อิทธิพลของหลักศาสนาต่อบทบาทของรัฐ ในการส่งเสริมหรือกำจัดเสรีภาพทางศาสนา

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 53 จาก 58 ตอนของ

อิทธิพลของหลักศาสนาต่อบทบาทของรัฐ
ในการส่งเสริมหรือกำจัดเสรีภาพทางศาสนา

๓. เมื่อยกเหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาเปรียบเทียบกัน จะเห็นความแตกต่างที่เด่นชัดมากอย่างหนึ่ง คือ ในยุโรป เมื่อกษัตริย์ที่นับถือลัทธิศาสนาใด หรือแม้แต่นิกายใดของศาสนาหนึ่ง ขึ้นปกครอง ก็มักจะต้องกำจัดกวาดล้างผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่น หรือนิกายอื่นลงไป ซึ่งจะเห็นได้ตั้งแต่ต้นประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์

เมื่อศาสนาคริสต์เกิดใหม่ จักรวรรดิโรมันก็กำจัดกวาดล้างศาสนาคริสต์ แต่พอจักรพรรดิโรมันเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ทั้งอาณาจักรโรมันและศาสนจักรคริสต์ก็เริ่มงานกำจัดกวาดล้างลัทธิศาสนาอื่นตลอดมาจนสิ้นยุคปฏิรูป (ประมาณ ๑๒๐๐ ปี) หรือจะดูในแต่ละประเทศย่อยๆ ลงมา ก็มีสภาพการณ์อย่างเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี ฯลฯ

เมื่อหลายประเทศหรือหลายรัฐที่นับถือลัทธินิกายต่างกันมาอยู่ใกล้กัน หรือในประเทศเดียวกันเมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ปกครอง และผู้ปกครองคนใหม่นับถือลัทธินิกายต่างจากคนก่อน ก็เกิดการขัดแย้งรบราฆ่าฟันกัน กษัตริย์ที่นับถือต่างกัน พาพลเมืองมารบกันบ้าง กษัตริย์นับถือต่างจากราษฎรก็กำจัดราษฎรต่างนิกายบ้าง

ถือกันเป็นเรื่องใหญ่ว่า กษัตริย์กับราษฎรต้องนับถือลัทธินิกายเดียวกัน มิฉะนั้นจะต้องอยู่ด้วยกันไม่ได้

มีแม้กระทั่งการออกข้อบังคับให้ราษฎรต้องนับถือลัทธินิกายตามกษัตริย์ที่ปกครอง

ดังตัวอย่างในเยอรมนี พวกคาทอลิก กับโปรเตสแตนต์นิกายลูเธอแรน (Lutherans) รบกันเป็นสงครามศาสนากลางเมือง (religious civil war) เป็นเวลาถึง ๓๐ ปี จนถึง ค.ศ.1555 จึงเซ็นสัญญาสงบศึกกัน (เรียกว่า Religious Peace of Augsburg)

สัญญาสงบศึกแห่งออกสเบอร์กนี้มีข้อกำหนดให้สิทธิแก่กษัตริย์หรือผู้ปกครอง ที่เรียกว่า “cuius regio, eius religio” หมายความว่า ให้ผู้ปกครองของแต่ละรัฐ (เวลานั้นเยอรมนีมีประมาณ ๓๐๐ รัฐ) เป็นผู้เลือกว่าจะนับถือนิกายโรมันคาทอลิก หรือนิกายโปรเตสแตนต์ แล้วบังคับให้ราษฎรในรัฐของตนต้องนับถืออย่างนั้นตาม

แน่นอนว่า การปฏิบัติเช่นนี้ย่อมทำให้ราษฎรเดือดร้อนยิ่งนัก

ต่อมาก็เกิดสงครามใหม่ ที่ใหญ่และขยายกว้างรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก ยาวนาน ๓๐ ปีเช่นเดียวกัน ดังที่เรียกว่า สงคราม ๓๐ ปี/Thirty Years’ War ค.ศ.1618-1648 ซึ่งจบลงด้วยสัญญาสงบศึกเวสท์ฟาเลีย/Peace of Westphalia ที่กำหนดใหม่ว่า ถ้าเจ้าองค์ใดเปลี่ยนศาสนา เจ้าองค์นั้นต้องสละแผ่นดิน

หันมาดูในประเทศพุทธศาสนา เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชครองมคธตลอดทั้งชมพูทวีป พอหันมานับถือพระพุทธศาสนา สิ่งที่พระเจ้าอโศกทำ หรือวิธีแสดงความนับถือพระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศก ก็คือ การแนะนำชักชวนให้ศาสนิกทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดองสามัคคี (สมวายะ) และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่นักบวชเป็นต้นในทุกลัทธิศาสนา และประชาชนทุกหมู่เหล่าก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่มีการเบียดเบียนกันด้วยเรื่องศาสนา เป็นภาวะที่ตรงข้ามกับในประเทศตะวันตกโดยสิ้นเชิง

เป็นการแน่นอนที่ควรจะถามหาเหตุผลในเรื่องนี้ว่า

ทำไม เมื่อกษัตริย์ในยุโรปที่นับถือลัทธินิกายหนึ่งขึ้นปกครอง หรือเมื่อลัทธินิกายหนึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ จะต้องหมายถึงการที่จะบังคับให้ประชาชนหันมานับถือลัทธินิกายนั้นอย่างเดียว และกำจัดกวาดล้างลัทธินิกายอื่นลง และ

ทำไม เมื่อกษัตริย์ชาวพุทธขึ้นปกครอง หรือพุทธศาสนาได้รับการยกย่องเชิดชูขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติในอาณาจักรใด จึงหมายถึงการที่ลัทธิศาสนาและศาสนิกทั้งหลายทั้งปวงในอาณาจักรนั้น จะได้รับการอุปถัมภ์บำรุงดูแลให้อยู่ร่วมกันด้วยดี และมีความร่มเย็นเป็นสุขทั่วกัน

เรื่องนี้ตอบได้อย่างง่ายๆ โดยดูเพียงหลักการพื้นฐานก็เพียงพอ ยังไม่ต้องพิจารณาลึกลงไปถึงรายละเอียด

พึงทราบว่า การนำหลักการที่ต่างกันมาแสดงไว้นี้ มิใช่เป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นว่าศาสนาไหนดีกว่าศาสนาไหน แต่เป็นเรื่องของการที่จะต้องศึกษาให้รู้เข้าใจว่า ปรากฏการณ์ที่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้นๆ มีเหตุผลเป็นมาอย่างไร

การนับถือศาสนา(แต่เดิม)ของตะวันตก หมายถึงการที่จะต้องนับถือพระผู้เป็นเจ้าของลัทธินิกายนั้นแต่พระองค์เดียว และต้องละเลิกการนับถือสิ่งอื่นทั้งหมด

(เช่น “Thou shalt have no other gods before me.” —Exodus 20:3; “He that sacrificeth unto any god, save unto the LORD only, he shall be utterly destroyed. —Exodus 22:20)

พร้อมกันนั้น การนับถือพระผู้เป็นเจ้าพระองค์นั้น ก็หมายถึงการที่จะต้องเชื่อถือและปฏิบัติตามคำสอนที่เป็นเทวบัญชา (ตามการตีความของนิกายนั้นๆ) ของพระองค์ อย่างชนิดเป็นข้อกำหนดตายตัว ที่เรียกว่า dogma

อนึ่ง จุดมุ่งหมายในการสถาปนาศาสนาและลัทธินิกายนั้นขึ้นในสังคม ก็เพื่อให้ทุกคนในสังคมนั้นจะได้นับถือพระผู้เป็นเจ้าพระองค์นั้น และปฏิบัติตามเทวบัญชาของพระองค์อย่างเดียว ให้เป็นการแน่นอนเด็ดขาด ไม่กระจายออกไปอย่างอื่น

ทั้งนี้เป็นการสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายในการเผยแผ่ศาสนา ที่ให้ไปทำให้คนทั้งหลายหันมานับถือพระผู้เป็นเจ้านั้น หรือเป็นสาวกของพระองค์

(“Go therefore and make disciples of all nations, baptizing them in the name of the Father . . . “ — Matthew 28:19-20 หรือ “Go ye into all the world, and preach the gospel to every creature. He that believeth and is baptized shall be saved; but he that believeth not shall be damned.” — Mark 16:15-16)

หลักการที่ว่ามานี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นอกจาก องค์กรศาสนาคริสต์เคยสอนให้ถือคนนอกศาสนาเป็นพวกของซาตาน เป็นคนบาปที่จะต้องกำจัดแล้ว แม้แต่ชาวคริสต์เองที่นอกรีต (heretics) ก็จะต้องถูกกำจัดอย่างรุนแรงและเอาจริงเอาจัง ดังจะเห็นได้จากประวัติการกำจัดลัทธินอกรีต (heresy) เช่น การตั้งศาลไต่สวนศรัทธา/Inquisition ในช่วง ค.ศ.1231-1834 เป็นต้น

เรื่องนี้ ชาวตะวันตกเอง ซึ่งตามปกติถือว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งความรุนแรง ก็ยังยอมรับว่า การกำจัดกวาดล้างลัทธินอกรีตนี้ ในศาสนาคริสต์ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าในศาสนาอิสลาม (ดู “heresy,” Britannica, 1997)

ในการเผยแผ่ศาสนาของชาวตะวันตก นอกจากใช้วิธีบังคับแล้ว ก็ใช้วิธีล่อด้วยอามิสด้วย โดยเฉพาะเมื่อผ่านยุคอาณานิคมแล้ว ไม่อาจใช้วิธีบังคับด้วยกำลังรุนแรง การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศกำลัง/ด้อยพัฒนา ก็หันมาเน้นทางอามิสสงเคราะห์มากขึ้น

ส่วนการนับถือพุทธศาสนา หมายถึงการเพียรพยายามฝึกฝนพัฒนาตนในการปฏิบัติตามหลักการที่พระพุทธเจ้าสอน โดยก้าวขึ้นไปจากพื้นฐานที่ตนเป็นอยู่ จนกว่าจะถึงจุดหมายสูงสุด

การปฏิบัติจะก้าวไปได้แค่ไหนเพียงไร ย่อมขึ้นต่อสิกขาคือการศึกษา ที่จะต้องเรียนรู้ให้เกิดปัญญามองเห็น จึงจะปฏิบัติได้ถูกต้องและบรรลุผล

เป็นธรรมดาของธรรมชาติว่า ปัญญานั้นเป็นคุณสมบัติที่ไม่อาจยัดเยียดใส่หรือบังคับให้เกิดขึ้นได้ แต่จะต้องพัฒนาขึ้นมาด้วยการฝึกฝนเรียนรู้ของแต่ละคน ซึ่งคนอื่นหรือศาสนาสามารถเกื้อหนุน

แต่จะช่วยได้แค่ไหนย่อมขึ้นต่อปัจจัยทั้งสองฝ่าย คือความพร้อมและความตั้งใจฝึกของตัวเขาเอง ฝ่ายหนึ่ง และสติปัญญาความสามารถพร้อมทั้งความใส่ใจตั้งใจในการช่วยเหลือของผู้ที่เข้ามาเป็นกัลยาณมิตร อีกฝ่ายหนึ่ง

ทั้งนี้หมายความว่า กัลยาณมิตรนั้นจะต้องเพียรพยายามช่วยเหลือเขาด้วยเมตตากรุณา และต้องพัฒนาความสามารถในการที่จะแนะนำสั่งสอนให้ได้ผล

การที่จะบังคับให้เขารู้เข้าใจ ย่อมเป็นไปไม่ได้ หรือจะให้อามิส ปัญญาก็เกิดไม่ได้เช่นเดียวกัน

แม้จะเอาในแง่ศรัทธา ไม่ว่าจะใช้อามิสล่อ หรือจะไปบังคับให้เขาเชื่อ ก็ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นของแท้จริง

อนึ่ง จุดมุ่งหมายของการสถาปนาพุทธศาสนาขึ้นในสังคม ก็เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน คือเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ตัวเขาเอง ไม่พูดถึงการที่เขาจะมานับถือหรือเป็นพวกของเราหรือไม่

ทั้งนี้ คำกล่าวที่แสดงจุดมุ่งหมายในการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาในสังคมก็ตาม ในการเผยแผ่พุทธศาสนาก็ตาม มีข้อความอย่างเดียวกัน ดังพระดำรัสส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาว่า

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อเมตตาการุณย์แก่ชาวโลก (“จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย” — วินย.๔/๓๒; ตัวพุทธศาสนาเองก็ดำรงอยู่เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนี้ เช่น ที.ม.๑๐/๑๐๗; ที.ปา. ๑๑/๑๐๘, ๒๒๕)

หลักการนี้ถือว่า พุทธศาสนามิใช่มีอยู่เพื่อตัวของพุทธศาสนาเอง แต่พุทธศาสนามีอยู่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน คือเพื่อมวลมนุษย์ที่เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ไม่มีการขัดแย้งโดยใช้กำลัง ระหว่างต่างนิกายในพุทธศาสนาในประเพณีพุทธ การคุ้มครองศาสนา คือให้ปฏิบัติการที่ตรงไปตรงมา ว่าตนนับถืออย่างไร >>

No Comments

Comments are closed.