ตัวอย่างที่แสดงท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา และท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 15 จาก 58 ตอนของ

ตัวอย่างที่แสดงท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา
และท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา

เรื่องจากสีหสูตรต่อไปนี้ แสดงถึงท่าทีของพุทธศาสนาต่อลัทธิศาสนาอื่นได้อย่างชัดเจน อันจะเห็นได้จากพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าเอง และทำให้เห็นว่า การยอมรับด้วยปัญญาต่อหลักคำสอนของศาสนาหนึ่ง พร้อมกับการเกื้อกูลต่อศาสนาอื่นด้วยเมตตา เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง และควรจะต้องเป็นเช่นนั้น ความในสีหสูตรต่อไปนี้มีความชัดเจน ไม่จำเป็นต้องอธิบาย ดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี

โดยสมัยนั้นแล กษัตริย์ลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก ซึ่งนั่งประชุมกันในสันถาคาร (หอประชุมพิจารณากิจการของรัฐ) กำลังกล่าวสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์โดยอเนกปริยาย

สมัยนั้น สีหเสนาบดี ผู้เป็นสาวกของนิครนถ์ ก็นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้น ลำดับนั้น ท่านสีหเสนาบดีได้มีความคิดว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น คงจักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยมิต้องสงสัย กษัตริย์ลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้ ซึ่งประชุมอยู่ในสันถาคาร จึงกล่าวสรรเสริญคุณ . . . ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ . . . เถิด

เมื่อสีหเสนาบดีคิดดังนั้นแล้ว ด้วยความเคารพในนิครนถนาฏบุตรผู้เป็นอาจารย์ จึงเข้าไปบอกแจ้งขอโอกาสก่อนจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านนิครนถนาฏบุตรก็เตือนว่า พระสมณโคดมเป็น อกิริยวาท ทำให้สีหเสนาบดีเลิกความคิดที่จะไปเฝ้า

แต่ต่อมาสีหเสนาบดีก็กลับคิดขึ้นมาอีกว่า การที่กษัตริย์ลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากพากันกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้านั้น คงจะทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมมาพุทธเจ้าจริง ก็เข้าไปบอกแจ้งขอโอกาสกะนิครนถนาฏบุตรอีก ท่านนิครนถนาฏบุตรก็ชี้แจงจนทำให้สีหเสนาบดีเลิกความคิดที่จะไปเฝ้าอีก

จนกระทั่งครั้งที่ ๓ สีหเสนาบดีคิดขึ้นมาอีก แต่คราวนี้ท่านเสนาบดีตัดสินใจไม่ไปบอกแจ้งขอโอกาสจากท่านนิครนถนาฏบุตรก็เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว

เมื่อไปเฝ้าพบกับพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านเสนาบดีก็ทูลว่า ท่านได้ยินได้ฟังมาว่าพระสมณโคดมเป็นอกิริยวาท คำกล่าวนั้นเป็นจริงหรือไม่ พระพุทธเจ้าก็ทรงอธิบายให้ฟัง ในที่สุด สีหเสนาบดีเกิดความเข้าใจชัดเจนแล้วเลื่อมใส ขอประกาศตนเป็นอุบาสก แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนว่า

ท่านสีหะ ท่านจงใคร่ครวญก่อนทำ การใคร่ครวญก่อนทำ เป็นการดีสำหรับคนที่มีชื่อเสียงเช่นท่าน

สีหเสนาบดีได้ฟังดังนั้นแล้ว ยิ่งมีความเลื่อมใส ได้กล่าวยืนยันขอแสดงตนเป็นอุบาสกอีกเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อท่านเสนาบดียืนยันเช่นนี้ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสต่อไปว่า

ท่านสีหะ ตระกูลของท่านเป็นเสมือนบ่อน้ำของนิครนถ์ทั้งหลายมานานแล้ว ท่านควรใส่ใจจัดให้อาหารบิณฑบาตแก่นิครนถ์ที่เข้าไป(ดังเดิม)ด้วย

(วินย.๕/๗๘-๘๐; องฺ.อฏฺฐก.๒๓/๑๐๒)

ได้พูดมาบ้างแล้วถึงการแสดงออกต่อผู้อื่นหรือท่าทีทั่วๆ ไป ทีนี้ หันมาพูดถึงท่าทีของพระพุทธศาสนาต่อผู้อื่นที่มากระทำต่อพุทธศาสนา หรือมาแสดงออกต่อตนเองบ้าง ว่าในกรณีที่ผู้อื่นมาแสดงออกต่อตน จะรู้สึกและปฏิบัติอย่างไร

ขอยกตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เมื่อมีผู้มาติชมพระรัตนตรัย คือ มาติเตียนพระรัตนตรัยบ้าง มาชมพระรัตนตรัยบ้าง หรือมาติเตียนพุทธศาสนาบ้าง มาชมพุทธศาสนาบ้าง คราวนี้ดูซิว่า ท่าทีของชาวพุทธตามที่พระพุทธเจ้าได้แนะนำไว้ เป็นอย่างไร

จะขออ่านข้อความในพระสูตรแรกในพระไตรปิฎกให้ฟัง พระสูตรที่ ๑ เริ่มต้นด้วยเรื่องนี้ คือท่าทีของพุทธศาสนาต่อผู้ที่มีทัศนะดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ต่อพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าผู้อื่นจะกล่าวติเตียนเราก็ตาม ติเตียนพระธรรมก็ตาม ติเตียนพระสงฆ์ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่พึงมีความเคียดแค้น ไม่พึงมีความขัดใจ ไม่พึงกระทำความไม่พอใจ

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนอื่นมากล่าวติเตียนเราก็ตาม พระธรรมก็ตาม พระสงฆ์ก็ตาม ถ้าเธอทั้งหลายโกรธขึ้ง ไม่พอใจ ก็จะเป็นอันตราย ต่อตัวเธอเอง

ถ้าเขาติเตียนแล้ว เธอโกรธ หรือไม่พอใจ เธอจะรู้ได้หรือว่า ที่เขาพูดนั้น ถูกหรือผิด เขากล่าวชอบ หรือกล่าวไม่ชอบ เป็นสุภาษิต หรือทุภาษิต ถ้าเขาพูดไม่ถูก เธอก็ควรชี้แจงให้เขาเข้าใจตามความเป็นจริง

ถ้ามีคนอื่นมาสรรเสริญเราก็ตาม สรรเสริญพระธรรมก็ตาม สรรเสริญพระสงฆ์ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่พึงมีความชอบใจ ความปลื้มใจ ความลำพองตัวกระเหิมใจ ถ้าหากว่า เธอทั้งหลายเกิดความชอบใจ พองใจอย่างนั้น ก็จะเกิดอันตรายกับตนเอง ในคำชมนั้น ถ้าเขาพูดถูก เธอก็พึงยอมรับ พึงชี้แจงไปตามที่เป็น

(ที.สี.๙/๑)

นี่คือท่าทีของพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นคำแนะนำของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาเอง นอกจากนี้ก็มีกรณีที่เป็นเรื่องปลีกย่อย เช่นการไปเผยแผ่ศาสนาก็ไปเพื่อประโยชน์แก่เขา อย่างที่พูดไปแล้วข้างต้น

มีกรณีหนึ่ง ที่พระหลายท่านคงเคยได้ยิน คือเรื่องพระปุณณะ ผู้มาจากดินแดนที่ชื่อว่า สุนาปรันตะ ซึ่งเป็นดินแดนที่คนดุร้าย ตอนมาท่านยังไม่รู้จักพุทธศาสนา เมื่อท่านมาพบพระพุทธเจ้าแล้ว ฟังธรรมเกิดความเลื่อมใสก็เลยได้บวชเป็นพระภิกษุ เมื่อบวชแล้วต่อมาได้ขอกลับไปอยู่ถิ่นเดิม คือ สุนาปรันตชนบท โดยมาลาพระพุทธเจ้าเพื่อรับโอวาทจากพระองค์ ก่อนจะเดินทางไป

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ปุณณะ มนุษย์ชาวสุนาปรันตะนั้น ดุร้าย รุนแรง เมื่อท่านไปอยู่ ถ้าเขาจะด่า จะบริภาษท่าน ท่านจะทำอย่างไร (เพราะเป็นพวกแปลกถิ่น แปลกพวกไปแล้ว)

พระปุณณะทูลตอบว่า

ถ้าเขาด่า ข้าพระองค์ก็จะคิดว่า ก็ยังดีที่เขาด่า ไม่ถึงกับเอามือทุบตี

(ม.อุ.๑๔/๗๕๗)

พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อไปว่า แล้วถ้าเขาทุบถอง จะทำอย่างไร ก็ตอบว่าดีกว่าเขาเอาก้อนดินก้อนหินขว้าง ตรัสถามต่อไปว่า ถ้าเขาเอาก้อนดินก้อนหินขว้างล่ะ ก็ตอบว่า ดีกว่าเอาท่อนไม้มาทุบมาฟาด ถ้าเขาเอาท่อนไม้มาทุบมาฟาดล่ะ ก็ยังดีกว่าเขาเอามีดมาฟันมาฆ่า

พระพุทธเจ้าตรัสถามและพระปุณณะทูลตอบไปตามลำดับอย่างนี้ จนกระทั่งถึงฆ่าเลย หมายความว่ายอมสละชีวิตได้ จะไม่ทำร้ายใคร ถ้าเขาจะทำร้ายก็ทำไป ตายก็ตาย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่างนี้เธออยู่สุนาปรันตะได้ ก็เป็นอันว่า พระปุณณะได้เดินทางไปสุนาปรันตชนบท และได้ประสบความสำเร็จในการสั่งสอนประชาชนให้มีการศึกษา นี้ก็เป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง

ว่าที่จริง ในเรื่องนี้ ตามหลักพุทธศาสนา พระสงฆ์มีระเบียบวินัยที่กันไว้แล้ว คือพระภิกษุนั้น เมื่อฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต แม้แต่มด ปลวก ริ้น ไร ก็เป็นอาบัติ แต่อาบัติเบาหน่อย ถ้าฆ่ามนุษย์ แม้แต่ทำให้แท้ง ก็เป็นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ โดยไม่มีขีดจำกัดว่าฆ่ามนุษย์ไหน เพราะฉะนั้นก็เป็นกลางๆ พระก็ไปเบียดเบียนใครไม่ได้ นี่เป็นวินัยซึ่งเป็นแบบแผนความประพฤติที่ขีดกั้นไว้

นอกจากนั้นยังมีคำสอนที่เรียกว่า สมณธรรม เรามักได้ยินสมณธรรมในความหมายที่ว่า เป็นข้อปฏิบัติของพระที่บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เข้ากรรมฐาน แต่ความจริงสมณธรรมในบริบทบางแห่งมีความหมายว่า เป็นธรรมของผู้สงบ ไม่เบียดเบียนใคร และมีคำสอนที่เรียกว่า “สมณธรรม” ในพระสูตรหนึ่งที่ตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย เขาด่า ก็ไม่ด่าตอบ เขาเสียดสี ก็ไม่เสียดสีตอบ เขาประหาร ก็ไม่ประหารตอบ อย่างนี้แหละสมณะจึงจะชื่อว่าตั้งอยู่ในสมณธรรม

(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๓๒๕)

หลักสมณธรรมนี้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานที่เรียกว่าโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าหัวใจพุทธศาสนา

ในโอวาทปาติโมกข์นี้ มีข้อความท่อนแรกแสดงหลักขันติธรรม นิพพาน และลักษณะของสมณะนักบวช ดังนี้

ขันติ คือ ความอดได้ทนได้ เป็นตบะอย่างยอด นิพพานเป็นบรมธรรม ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

(ที.ม.๑๐/๕๔; ขุ.ธ.๒๕/๒๔)

หลักการนี้จำกัดความหมายของสมณะนักบวชว่า ความเป็นสมณะและนักบวชนั้น ไม่อยู่ที่การมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ การทำพิธี การเป็นสื่อสวรรค์เป็นต้น แต่อยู่ที่การไม่เบียดเบียน หรือเป็นสัญลักษณ์ของความไม่มีภัย ซึ่งรวมถึงความมีขันติธรรมด้วย

ขันติธรรมนั้น ย่อมครอบคลุมความหมายของคำที่นิยมใช้กันในปัจจุบันว่า “อหิงสา” ดังที่ในวงการระหว่างประเทศ ถือว่าพุทธศาสนาเป็นต้นแบบแหล่งหนึ่งของหลักอหิงสา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา และท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญาท่าทีอหิงสาที่สืบมาในศาสนาของอินเดีย >>

No Comments

Comments are closed.