ภาคผนวก: ถาม-ตอบ

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 58 จาก 58 ตอนของ

ภาคผนวก: ถาม-ตอบ1

 

พระมหาธีรพงษ์: ลักษณะของมนุษย์ที่อยู่รวมกัน ต้องมีการประนีประนอมอย่างไร

พระธรรมปิฎก: ประนีประนอมกันเท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีการประสานกลมกลืนกัน ให้เกิดสามัคคีเป็นเอกภาพ

พระมหาธีรพงษ์: ทีนี้ ในประเด็นที่ความจริงไม่สามารถประนีประนอมลงมายอมมนุษย์ได้ มนุษย์แต่ละคนก็มีท่าทีต่อความจริงต่างกัน ทีนี้ ลักษณะของมนุษย์ที่มีท่าทีต่อความจริง (จะลงตัวได้อย่างไร)

พระธรรมปิฎก: อ้าว ก็จะไปยากอะไรล่ะ ความเห็นต่อความจริงก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนแต่ละคนกับความจริงนั้น เราก็ไม่ต้องไปแทรกแซง ไม่ไปบังคับเขา เป็นเรื่องที่แต่ละคนเขาต้องแสวงหา

เมื่อมาอยู่ด้วยกัน เราต้องมองว่า แต่ละคนของเรานี้ยังไม่ถึงความจริงทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามช่วยกันหาความจริง หรือแม้แต่เห็นต่างกันก็เอามาเผื่อแผ่กัน ก็จึงรับฟังซึ่งกันและกัน

ท่าทีต่อกันระหว่างคนกับคน ก็เป็นเมตตาปรารถนาดีต่อกัน แต่คนก็สามารถมีความแตกต่างกันได้ทั้งที่อยู่ร่วมกันนั้น เพราะว่า ท่าทีต่อมนุษย์ด้วยกันเป็นเมตตา ส่วนท่าทีต่อความจริงของกฎธรรมชาติเป็นปัญญา

ปัญญาเป็นท่าทีต่อความจริงของธรรมชาติ อันนี้ไม่มีใครปฏิเสธได้ ความจริงนั้น ไม่เข้าใครออกใคร มันไม่มาประนีประนอมกับเรา เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องรู้มัน เมื่อยังไม่รู้ จะเอามันมาประนีประนอมให้ความเป็นจริงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่เราบอกเอา ตกลงกันเอาได้อย่างไร

ถ้าเราประนีประนอมความจริง ก็คือการหลอกตัวเอง และจะกลายเป็นว่า เรามาสร้างกำแพงกั้นตัวเองไม่ให้เข้าถึงความจริง การที่เราประนีประนอมความจริง ก็คือการมาช่วยกันสร้างภาพของความจริงขึ้นมาอย่างหนึ่ง เสร็จแล้วภาพที่เราสร้างขึ้นนั้นก็เลยไปบังของจริงเสีย

พระมหาธีรพงษ์: ถ้าอย่างนั้น ในกรณีที่มีนักคิดหลายๆ ท่าน พยายามที่จะอธิบายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

พระธรรมปิฎก: นี่แหละจึงบอกว่าแยกไม่เป็น แยกไม่ถูก เรานึกดูซิว่าตัวเราเองถึงความจริงหรือยัง เรามีสิทธิวินิจฉัยไหม ถ้าเราถึงความจริงแล้ว เราจึงจะวินิจฉัยได้ว่าคนนั้นคนนี้ถึงหรือไม่ ใช่ไหม

เพราะฉะนั้นก็ปล่อยให้ความจริงอยู่ตามที่มันเป็น แล้วเราก็พยายามเข้าถึงความจริงนั้น แต่ทำอย่างไรจะให้เราอยู่กันได้ โดยที่แต่ละคนก็ยังหาความจริงนี้ อันนี้ดีที่สุด ที่เป็นเครื่องหมายการพัฒนาของมนุษย์

เราอยู่ร่วมกันด้วยดี มีเมตตาต่อกัน และให้โอกาสแก่กันในการแสวงหาความรู้ในความจริงนั้น โดยที่เราก็สามารถเผื่อแผ่ความรู้ ความเข้าใจ ความคิดเห็นต่อความจริงนั้นแก่กันด้วย เรามีทางทำได้นี่ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ทุกคนก็อยากถึงความจริงนี้ และทุกคนก็จะต้องถึงความจริงนี้ในที่สุด จึงจะมีชีวิตที่ดีสมบูรณ์ได้

ดังนั้น ในระหว่างนี้ ถ้าเราปรารถนาดีต่อกัน มีเมตตาต่อกันจริง เราก็ต้องให้โอกาสที่แต่ละคนจะพยายามเข้าถึงความจริงนั้น ที่ตัวเราเองก็ยอมรับว่า ตัวเองก็ยังไม่เข้าถึง แล้วอย่างนี้เราก็จะอยู่กันด้วยดีด้วย พร้อมกับที่การแสวงหาความจริงก็ดำเนินต่อไปได้ด้วย

พระมหาธีรพงษ์: ทีนี้มีปัญหาว่า มีหลายทัศนะพยายามอธิบายว่า การเข้าถึงตัวความจริงนั้น มีทางเดียวเท่านั้น

พระธรรมปิฎก: อ๋อ เรื่องนี้สามารถพิจารณาได้ดังนี้

๑. เป็นวิธีพูด เราสามารถมีความเห็นได้ แต่เราอย่าไปตัดสิน พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักการไว้อย่างหนึ่ง เรียกว่า “สัจจานุรักษ์” เป็นท่าทีที่เรียกว่าการอนุรักษ์สัจจะ

มีสาระสำคัญว่า บุคคลสามารถกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นอย่างนี้” หรือว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าความจริงเป็นอย่างนี้” หรือว่า “เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ความจริงเป็นอย่างนี้” แต่ไม่ควรจะกล่าวว่า “อย่างนี้เท่านั้นเป็นความจริง อย่างอื่นเท็จทั้งนั้น”

อันนี้คือการอนุรักษ์สัจจะ (ดู ม.ม.๑๓/๖๕๖)

ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็ไม่อนุรักษ์สัจจะ กลายเป็นว่าตัวเรานี้ไปวินิจฉัยความจริง อันนี้เป็นท่าทีที่ชัดมาก แล้วก็เป็นท่าทีต่อศาสนาอื่นอย่างหนึ่ง เป็นกลางๆ ในแง่หลักการ

เพราะฉะนั้น เรามีสิทธิพูด ไม่เป็นไร พูดไปเลย “เท่าที่ผมเห็น เท่าที่ผมเข้าใจ ผมว่าความจริงเป็นอย่างนี้” แต่อย่าไปตัดสินว่าความจริงต้องเป็นอย่างนี้

คำของท่านใช้ว่า “อิทเมว สจฺจํ โมฆมญฺญํ” “นี้เท่านั้นจริง อื่นเท็จทั้งสิ้น” ถ้าพูดอย่างนี้แสดงว่าเป็นผู้ไม่อนุรักษ์สัจจะ

ท่าทีของการอนุรักษ์สัจจะคือ เรามีสิทธิ์ที่จะพูดว่า “เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ เท่าที่ข้าพเจ้าเห็น เท่าที่ปัญญาข้าพเจ้ารู้ มันเป็นอย่างนี้”

๒. เราจะพูดอย่างไรก็พูดไป แต่ให้สิทธิ์ คือปล่อยโอกาสให้คนอื่นเขาคิดเขาพิจารณาของเขา เราไม่ไปบังคับเขา ไม่ไปข่มขี่กดดันตลอดจนทำร้ายเขา ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้เขาเชื่อตามอย่างเรา หรือไม่ยอมให้เขาเห็นอย่างอื่นก็ตาม แค่นี้ก็อยู่กันได้

พระมหาธีรพงษ์: คำว่า “เอกายโน” ล่ะ

พระธรรมปิฎก: คำถามนี้เป็นคำบาลี เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจด้วย ขออธิบายประกอบนิดหน่อย “เอกายโน” แปลว่า ทางไปอันเอก หรือแปลง่ายๆ ว่าทางสายเดียว

คำถามก็หมายความว่า การที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ข้อปฏิบัติที่พระองค์สอน (ในกรณีนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔) เป็นทางเดียวที่จะให้บรรลุนิพพานนั้น จะไม่ขัดกับหลักการที่พูดข้างต้นหรือ

เรื่องนี้ขอให้ทำความเข้าใจเป็น ๒ ระดับ

ก. พูดอย่างกว้าง ถ้าเป็นคำตรัสของพระศาสดา ซึ่งเป็นการประกาศหลักการ หรือประกาศความจริง พระศาสดาก็ต้องตรัสลงไปให้ชัดเจนแน่นอนว่าความจริงเป็นอย่างไร เพราะพระศาสดานั้นถือว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้บรรลุหรือเข้าถึงความจริงแล้ว

เมื่อพระศาสดาสอน ก็ต้องตรัสแสดงออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชัดเจนลงไป พระศาสดาจะมัวไปแกว่งอยู่ ไม่เอาอันไหนให้แน่ลงไปสักอย่างได้อย่างไร

ถ้าแม้แต่องค์พระศาสดาเองก็ยังไม่ประกาศให้ชัดลงไป แล้วสาวกหรือลูกศิษย์จะไปมั่นใจได้อย่างไร อย่างที่บอกแล้วว่า ความจริงเป็นอย่างไรก็ตอบอย่างนั้น มันไม่ตามใจใคร ไม่เข้าใครออกใคร

เมื่อพระศาสดาเข้าถึงความจริงนั้น หน้าที่ของพระองค์ก็คือประกาศตรงไปตรงมาตามนั้น นี่ก็เป็นท่าทีต่อความจริงหรือต่อสัจธรรม

แต่ข้อสำคัญในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ก็คือ

๑) พระศาสดาตรัสเด็ดขาดลงไปอย่างนั้น เป็นข้อท้าทายทางปัญญา พระองค์ไม่ได้ไปบังคับใครให้เชื่อ ผู้ฟังทุกคนมีสิทธิใช้ปัญญาพิจารณา จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็แล้วแต่

๒) สาวกหรือลูกศิษย์ แม้จะเชื่อต่อพระศาสดา และมีความมั่นใจเต็มที่ แต่ก็ไม่มีสิทธิจะไปเคี่ยวเข็ญบังคับคนอื่นให้เชื่อตามพระศาสดาของตน

แต่สาวกหรือลูกศิษย์เหล่านั้น ก็มีสิทธิที่จะพูดว่า “พระศาสดาของข้าพเจ้าสอนว่าอย่างนี้” หรือว่า “ตามหลักพุทธศาสนา เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ๆ” นี้คือท่าทีและวิธีพูดของศาสนิกทั้งหลาย ซึ่งเป็นการนำเสนอให้ผู้ฟังใช้ปัญญาพิจารณาเอาเอง

แม้แต่ในหมู่สาวกหรือลูกศิษย์ด้วยกันเอง ในศาสนาเดียวกัน ก็ต้องใช้ท่าทีนี้ คือนำเสนอให้คนอื่นใช้ปัญญาพิจารณาเอาเอง เช่นพูดว่า “เรื่องนี้เท่าที่ข้าพเจ้าทราบเป็นอย่างนี้” หรือว่า “ธรรมข้อนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าอย่างนี้”

(ถ้าเป็นเรื่องของหลักฐานอ้างอิง ก็อ้างหลักฐานเช่นคัมภีร์ มาแทนคำว่าข้าพเจ้าทราบอย่างนี้ หรือข้าพเจ้ามีความเห็นว่าอย่างนี้)

เมื่อตนแสดงความเห็นแล้ว ก็ให้โอกาสคนอื่นพูดและฟังเขาบ้าง ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ ก็ไม่มีการปิดกั้นเสรีภาพทางปัญญาแต่อย่างใด และคนก็อยู่กันได้ด้วยดี

แต่ถ้าไม่ปฏิบัติอย่างนี้ ก็จะมีการบังคับ การทำร้ายรบราฆ่าฟันกัน แม้แต่ระหว่างศาสนิกในศาสนาเดียวกัน

ข. พูดเฉพาะในกรณีของคำว่า “เอกายโน” ที่ว่า ทางนี้เป็นทางเดียวสู่จุดหมาย อะไรทำนองนี้

คำทำนองนี้บางทีเป็นเรื่องของวิธีพูด ทั้งที่คำพูดมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่พูดออกมาต่างกัน ๒ แบบ ถ้าคนฟัง ฟังไม่เป็น ก็คิดว่า วิธีหนึ่งพูดจำกัดผูกขาด อีกวิธีหนึ่งพูดใจกว้างเปิดโอกาส แต่ที่จริงพูดได้ความอย่างเดียวกัน เช่น

วิธีหนึ่งพูดว่า “ทางใดก็ตามนำไปถึงจุดหมายได้ ก็ถูกต้องทั้งนั้น”

อีกวิธีหนึ่งพูดว่า “ทางอย่างเดียวที่ถูกต้อง คือทางที่นำไปให้ถึงจุดหมายได้”

หรือว่า “ทางที่ถูกต้อง จะต้องเป็นทางที่นำไปถึงจุดหมายอย่างเดียวเท่านั้น”

วิธีพูดอย่างแรก ผู้ฟังอาจรู้สึกว่าพูดใจกว้าง มีทางได้หลายทาง แต่พอพูดอย่างหลัง อาจรู้สึกตรงข้ามว่า เป็นการพูดจำกัดผูกขาด แต่ที่จริงก็อย่างเดียวกัน

ขอให้พิจารณาว่าพูด ๒ แบบนี้เหมือนกันไหม หรือมีความหมายต่างกันอย่างไร “ทางใดก็ตามที่มาถึงจุดหมายนี้ ใช้ได้” อีกท่านหนึ่งบอกว่า “ทางที่ใช้ได้ ต้องเป็นทางที่มาถึงจุดหมายนี้เท่านั้น” ต่างกันไหม

พระมหาธีรพงษ์: ก็หมายความว่าไม่เฉพาะ “มัชฌิมาปฏิปทา”

พระธรรมปิฎก: อ้าว ถ้าทางปฏิบัติถูก มันก็เป็น “มัชฌิมาปฏิปทา” เอง เพราะว่าทางที่จะถึงจุดหมาย มันมีองค์ประกอบเป็นอย่างนั้น หมายความว่าเราไม่ใช่พูดตามรูปแบบ แต่เราพูดตามหลักการ

ทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักการนั้น คือมีองค์ประกอบอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น จะเป็นทางไหน ก็ตาม พอถูกตรงได้ที่ ก็จะเป็นอย่างนั้นเอง ซึ่งเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา จึงจะให้ถึงความจริงที่เป็นจุดหมายได้

ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าทรงตั้งรูปแบบอะไรขึ้นมาเอง แล้วก็ตั้งชื่อเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา แล้วจะไปผูกขาดบังคับให้ความจริงมาเป็นตามรูปแบบที่ตั้งไว้นั้น

อีกอย่างหนึ่ง ก็ขอย้ำที่พูดเมื่อกี้ว่า เรื่องนี้เป็นการประกาศหลักความจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจะเชื่อหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของเรา พระศาสดาจะมัวไปแกว่งอยู่ ไม่เอาอันไหนสักอย่าง ได้อย่างไร เมื่อสอนสัจธรรมก็ต้องบอกไป แต่เรามีสิทธิคิดพิจารณานี่

พระพุทธเจ้าตรัสอย่างที่ว่าเมื่อกี้แล้วไง ที่เขาเข้ามาเฝ้า ทูลถามว่า “มีศาสดาหลายท่าน ท่านนี้ก็ปฏิญาณว่าท่านถึงความจริง รู้จริง ท่านนั้นก็ว่าฉันเท่านั้นที่รู้จริง” ก็ถามว่า “ทุกท่านนี่รู้ หรือทุกท่านนี้ไม่รู้ หรือบางท่านรู้ บางท่านไม่รู้”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อันนั้นหยุดไว้ก่อน เราจะแสดงธรรมให้ฟัง” แล้วก็ทรงแสดงหลักที่พระองค์เห็นว่าเป็นอย่างนั้น พระองค์ได้รู้อย่างนั้น พระองค์ก็มีสิทธิพูด และผู้ฟังก็มีสิทธิที่จะคิดเอา แต่ไม่ไปทำอะไรเขา ไม่ไปบังคับเขา

อ้าว! คุณจะฟังไหมล่ะ ถ้าคุณฟังฉันจะบอกให้ แล้วคุณไปคิดเอาเอง คุณจะเชื่อฉันหรือไม่เชื่อ คุณก็มีสิทธิทั้งนั้น และคุณจะไปพิจารณาลัทธิศาสนาอื่น คุณก็ไปพิจารณาเอา

นี่เป็นวิธีเปิดกว้างที่สุด ตัวเองก็มีหลักที่มั่นใจ แต่ก็เปิดใจให้เขาถือหลักของเขา ทั้งชี้แจงหลักของตัวแก่เขา พร้อมทั้งยินดีรับฟังเขาด้วย คือให้มนุษย์สามารถพูดจาแสดงความคิดเห็นกันได้อย่างเปิดอกเปิดใจ ด้วยจิตใจปรารถนาดีต่อกัน ไม่ใช่อยู่กันอย่างพร่ามัวสับสน หรือได้แค่คอยเอาอกเอาใจกัน

ทั้งหมดนี้ มันมาประสานกลมกลืนกันตรงที่ว่า ท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา ไปด้วยกันกับท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา ตรงนี้แหละที่ทำได้ยาก แต่ต้องทำให้ได้ และถ้าทำได้ก็เป็นเครื่องหมายของการพัฒนามนุษย์ ที่ถึงจุดสูงสุดสำหรับปุถุชน มนุษย์ปุถุชนทำได้ขนาดนี้ก็เรียกว่ายอดแล้ว

ประชาธิปไตยก็มุ่งอันนี้ ประชาธิปไตยก็ต้องมีหลักการชัดเจน ไม่ใช่อะไรก็ได้ แต่ก็ไม่ปิดกั้นใคร ไม่ไปผูกขาดบังคับ ไม่ใช้อำนาจ แต่เปิดโอกาสให้เขาใช้ปัญญาคิดของเขาได้ และก็มีการท้าทายทางปัญญาได้ด้วย อันนี้สำคัญมาก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวพระศาสดาเอง ต้องประกาศหลักการด้วยความมั่นใจ ถ้าไม่มีความมั่นใจ จะได้เรื่องได้ราวอะไร

ขอย้ำอีกครั้งว่า มนุษย์จะต้องใจกว้าง จึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติสุข ความใจกว้างนั้นดีแน่ แต่ ความใจกว้าง ไม่ใช่หมายความว่าอะไรก็ได้

ความใจกว้างมีหลักวัด หรือต้องใจกว้างอย่างมีหลัก ไม่ใช่ใจกว้างเกินสิทธิของมนุษย์ จนไปละเมิดความจริงเข้า ซึ่งจะกลายเป็นการทำร้ายตนเองของมนุษย์ หรือกลายเป็นว่ามนุษย์ที่ใจกว้างไม่เป็นนั้น เป็นผู้ทำร้ายมนุษยชาติ คือทำลายประโยชน์ของมวลมนุษย์ คิดว่าตัวใจกว้าง แต่ที่แท้คือแคบด้วยความเขลา

นั่นคือจะแสดงความใจกว้างโดยเอาความจริงหรือสัจธรรมมาประนีประนอมกันไม่ได้ ถ้าทำเช่นนั้นก็กลายเป็นการปิดกั้นมนุษย์ไม่ให้เข้าถึงสัจธรรม

ความจริงกำหนดมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์กำหนดความจริง สัจธรรมตัดสินมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์ตัดสินสัจธรรม

ทำไมจึงว่า “ความใจกว้าง” มีหลักวัด ความใจกว้างแท้อยู่ที่ความมีใจกล้าที่จะยอมรับความจริง แม้ว่าตนจะเคยคิดเห็นหรือรู้มาต่างออกไป แต่เมื่อเห็นประจักษ์แจ้งความจริง ก็สามารถยอมรับความจริงได้ นี่คือใจกว้าง

ไม่ใช่ว่า ใครจะพูดผิดพูดถูกพูดเท็จพูดจริงอย่างไรมา ฉันก็ยอมรับว่าถูกว่าจริงได้ทั้งนั้น แล้วบอกว่าฉันนี่ใจกว้าง

เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนและของมนุษยชาติทั้งหมด ที่จะต้องพัฒนาปัญญา เพื่อเข้าถึงความจริงหรือสัจธรรม มนุษย์จะบอกว่าตนจะใจกว้าง แล้วเอาใจกันโดยพากันกำหนดความจริงให้เป็นไปตามปรารถนาของตน ย่อมเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น มนุษย์จึงต้องใจกว้างมีเมตตาต่อกัน โดยร่วมมือส่งเสริมกันในการที่จะใช้ปัญญาอย่างเต็มที่ เพื่อจะรู้จะเข้าถึงสัจธรรมนั้น

นี้ก็คือหลักแห่งการมีท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา และมีท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา และต้องให้ท่าทีทั้งสองนี้มาเสริมกันให้ได้ ไม่ใช่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางกัน และนี่ก็คือเป้าหมายอย่างหนึ่งของการพัฒนามนุษย์

คุณสุทิน: ถามเกี่ยวกับที่ได้อธิบาย ๒ ประเด็นว่า ท่าทีของมนุษย์ที่มีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา กับท่าทีต่อมนุษย์โดยปกติทั่วไป คนก็แยกไม่ออกว่า การที่จะมีท่าทีต่อคนหรือต่อธรรมชาติ ควรจะมีท่าทีอย่างไร เพราะบางทีก็แยกไม่ออกว่า มนุษย์กับธรรมชาติ คือจะมองแยกกันไปครับ

พระธรรมปิฎก: คำว่าธรรมชาตินี่กำกวม เพราะอาจจะไปนึกถึงสิงสาราสัตว์ ต้นไม้ อันนี้ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องเมตตาเหมือนกัน แต่ในที่นี้หมายถึงความจริงของธรรมชาติ หรือตัวกฎธรรมชาติ

เราไม่มีทางที่จะสัมพันธ์กับตัวกฎธรรมชาติที่แท้ได้ นอกจากด้วยปัญญาที่รู้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จึงต้องเอาปัญญา ต้องรู้ด้วยปัญญา มนุษย์จำเป็นจะต้องพยายามเข้าถึงตัวความจริงนี้เสมอ เมื่อเขาต้องการเข้าถึงความจริงนี้ เขาก็ต้องพัฒนาปัญญา เพราะด้วยปัญญาจึงจะรู้ หรือจะเข้าถึงความจริงนั้นได้ ดังนั้นมนุษย์จึงมีหน้าที่พัฒนาปัญญาของตัวเองไปเรื่อย

ในกระบวนการพัฒนาปัญญานี้ ก็อย่าให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มาขัดขวาง แต่ควรจะเป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุน เมื่อมนุษย์มาสัมพันธ์กันและเกื้อหนุนกันในการที่แต่ละคนจะได้พัฒนาปัญญาของตน อันนี้จึงจะเป็นความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง

ในขั้นนี้ การที่แต่ละคนมาสัมพันธ์กันชนิดที่เกื้อหนุนต่อกันในการที่แต่ละคนจะพัฒนาตนเองในทางปัญญา ก็เป็นเมตตานั่นเอง ถูกไหม แยกได้ไหม ไม่ยากอะไรนี่

คุณสุทิน: คำถามที่ผมจะถามต่อไปก็คือว่า พอมนุษย์สับสน บางครั้งเราก็จะรู้สึกว่า ในการเข้าถึงความจริงของแต่ละท่าน ที่ท่านเจ้าคุณได้ตอบไปเมื่อครู่นี้ เวลาเรามองความจริงในเรื่องหนึ่ง คนก็อาจจะมองได้ไม่เท่ากัน

ทีนี้ พอมาถึงตรงนี้ ก็ทำให้มนุษย์ขัดแย้งกัน เพราะความรู้สึกที่มีต่อความจริง ที่มนุษย์คิดว่าจะเข้าถึง หรือควรจะเข้าถึง อยู่ในระดับที่ไม่เท่ากัน และมองได้ไม่เหมือนกัน ก็เลยทำให้สับสนว่าตัวความจริง มีเกณฑ์มาตรฐานที่จะรับรู้ได้เสมอเหมือนกันไหม ที่ท่านเจ้าคุณเรียกว่า “สากล”

พระธรรมปิฎก: ที่ว่าเป็นสากลนี้ ก็หมายความว่า ไม่จำกัดไม่ถูกแบ่งแยกด้วยบัญญัติของมนุษย์

ความจริงนั้นเป็นสากล มันก็เป็นของมันอย่างนั้น ไม่ขึ้นต่อใคร แต่ความรู้ความเข้าใจ หรือความรู้สึกของคนต่อความจริงนั้น ไม่เป็นสากล แต่เป็นของเฉพาะตัวของแต่ละคน เหมือนที่ว่า “บก” ก็มีก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เป็นสากล ไม่ขึ้นต่อใคร เสมอกันแก่ทุกคน แต่ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนความรู้สึกของแต่ละคนต่อบกนั้น อาจจะไม่เท่ากัน เป็นของเฉพาะตัวของบุคคลนั้นๆ

เพราะฉะนั้น ตอนแรกจะต้องแยกระหว่างความจริง กับความรู้สึกของบุคคลต่อความจริง ถ้าคนเข้าถึงความจริงมีปัญญาระดับเดียวกัน ก็รู้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น สำหรับตัวความจริงก็ปล่อยให้มันเป็นของกลางๆ ไป แต่คนทั้งหลายจะเข้าถึงความจริงแค่ไหน เราก็เปิดโอกาสสิ เพราะว่าท่าทีอนุรักษ์สัจจะก็บอกแล้ว ให้พูดได้ว่า เท่าที่ข้าพเจ้ารู้ ข้าพเจ้าเข้าใจ ว่าเป็นอย่างนี้ เท่าที่ข้าพเจ้ารู้เห็นเข้าใจ เป็นอย่างนี้ ฉันก็บอกให้คุณฟัง และคุณก็ลองฟังฉันสิ แล้วคุณก็คิดพิจารณาดูสิว่าเป็นอย่างนั้นไหม หรือเป็นไปได้ไหม นี้แหละคือเราเปิดโอกาสแล้ว

ข้อสำคัญเราอย่าไปเบียดเบียน อย่าไปบีบบังคับเขาสิ และเรายังมีท่าทีเมตตาและปรารถนาดี มาบอกมาชี้แจงให้เขาฟังว่า นี่นะคุณ เท่าที่ฉันเห็น ฉันได้คิดมาอย่างนี้ เหตุผลมีอย่างนี้ ฉันก็เล่าให้คุณฟัง

เมื่อคุณฟัง คุณก็มีสิทธิคิด ถ้าคุณไม่ปิดกั้นตัวเอง เมื่อคิดไป คุณก็อาจจะเห็นอะไรๆ เปลี่ยนไป อย่างนี้เรียกว่าเปิดโอกาสแก่กัน

เมื่อทำอย่างนี้ เราก็มีท่าทีต่อกันด้วยเมตตา พร้อมกันนั้นเราก็มีท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญาด้วย คู่กันไปเลย ไม่ต้องแยก

คุณสุทิน: ฟังดูเสมือนว่าจะเป็นหลักการที่สำคัญมาก แต่เมื่อมองในชีวิตมนุษย์จริงๆ แล้ว ผมอยากจะนึกภาพที่เป็นปัจจุบัน เป็นรูปธรรม อย่างเรามองไปที่รัฐสภา มองไปทางด้านการเมือง คนมีความรู้สึกต่อเรื่องหนึ่ง แต่ก็มองไม่เท่ากัน

หมายถึงว่า อย่างที่พระเดชพระคุณพูด เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่พอมาถึงชีวิตจริงแล้ว คนไปไม่ถึงระดับนั้น และก็จะเกิดข้อขัดแย้งตรงนี้มาก ก็จะยึดความจริง คือไปสัมปทานความจริง และก็จะยึดความจริงเป็นของเฉพาะกลุ่ม เฉพาะบุคคล ปัญหาตรงนี้ ผมไม่ทราบว่าจะคลี่คลายอย่างไรดี ถึงจะเป็นประโยชน์ต่อไป

พระธรรมปิฎก: ก็ต้องพัฒนามนุษย์ต่อไป การปฏิบัติต่อกันในการแสวงหาความจริงนี้ เป็นเครื่องวัดการพัฒนามนุษย์ ประชาธิปไตยในความหมายหนึ่งก็คือ ความพยายามที่จะนำหลักการนี้มาปฏิบัติให้เกิดผลจริง

ในเมื่อยอมรับว่าแต่ละคนมีความเห็นแตกต่างกัน ประชาธิปไตยก็ยุติด้วยเสียงข้างมาก แต่ไม่ใช่หมายความว่าตัดสินว่าถูก ไม่ใช่อย่างนั้น อย่าเข้าใจผิดว่าประชาธิปไตยเอามากเป็นถูก

ประชาธิปไตยที่เอาเสียงข้างมาก คือมายุติว่า เราเอาอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ตัดสินว่าความจริงเป็นอย่างนี้ คือ ตัดสินความต้องการ (ว่าเอาอย่างนี้) ไม่ใช่ตัดสินความจริง (ว่าเป็นอย่างนี้) เพราะความจริงไม่เคยเป็นไปตามคน ไม่ว่ามากหรือน้อย

ถ้าคนโง่หมื่นคนล้านคนพูดผิดอย่างเดียวกัน ก็ไม่มีทางถูก

คนสมัยก่อนเมื่อร้อยห้าสิบปีมาแล้ว บอกว่าโลกแบนหมดเลย ไปถามทั่วโลก ลงมติโลกแบนเรียบเลย ถ้าเอาเสียงข้างมากเป็นถูก โลกมันแบนตามไหม มันก็ไม่แบน และในเวลานั้น ถ้าเกิดมีคนมีปัญญาคนเดียวเถียงว่าโลกกลม เขาก็จับฆ่าเลย คนที่บอกว่าโลกกลม คนอื่นจับฆ่า ทั้งๆ ที่เจ้าคนเดียวนี้ถูก

ถูกไม่ถูกอยู่ที่ปัญญารู้ความจริง ไม่ใช่อยู่ที่คนจะเอาอย่างไร ฉะนั้น ประชาธิปไตยนี้คือ จะเอาอย่างไร ไม่ได้หมายความว่า ความจริงเป็นอย่างไร

เรื่องของประชาธิปไตย เป็นเรื่องของสังคมมนุษย์ ที่จะอยู่กันด้วยดีมีความสุขความเจริญ เราไม่ได้ไปตัดสินความจริง แต่เราตัดสินสิ่งที่ต้องการ หรือวัดความต้องการ

ความต้องการของมนุษย์นี้ปรับได้ว่าเราจะเอาอย่างไร แต่ความจริงนั้นไม่ขึ้นต่อใคร และไม่เข้าใครออกใคร อันนี้เป็นหลักหนึ่งที่บางทีคนเข้าใจประชาธิปไตยผิดพลาดไป

ประชาธิปไตยให้มาฟังกันตรงนี้ คือไม่ใช่ว่าคุณต้องเห็นตามฉัน แต่เราตกลงกันว่าเอาตามเสียงข้างมาก

คราวนี้เสียงข้างมากเอาอย่างนี้ ก็ตกลงเอาอย่างนี้ แต่ไม่ใช่หมายความเสียงข้างมากถูก

ต่อไป คุณที่รู้ความจริงนั้นไปพยายาม ไปชี้แจงอีก ชี้แจงไปด้วยความเพียร เจ้าคนนั้นคนเดียวมีปัญญา อีก ๕๐ คนโง่ อีก ๒๐ ปี เจ้า ๕๐ คนนี่จึงเห็นด้วย

โอ้โฮ! ใช้เวลาจนแก่ ชี้แจงแทบตาย กว่าจะได้เสียงข้างมากมาตรงกับความจริง

ฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นการพัฒนามนุษย์อย่างหนึ่ง เป็นการฝึกมนุษย์ให้รู้จักยอมรับฟังซึ่งกันและกัน อย่างน้อยก็เอาเสียงข้างมากเข้าตัดสิน แต่ไม่ใช่หมายความว่าจะเป็นการยุติความจริง

มนุษย์จะเป็นผู้ตัดสินความจริงไม่ได้ ธรรมชาติไม่เคยเข้าใครออกใคร มนุษย์จะต้องรู้ความจริง เข้าถึงความจริงด้วยปัญญา

ประชาธิปไตยก้าวไปด้วยกันกับการพัฒนามนุษย์ และเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย ก็ต้องมีการพัฒนามนุษย์อยู่เรื่อย เพื่อให้เสียงข้างมากที่เอาอย่างไรนั้น เป็นเสียงที่ถูกต้องตรงความจริงยิ่งขึ้นๆ

จุดสมบูรณ์ของประชาธิปไตย ก็อยู่ตรงที่คนได้พัฒนาไป จนถึงขั้นที่เสียงส่วนใหญ่สามารถเลือกเอาสิ่งที่ถูกต้องตรงกับความจริง

อ.ปรีชา: ลองพิจารณาจะเห็นว่า สังคมในพุทธศาสนา ในยุคพุทธกาลก็คือ melting pot และมานึกเปรียบเทียบกับในสังคมพุทธยุคปัจจุบันนี้ มองไปมองมามันอาจจะเหมือน salad bowl อย่างที่ว่า

หลวงพ่อคิดว่าปรากฏการณ์นี้จะอธิบายอย่างไร ว่ามันติดขัดตรงไหน ศาสนธรรมตั้งแต่ครั้งพุทธกาล จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้มันบิดเบือนหรือผิดแผกแตกต่างอย่างไร สมัยพุทธกาลเราเป็น melting pot อยู่แล้ว ก่อนอเมริกา ๒,๐๐๐ ปีแล้ว

พระธรรมปิฎก: อเมริกาเป็น melting pot ยังไม่จริง ตอนนี้ก็แย่แล้ว แต่เมืองไทยเป็นได้ดีกว่า เป็นมาโดยประเพณีเลย ถึงแม้ตอนนี้ที่อาจารย์ว่า ชาวพุทธไม่เป็น melting pot นี้ มันก็ไม่แตกกันถึงขนาดเบียดเบียนทำลายฆ่าฟันกัน

โดยทั่วไป ในวิถีไทยนี้ ถึงจะแตกแยกกันอย่างไร มันก็มีขอบเขตที่ว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อย่าให้ละเมิดในขั้นผิดศีล คืออย่าให้ถึงกับละเมิดต่อชีวิตร่างกาย ถึงจะทะเลาะกันก็อยู่ในขั้นของการใช้คำพูด

แต่จะทำอย่างไร ให้การพูดเป็นการพูดโดยใช้ปัญญา

มนุษย์สามารถมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ แต่มาพูดจากันสิ ขอให้ใช้ปัญญา ใช้เหตุ ใช้ผล ไม่ใช้แม้แต่ผรุสวาท ถ้าผรุสวาทก็จะเข้าเขตผิดศีลนั่นเอง คิดเห็นต่างกันก็ต้องใช้ปัญญา นี้แง่หนึ่ง

อ.ปรีชา: ตั้งแต่แรก หลวงพ่อพูดถึงคำว่า “รูปแบบ” เป็นเสมือนเครื่องมือที่จะทำให้เข้าถึง เข้าใจหลักการดีขึ้น

พระธรรมปิฎก: ใช่ รูปแบบนั้น

๑. รักษาหลักการไว้

๒. เป็นสื่อที่จะนำให้เข้าถึงหลักการ

๓. เป็นเครื่องจัดสรรสภาพเอื้อต่อการที่จะทำให้มนุษย์เข้าถึงหลักการได้ง่ายยิ่งขึ้น เป็นตัวหนุน เป็นวิธีการเป็นต้น

อ.ปรีชา: ทีนี้ผมอยากจะพูดถึงสังคมไทยในปัจจุบัน รูปแบบในปัจจุบัน ผมเข้าใจว่า ชาวพุทธส่วนใหญ่ในสังคมไทยอย่างผมค่อนข้างจะสับสนว่า จริงๆแล้วรูปแบบ รวมไปถึงพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการสะเดาะเคราะห์ การบังสุกุลเทียมบ้าง ต่ออายุ การสวดภาณยักษ์ มันเกิดความสับสนว่า นี่คือหลักการของพุทธหรือเปล่า

พระธรรมปิฎก: นี้แหละคือตัวอย่างที่เตือนใจให้ระลึกว่า รูปแบบต้องสัมพันธ์กับหลักการ

รูปแบบบางอย่างเป็นเนื้องอก มันเกิดขึ้นมาภายหลังโดยไม่ได้สัมพันธ์หรืออิงหลักการเลย แต่เป็นเพียงเครื่องสนองความต้องการของบางคนที่เฉไฉไถลออกไปบ้าง หรือเป็นเรื่องของการไปเจอสภาพแวดล้อมใหม่ เข้าไปในชุมชนใหม่ เขามีประเพณีบางอย่างก็รับเข้ามาบ้าง และสิ่งที่รับเข้ามานั้นต่อมาก็พัฒนารูปแบบ เปลี่ยนแปลงไป จนในที่สุดตัวรูปแบบนั้นก็ขัดตรงข้ามกับหลักการ จนเป็นคนละเรื่องกันเลยก็มี

กลายเป็นว่า แทนที่รูปแบบนั้นจะมาเอื้อหนุนหลักการ ก็กลับเป็นตัวทำลายหลักการหรือลิดรอนหลักการก็มี การที่มันคลาดเคลื่อนไปนี้ก็ด้วยเจตนาในใจเป็นปัจจัยสำคัญ เช่น ความโลภ ความต้องการผลประโยชน์ และโมหะ ความหลง ความไม่รู้จริง

อ.ปรีชา: เข้าใจว่าพระต้องมีหน้าที่ ต้องยังประโยชน์ต่อสังคม พระในปัจจุบันนี้ท่าทีที่จะปฏิบัติ ไม่ทราบว่าหลวงพ่อจะมีคำชี้แนะอย่างไร

พระธรรมปิฎก: กิจของพระสงฆ์ในการทำประโยชน์แก่สังคมคืออะไรนั้น มีหลักชัดเจนอยู่แล้ว แต่ความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนก็เกิดมีขึ้นได้อย่างที่บอกไปแล้วว่า เป็นเพราะ

๑. โลภะ เช่น อยากได้ลาภสักการะผลประโยชน์

๒. โมหะ ความหลง ความเขลา ความไม่รู้ ความงมงาย

โมหะก็สำคัญ เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่มีการศึกษา ไม่รู้หลักการของพุทธศาสนา แม้แต่ตัวพระเองก็จะปฏิบัติเพี้ยนผิดได้ง่าย รูปแบบที่ตัวทำมา ไม่รู้ว่าสาระคืออะไร ความหมายคืออะไร จุดมุ่งหมายคืออะไร ก็ทำไปตามที่นึกเอาคิดเอา มันก็คลาดเคลื่อนไป

บางทีเจตนาดีก็มี เมื่อบวชเป็นพระแล้วก็อยากทำประโยชน์ให้ญาติโยม อยากจะสงเคราะห์ช่วยเหลือเขา แต่เพราะไม่รู้ว่าบทบาทที่แท้ของตัวควรทำอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ ก็เลยนึกว่าอย่างนี้คือเป็นประโยชน์ เราให้หวย ญาติโยมก็จะได้ลาภจะได้รวยบ้าง อย่างนี้เรียกว่า อยากทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านใช่ไหม

แล้วจะตัดสินอย่างไร เราก็บอกว่าท่านเจตนาดี แต่มันเป็นโมหะ เพราะไม่รู้หลักการของพุทธศาสนา ไม่รู้ว่าประโยชน์แท้จริงที่ตนควรทำคืออะไร

แค่รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ แค่นี้ก็ยากแล้วใช่ไหม คนเรา เมื่อไม่มีปัญญา ก็ยึดเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นประโยชน์ไป เข้าใจสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระไปก็มี เราจึงต้องย้ำเสมอถึงหลักการศึกษา พุทธศาสนาจึงให้มีชีวิตเพื่อการศึกษา เพราะฉะนั้น พระขาดการศึกษาไม่ได้

ทีนี้ตอนหลัง ไตรสิกขาหรือการศึกษาเสื่อมทรามลง มันก็เพี้ยนไปเรื่อยๆ ในเมื่อตัวหลักการที่มีอยู่เป็นเนื้อหาในรูปแบบนั้นหายไป รูปแบบก็เหลืออยู่สักแต่ว่าเป็นรูปแบบ ก็กลายเป็นเปลือกหุ้มไว้เฉยๆ ทั้งๆ ที่ว่าเนื้อไม่รู้ว่าอยู่หรือเปล่า เหลือแต่เปลือก หรือมีแก้วแต่น้ำไม่มี ก็รักษารูปแบบเอาไว้ โดยปราศจากเนื้อหา

ต่อมา แก้วน้ำที่แต่เดิมเคยใส่น้ำ ก็เอาไปใส่เหล้า รูปแบบยังอยู่ แต่ของเดิมเขามีไว้ใส่น้ำ ตอนนี้เอามาใส่เหล้า รูปแบบเป็นของเดิม แต่เนื้อหาเปลี่ยนไป ของแท้หาย ของที่มีอยู่คือเทียม แล้วจะว่าอย่างไร

ฉะนั้น ต้องระวังไว้เรื่องรูปแบบ เป็นอันว่าเดิมนั้นสาระกับรูปแบบสัมพันธ์กันดี โดยที่ว่าเบื้องแรกมีสาระหรือหลักการก่อน

เรามีหลักการที่เป็นสาระอยู่แล้ว จึงสร้างรูปแบบขึ้นมารักษามัน และใช้เป็นสื่อ เหมือนกับว่า เรามีน้ำ แต่จะทำอย่างไรจึงจะเก็บน้ำไว้ใช้ได้สะดวก เช่นดื่มน้ำได้ตามใจประสงค์ เราก็ประดิษฐ์แก้วขึ้นมา ทำให้ใช้ประโยชน์ได้สะดวก จะดื่มจะกินก็ง่าย คนก็เข้าถึงน้ำได้ทันที ไม่ต้องเดินลงไปที่สระที่บ่อกันอยู่เรื่อย

แต่ก็อย่างที่ว่าแล้ว จะต้องให้สัมพันธ์กัน ระหว่างรูปแบบกับเนื้อหา ถ้าไม่เช่นนั้น ตอนหลังรักษาเพียงรูปแบบเอาไว้ ไม่รู้ว่าเขามีแก้วไว้ใส่อะไร ก็เลยเอาไปใส่น้ำตาลเมา เอาไปใส่เหล้า นี้แหละมันยุ่งอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีการศึกษา ก็ไปสู่โมหะ

ชีวิตพระสืบต่อมาด้วยรูปแบบ เช่นปลงผมห่มจีวร และรูปแบบนั้นมากับเนื้อหาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นการศึกษาตลอดเวลา ขาดไม่ได้

เพราะฉะนั้น รูปแบบคือสถาบันสงฆ์นี้จะให้ขาดการศึกษาไม่ได้ ถ้าขาดปั๊บ ตัวรูปแบบก็จะเริ่มเพี้ยนจากหลักการทันที

สังฆะนั้นดำรงอยู่โดยมีความสัมพันธ์กับประชาชนหรือสังคมส่วนรวม และในการสัมพันธ์กับประชาชนนั้น พระภิกษุแต่ละรูป มีหน้าที่ตามหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือธรรมทาน แปลว่าการให้ธรรม คือเผยแผ่ธรรม ซึ่งก็คือการนำเอาประโยชน์หรือผลที่ได้รับจากการเรียนรู้ศึกษาพัฒนาของตนเอง ไปเผื่อแผ่ให้แก่ประชาชน เพื่อให้การศึกษาขยายออกไปในสังคมกว้างขวางออกไป

พูดง่ายๆ การเผยแผ่ธรรม ก็คือการแผ่ขยายการศึกษา

พระพุทธเจ้าทรงต้องการให้ธรรม คือหลักการที่เป็นเนื้อหาสาระ เกิดประโยชน์แก่คนจำนวนมาก กว้างออกไป จึงทรงตั้งสังฆะเป็นรูปแบบขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งรักษาและสื่อและสร้างสภาพเอื้อที่จะช่วยให้คนเข้าถึงธรรมที่เป็นเนื้อหาสาระนั้น

ทีนี้ต่อมาเรามีรูปแบบรักษาไว้ แต่สาระคือการศึกษาไม่ค่อยมี บางทีก็ละทิ้งไปเลย เมื่อการศึกษาไม่มี ปัญญาไม่มา โมหะก็เข้ามาแทน เมื่อโมหะเข้ามาแทน ก็ไม่รู้ว่ารูปแบบนี้มีเพื่ออะไร สาระคืออะไร ก็อาจจะเอาเนื้ออื่นมาใส่ มันก็เพี้ยนไป

ฉะนั้น นานๆ เราจะต้องมาชำระสะสางกันบ้างว่า สำหรับรูปแบบนี้ ที่จริงสาระคืออันนี้ และเพื่อป้องกันมิให้ผิดพลาด ก็ต้องพยายามให้การศึกษากันตลอดเวลา นั่นคือให้รูปแบบนี้รักษาตัวเนื้อหาที่เราต้องการไว้ ไตรสิกขาจึงขาดไม่ได้

แต่บางทีเราก็ห่างเหินจากหลักการมาก จนมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมต่างๆ ในคณะสงฆ์ ว่าสัมพันธ์โยงไปถึงไตรสิกขาอย่างไร เรามองไม่ชัด ไม่ตลอด ไม่เกี่ยวโยงเป็นระบบ ว่าแท้ที่จริงเราทำไปเพื่ออะไร เช่นเรามีการปกครองพระสงฆ์ เราพูดกันว่าปกครองเพื่อความเรียบร้อย

แต่ความเรียบร้อยนั้นไม่ใช่เป็นจุดหมาย ความเรียบร้อยเป็น means ไม่ใช่เป็น end

แม้แต่สังคมสมัยใหม่นี้ก็ยังเข้าใจผิด นึกว่าการปกครองมีจุดหมายเพื่อให้สังคมเรียบร้อย และอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข

ความจริง การปกครองนี้ ที่ว่าเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยเป็นต้นนั้น ก็เพื่อเป็นสภาพเอื้อต่อการที่มนุษย์จะได้ก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีงาม ทำการสร้างสรรค์เป็นต้นได้สะดวก อันนี้ต่างหากที่เป็นจุดหมาย

ความเรียบร้อยเป็นสภาพเอื้อต่อการที่จะทำอะไรๆ เพื่อบรรลุจุดหมายที่สูงขึ้นไปอีกเท่านั้น

การปกครองคณะสงฆ์ก็เพื่อสร้างสภาพเอื้ออันนี้ โดยจัดสรรความเป็นอยู่ และระบบความสัมพันธ์ต่างๆ ตลอดจนแบบแผนการดำเนินชีวิตทั่วไป ให้เอื้อต่อการที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อก้าวไปในไตรสิกขา ที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมาย คือเพื่อพระนิพพาน

ทำอย่างไรเราจะไปนิพพานกันได้ดี โดยมีโอกาสปฏิบัติพัฒนาตนกันขึ้นไปในไตรสิกขาได้เต็มที่ ก็ต้องมีความเป็นอยู่ที่เป็นระเบียบ มีวินัย ต้องมีสภาพการดำเนินชีวิตอย่างนี้ๆ เพื่อให้การปฏิบัติสู่จุดหมายเป็นไปได้ง่าย

ดังนั้น การปกครองจึงมีขึ้นเพื่อสร้างสภาพเอื้อ เช่นความเรียบร้อยเป็นต้น ให้ความเรียบร้อยเป็นต้นนั้น เป็นสภาพเอื้อต่อการที่ทุกคนในชุมชนนั้น จะได้ดำเนินกิจแห่งการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน เพื่อเข้าสู่จุดหมายที่ตั้งไว้อีกที

การปกครองปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่ต้องมาวิเคราะห์กันให้ดี ว่ามีเพื่ออะไร ถ้ามีเพื่อความสงบเรียบร้อย เพื่อความสุข ก็ตัน ไม่มีทางเดินต่อ คนก็หยุด พอหยุดก็เพลิน สบาย เสวยความสุข ทีนี้ก็เสื่อมละ

เพราะฉะนั้น สังคมที่มีจุดหมายแค่ปกครองเพื่อความสงบเรียบร้อย จะต้องเข้าสู่วงจรของความเจริญแล้วก็เสื่อม เพราะว่า จุดหมายของการปกครอง เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการดำเนินสู่วัตถุประสงค์ของชีวิต ตามธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องเรียนรู้ ฝึกฝนพัฒนาตนให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงาม

ดังได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตที่ดีงามนั้น มนุษย์จะไม่ได้มาเปล่าๆ แต่จะได้มาด้วยการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนเท่านั้น เราจึงมีคำถามที่ทำให้เกิดการปกครองขึ้นว่า ทำอย่างไรจะให้มนุษย์ได้เรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนได้ดี ก็ต้องสร้างสภาพเอื้อให้เขาสิ เพราะถ้ามัวแต่แก่งแย่งช่วงชิงกันอยู่อย่างนี้ คนจะไปพัฒนาชีวิตและสังคมได้อย่างไร

เมื่อคนอยู่กันดี ปกครองให้สงบเรียบร้อยดีแล้ว แต่ละคนก็ได้สภาพแวดล้อมที่อำนวย ก็สามารถสร้างสรรค์พัฒนาชีวิตของตนให้เข้าสู่ความสมบูรณ์ต่อไป

เพราะฉะนั้น การปกครองนี้ ในทางพุทธศาสนาจึงถือเป็นเครื่องมือของการศึกษา

พระพุทธเจ้าตั้งสังฆะ เป็นชุมชนขึ้นมา โดยมีสาระสำคัญคือการศึกษา เพื่อให้คนที่เข้ามาได้พัฒนาตนเต็มที่ แต่เพื่อให้ชุมชนนี้อยู่ในภาวะที่เอื้อต่อการศึกษานั้น ก็เลยต้องจัดการปกครอง การปกครองก็เพื่อจะเอื้อต่อการศึกษา และการปกครองก็เป็นเครื่องมือของการศึกษา

ต่อมา เรามีสถานที่ มีการสร้างอาคารต่างๆ เพื่ออะไร ก็เพื่อให้กิจกรรมในการพัฒนามนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยดี ที่อยู่ ก็เพื่อจะให้เขาไม่ต้องลำบากลำบน เขามีที่อยู่สบาย เขาจะได้ตั้งใจศึกษาได้เต็มที่ เรามีศาลา เขาจะได้มาประชุม มาฟังธรรม มาถกเถียงปัญหา

ทั้งหมดนี้ก็รวมเข้ามาเพื่อจุดหมายอันเดียวกัน คือเพื่อทุกคนจะได้มีโอกาสศึกษาพัฒนาชีวิตไปสู่ความดีงามสมบูรณ์

สิ่งที่มีขึ้นในคณะสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง การเผยแผ่ หรือการก่อสร้างสาธารณูปการ ล้วนมีขึ้นเพื่อการศึกษานี้ทั้งนั้น

มันไม่ใช่แยกกันไปเป็นส่วนๆ ต่างหากกันแบบ reductionist view ที่แยกเป็นชิ้นส่วน บอกว่า การปกครอง เพื่อให้เรียบร้อย การเผยแผ่ เพื่อให้คำสอนของพระพุทธเจ้าแพร่หลายออกไป การก่อสร้าง เพื่อให้วัดมีอาคาร เลยแตกกระจายกันออกไปหมด

ที่จริง อาคารทุกอย่างทุกหลังมีขึ้นเพื่ออะไร ก็เพื่อเกื้อหนุนชีวิตและกิจกรรมแห่งการศึกษาทั้งนั้น แล้วการเผยแผ่เพื่ออะไร การเผยแผ่ก็เพื่อช่วยให้ผู้อื่นได้ศึกษา เพื่อเขาจะได้เรียนรู้วิธีพัฒนาตนเองขึ้นมาด้วย คนจะได้เข้าถึงการศึกษากันอย่างกว้างขวางเท่าที่จะเป็นไปได้

เพราะฉะนั้น กิจกรรมทั้งหมดของพระก็มีสาระอยู่ที่การศึกษาเท่านั้นเอง คือเพื่อช่วยพัฒนาชีวิตตนเองให้ดีงามสมบูรณ์ และเพื่อช่วยคนอื่นให้เขาพัฒนาชีวิตของเขา ทุกอย่างรวมเป็นอันเดียวกันหมด

พระมหาเกรียงไกร: ขอกลับไปที่อินเดียนะครับผม กระผมขออ้างข้อเขียนของ Edward Conze ที่ได้เขียนเอาไว้ในบทที่ ๕ ข้อความตอนหนึ่งบอกว่า

“สาเหตุหนึ่งที่พระพุทธศาสนา ได้หมดไปจากประเทศอินเดียนั้น เนื่องจากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ใหม่ หรือฮินดู”

กระผมเองอยากทราบทรรศนะ ความเห็นของพระเดชพระคุณ ว่าเป็นอย่างที่ Edward Conze ได้วิจารณ์หรือเปล่า

พระธรรมปิฎก: เรื่องนี้เกิดจากปัจจัยทั้งภายใน และภายนอก คือเราต้องมองหลายๆ ด้าน

ในพุทธศาสนาเอง พระก็เสื่อม พระเองมัวมายุ่งกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง บางทีก็ไปเห็นแก่ลาภสักการะ บางทีก็ห่างเหินจากประชาชน บางทีก็มัวมาถกเถียงปัญหาทางอภิปรัชญา ไม่เข้าถึงประชาชน และบางทีก็ไปยุ่งกับไสยศาสตร์ เรื่องเหลวไหลทั้งหลาย รวมแล้วหลายเรื่อง

พร้อมกันนั้นก็มีปัจจัยภายนอกด้วย ในด้านศาสนาพราหมณ์ เมื่อกี้ก็บอกไปแล้วว่า หลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชไม่นาน พราหมณ์ก็กำจัดราชวงศ์ของพระองค์เสีย แล้วตั้งราชวงศ์พราหมณ์ขึ้น พร้อมทั้งกำจัดพุทธศาสนา

การใช้ความรุนแรงอย่างนี้มีขึ้นเป็นระยะๆ ในประวัติศาสตร์ แต่โดยทั่วไป เขาพยายามแข่ง โดยปรับปรุงตัวขึ้นมา บางทีก็แข่งด้วยการเอาอย่าง อย่างศังกราจารย์ก็ตั้งคณะสงฆ์ฮินดูขึ้น

แต่ก่อนฮินดูไม่มีชุมชนนักบวช ไม่มีสังฆะ ไม่มีวัดอยู่ เพราะพราหมณ์อยู่บ้าน เป็นผู้มั่งคั่งมีอิทธิพล บางทีก็เป็นผู้ปกครองบ้านเมือง แทบจะเป็นแคว้นเลย พราหมณ์บางคนปกครองถิ่นใหญ่ๆ พระเจ้าแผ่นดินให้อำนาจ พราหมณ์ใหญ่ๆ มีทรัพย์สินมาก ศัพท์บาลีเรียกว่า “พราหมณมหาศาล”

ครั้นมาถึงสมัยหลัง พระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้น ศาสนาพราหมณ์อับรัศมีลง เมื่อจะฟื้นฟูขึ้น ก็ต้องแข่งกับพุทธศาสนา จึงคิดว่าทำอย่างไรจะสู้กับพุทธศาสนาได้ ศังกราจารย์ก็ตั้งสังฆะของฮินดูขึ้น และตั้งวัดขึ้นมาให้สังฆะของเขาอยู่ ๔ ทิศ

พอดีกับพุทธศาสนาเริ่มเสื่อมจากชนบท พระเข้าไปออไปสุมกันอยู่ในเมือง ได้รับการอุปถัมภ์อย่างดี วัดในชนบทถูกทิ้งรกร้าง นักบวชฮินดูก็ค่อยๆ เข้าไปแทรก ต่อมาก็กลืนวัดพุทธไป วัดพุทธก็กลายเป็นวัดฮินดูไป

เดี๋ยวนี้ก็ยังมีหลักฐานจากอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของฮินดูในปัจจุบัน เขาพูดเองว่า สถานที่มีชื่อเสียงเป็นศูนย์ใหญ่ของฮินดูในปัจจุบัน แต่ก่อนเป็นวัดของพุทธ สวามีวิเวกานันทะ กล่าวว่า

“วัด(ฮินดู)ที่ชคันนาถนั้นเป็นวัดพุทธเก่า พวกเรายึดเอาวัดนี้และวัดอื่นๆ มา แล้วทำให้เป็นฮินดูเสีย เรายังจะต้องทำอย่างนี้อีกมาก”2

นี่ก็วิธีหนึ่ง

อีกวิธีหนึ่ง ก็สร้างทฤษฎีนารายณ์อวตารขึ้นมา ดังที่ปรากฏในคัมภีร์วิษณุปุราณะ เขียนเป็นเรื่องราวให้พระพุทธเจ้าเป็นนารายณ์อวตารลงมา เรียกว่า “พุทธาวตาร” เป็นอวตารปางที่ ๙ ของพระนารายณ์ เพื่อให้คนเข้าใจว่าพระพุทธเจ้ามิใช่ใคร ก็เป็นพระนารายณ์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าของฮินดูนั่นเอง เลยกลืนเอาพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของฮินดู

แต่ที่เขาให้เป็นพุทธาวตารนั้น อวตารลงมาทำไม เขาบอกว่า อวตารลงมาเพื่อหลอกคน เป็นพระนารายณ์ปางหลอกลวง โดยที่ว่าชาวพุทธนั้นเขาถือว่าเป็นอสูร

เขาเขียนไว้ว่า ตอนนั้นอสูรมีกำลังมาก เขาสร้างเรื่องให้กลมกลืนโดยบอกว่า พระนารายณ์อวตารเป็นพระพุทธเจ้าลงมาเพื่อหลอกอสูรให้ออกไปจากลัทธิประเพณีของศาสนาฮินดู เช่นไม่ให้บูชายัญเป็นต้น อสูรจะได้ไม่เป็นเหมือนเทวดา จะได้หมดฤทธิ์ เพราะเทวดาต้องบูชายัญ ต้องนับถือวรรณะ จึงมีฤทธิ์มีอำนาจ

เขาบอกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าหลอกพวกอสูรให้แยกออกไปเป็นพวกหนึ่งต่างหากแล้ว ต่อไปในอนาคตกาลเบื้องหน้า เทพเจ้าจะได้ลงมากำจัดอสูรได้ง่าย3

ชาวพุทธบางคนหรือมากคนทีเดียวไม่รู้ ก็นึกว่า โอ! ทางฮินดูเขาดีนะ อุตส่าห์ยกให้พระพุทธเจ้าเป็นพระนารายณ์ นึกว่าเขามีเจตนาดีแบบของเขา เพราะเขานับถือเทพเจ้าก็เลยยกให้พระพุทธเจ้าเป็นพระนารายณ์

แต่เปล่าหรอก เขาให้เป็นนารายณ์ปางหลอกลวง ที่เรียกว่าพุทธาวตาร และพร้อมกันนั้นก็เอาพระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดูด้วย เขามีวิธีการมากในการที่จะกลืนพุทธศาสนา

ที่ว่านี้เป็นเรื่องเก่า ซึ่งเป็นตัวอย่างของการที่ศาสนาพราหมณ์ได้ปฏิบัติต่อพุทธศาสนา และเป็นเหตุหนึ่งของการสูญสิ้นของพุทธศาสนาจากอินเดีย

แต่รวมแล้วมีหลายปัจจัย คือมีทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก

การทำลายครั้งสุดท้าย หรือ “final blow” มาจากกองทัพมุสลิม ซึ่งกรีฑาทัพมาเมื่อ พ.ศ.๑๗๐๐ คราวนี้เรียบเลย

นักประวัติศาสตร์มุสลิมเขียนไว้เองด้วยความภูมิใจ และฝรั่งไปคัดลอกเอามา

เขาบอกว่า เราไปไหนก็รบ เราได้รบนี้เพื่ออัลเลาะห์ และเมื่อไปรบ เราจับผู้คนได้มากมาย เราก็ให้เขาเลือกเอาระหว่างดาบกับอัลเลาะห์ พุทธศาสนาก็หมดเลยตอนนั้น พระไม่มีเหลือ ที่ตายก็ตายไป ที่หนีได้ก็ไปอยู่เนปาล ไปอยู่ทิเบต ไปพม่าก็มี

ในทิเบตยังมีข้อความจารึกไว้ พร้อมเอกสารที่ช่วยให้รู้ว่าพระเหล่านี้หนีไป ทำให้เห็นร่องรอยตอนท้ายของพุทธศาสนาที่เสื่อมมาก แม้แต่นาลันทาตอนนั้นก็เป็นดินแดนของตันตระ พระพุทธศาสนายุค พ.ศ.๑๕๐๐ เป็นต้นมา เป็นตันตระที่เสื่อมโทรมอย่างยิ่งแล้ว และไสยศาสตร์ก็เฟื่องฟูเต็มที่

อย่างที่ทิเบตมีหลักฐานเล่าไว้ว่า พระเหล่านี้ เวลากองทัพมุสลิมเข้ามา บางองค์ก็บอกว่าจะแสดงอิทธิปาฏิหารย์ ว่าฉันเก่ง ฉันมีพัดศักดิ์สิทธิ์จะเอามาโบก กองทัพทั้งหมดจะแตกกระจัดกระจายไป ที่ไหนได้ แตกอะไร ตัวเองตาย

นี้ก็คือ ความหมกมุ่นในไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งแห่งความเสื่อมสลายของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นจะต้องจำบทเรียนเก่าไว้ให้ดี

ไสยศาสตร์ นี้เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนตกอยู่ในความประมาท เพราะทำให้คนได้สิ่งกล่อมใจ คนเราพอได้สิ่งกล่อมก็สบาย ทำให้เข้าใจว่าไม่เป็นไรแล้ว ก็ไม่เพียรพยายาม

เหมือนกับนกกระจอกเทศ ตัวมันโย่ง มันวิ่งหนีภัย เมื่อหนีไปๆ แล้ว มันจะเอาหัวซุกทราย พอเอาหัวซุกทรายมองอะไรไม่เห็น มันก็นึกว่ามันปลอดภัยแล้ว คนที่อยู่ด้วยการกล่อมใจก็เป็นอย่างนี้ ไม่เร่งคิดแก้ไขภัยอันตราย ตัวเองก็เลยตาย

ไสยศาสตร์เป็นเหตุให้เกิดความประมาท ทำให้ครึ้มใจว่ามีอำนาจวิเศษจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ จะป้องกันได้ ก็เลยไม่ขวนขวาย ไม่เพียรพยายามในการคิดแก้ไขปัญหา

สิ่งกล่อมในสังคมไทยมีมากเหลือเกิน น่ากลัวมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องย้ำกันอย่างยิ่ง เวลานี้คนไทยอยู่ด้วยลัทธิรอผลดลบันดาลกันมาก พอนึกว่าจะมีอำนาจพิเศษภายนอกมาช่วย ก็กล่อมใจตัวเองให้ครึ้ม บางทีก็นอนรอความช่วยเหลือ

ในทางตรงข้าม ถ้าหวังพึ่งอะไรไม่ได้ คนก็จะต้องดิ้น ต้องขวนขวาย เพราะฉะนั้น คนที่ไม่มีที่พึ่ง บางทีกลับเข้มแข็ง เพราะต้องดิ้นรนต่อสู้ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องให้เป็นที่พึ่งแบบไม่ช่วย

ที่พึ่งแบบไม่ช่วย หมายความว่า จะไปหวังหรือรอท่านไม่ได้ อย่างศาสนายิว พระยะโฮวาบอกแผ่นดินแห่งสัญญาไว้ คือ Promised Land หรือ The Land of Promise ว่าในกาลเบื้องหน้าไกลโพ้น อีกหลายพันปีนะ ท่านจะได้ไปอยู่ในถิ่น ที่เรียกว่าแผ่นดินแห่งสัญญา แล้วจะมีความสุขสมบูรณ์

แผ่นดินแห่งสัญญาอีกตั้งหลายพันปี หรืออีกเท่าไรก็ไม่รู้ พระเจ้าช่วยตอนโน้น แต่ตอนนี้ท่านต้องช่วยตัวเองไปก่อน

วิธีของยิวนี้ทำให้มีความหวังระยะยาว แต่เฉพาะหน้าเวลานี้จะไปหวังให้ท่านช่วยไม่ได้ คุณต้องเพียรพยายามช่วยตัวเอง เพราะฉะนั้นยิวก็เข้มแข็ง เพราะต้องดิ้นรนต่อสู้ทุกอย่าง แต่หวังไว้ไกล เป็นเครื่องปลอบประโลมใจ เหมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจ และมีเป้าหมายที่รวมใจคน

ถึงชาวศาสนาคริสต์ก็ต้องอ้างว่าพระเจ้าจะช่วยแต่คนที่ช่วยตัวเอง ถ้าให้หวังพึ่งปั๊บ แย่ทันที พอเราไปหวังพึ่งอำนาจภายนอกช่วย ก็เริ่มกล่อมใจตัวเอง สบาย ไม่ดิ้นรนขวนขวาย

จึงต้องบอกว่า พระเจ้าช่วยผู้ที่ช่วยตัวเอง ช่วยตัวเองสิแล้วพระเจ้าจะช่วย อะไรทำนองนี้

หมายความว่า จะใช้วิธีใดก็ตาม ต้องให้คนไม่ประมาท คนต้องทำ

สำหรับชาวพุทธนั้น หลักการก็ชัดว่า ต้องทำให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน แต่กลับไปเพี้ยนเสียนี่ ไปหวังพึ่งอะไรก็ไม่รู้มาปลอบใจ มีสิ่งกล่อมใจมาก เลยหนักเข้าไปอีก ก็อยู่ด้วยความประมาท

ถ้าอยู่ด้วยความประมาท ชีวิตและสังคมก็ต้องเสื่อมโทรม หายนะก็ต้องมา สังคมไทยนี้ มีลักษณะที่ทำให้พูดได้ว่าประมาทมาก เพราะฉะนั้นเราต้องย้ำมากเรื่องไม่ให้ประมาท

คนไทยยุคนี้หาสิ่งกล่อมมาย้อมใจกันมาก กล่อมด้วยสุรา ให้ครึ้มใจหลบทุกข์ไปทีหนึ่งๆ กล่อมด้วยการพนันว่าจะให้ได้ลาภลอยมาง่ายๆ กล่อมด้วยยาเสพติด กล่อมด้วยไสยศาสตร์ กล่อมด้วยเจ้าพ่อเจ้าแม่ ฯลฯ แม้กระทั่งสมาธิก็เอามาใช้กล่อมให้ผิดทางเขวไป

เวลานี้ต้องระวังเหมือนกัน มีการใช้สมาธิเพื่อกล่อมกันมาก สมาธิกลายเป็นเพียงเครื่องช่วยให้หลบความทุกข์ หลบปัญหา ทำให้สบายใจ แค่ไว้หาความสุข ก็เลยไม่ใช้ปัญญาคิดค้นแก้ปัญหา

หลักการในพุทธศาสนาบอกว่า สมาธินั้นเป็นองค์หนึ่งในไตรสิกขา ต้องเป็นปัจจัยส่งต่อสู่ปัญญา ให้ก้าวต่อไป ไม่ใช่เพื่อหยุด ถ้าใช้สมาธิเพื่อหยุดสบาย ติดในความสุข ก็จะประมาท ผิดทันที

การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าไม่เข้าแนวทางไตรสิกขา คือก้าวต่อไปให้ตลอดศีล-สมาธิ-ปัญญา จนกว่าจะถึงจุดหมาย ก็แสดงว่าพลาด

การปฏิบัติธรรมสมัยนี้ บางทีเอาความหมายกันแค่สมาธิ และจะนำสมาธิไปใช้เพื่อจุดหมายที่เขวออกไป เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี เพื่อดึงกลับเข้าสู่หลักการของพระพุทธศาสนา

ขออนุโมทนา ท่านอาจารย์และนักศึกษาทุกท่าน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ที่ได้มาเสวนาวิชาศาสนาในวันนี้ และเป็นการได้มาเยี่ยมวัดญาณเวศกวันด้วย ขออนุโมทนาขอบใจ ในการมาเยี่ยม

สิ่งที่เราหวังก็คือ การที่ได้มาพบปะพูดจากัน อันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา คงเป็นส่วนที่จะช่วยให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมสืบต่อไป ขอให้ทุกท่านบรรลุผลที่เป็นวัตถุประสงค์อันดีงามนี้ทั่วกัน

 

ชี้แจง

หนังสือและสื่อประเภทอ้างอิง (reference) ในหนังสือนี้ไม่ได้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่พิมพ์ไว้ โดยถือว่าเป็นเอกสารที่ค่อนข้างแพร่หลาย ค้นหาได้ไม่ยาก

เฉพาะ Encyclopaedia Britannica ใช้คำเรียกสั้นๆ ว่า Britannica ส่วนฉบับอื่นๆ ได้แสดงชื่อเต็มไว้ในที่นั้นๆ แล้ว

หนังสือและสื่อที่อ้างในหนังสือนี้ มักใช้ประเภทอ้างอิง เพราะมุ่งข้อมูลพื้นๆ และถือกันว่าเป็นหลักฐานที่โดยทั่วไปมักไว้ใจได้ โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับประเทศตะวันตกเอง อีกทั้งเหมือนกับเป็นการเตือนให้คิดว่า เรื่องราวที่เอามาพูดในนี้ เป็นความรู้สามัญที่เราน่าจะรู้กันอยู่แล้ว

สำหรับหนังสืออื่นๆ คราวนี้ระบุไว้เฉพาะในเชิงอรรถก่อน จะรวมทำบรรณานุกรมเมื่อเขียนจบบริบูรณ์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทสรุป

เชิงอรรถ

  1. คำถาม-คำตอบ ต่อไปนี้ ได้สลับลำดับแปลกไปจากเดิมบ้าง เพื่อให้เป็นหมวดเป็นหมู่มากขึ้น
  2. Lalmani Joshi, Studies in the Buddhistic Culture of India (Delhi: Motilal Banarsidass, 1987), p.351.
  3. ผู้สนใจอาจหาอ่าน
    Wendy doniger O’Flaherty, The Origin of Evil in Hindu Mythology (Delhi: Motilal Banarsidass, 1988)

No Comments

Comments are closed.