เช่นให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองบ้านเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบผลประโยชน์เป็นต้น แต่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่ไปเล่นบทบาทนั้นเอง เพราะสังฆะมีจุดหมายของตน ซึ่งเป็นสาระหรือหลักการที่ชัดเจน

เพราะฉะนั้น ภาพที่ปรากฏออกมาของพระพุทธศาสนา ก็เลยกลายเป็นว่า มีรูปแบบที่เป็นลักษณะพิเศษของตนเองที่ว่า ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นต้น และก็ดูเป็นว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับชีวิตทางโลก ซึ่งบางทีก็แยกยาก แต่ต้องจับให้ได้

ถ้าจับหลักการไม่ถูก ก็จะทำให้ตัวเองยึดถือบทบาทไปตามรูปแบบเฉยๆ โดยไม่เข้าใจ หรืองมงาย และถ้ายึดถือแต่รูปแบบโดยไม่เข้าใจสาระ ก็เป็นอันตรายที่จะเกิดความไขว้เขว และคลาดเคลื่อน ทั้งที่คงรูปแบบนี้อยู่ แต่อาจจะเอาเนื้อหาอย่างอื่นมาใส่แทน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< รูปแบบของพุทธศาสนา สื่อถึงหลักการแห่งธรรมชาติของมนุษย์จากหลักการแห่งการศึกษา โยงไปสู่ท่าทีในการเผยแผ่พุทธศาสนา >>

No Comments

Comments are closed.