เมื่อวิทยาศาสตร์มาหนุนอุตสาหกรรม พร้อมระบบแบ่งงาน-ชำนาญพิเศษ อเมริกาก็ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าใหญ่แห่งอุตสาหกรรม

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 43 จาก 58 ตอนของ

เมื่อวิทยาศาสตร์มาหนุนอุตสาหกรรม พร้อมระบบแบ่งงาน-ชำนาญพิเศษ
อเมริกาก็ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าใหญ่แห่งอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ในยุคใช้พลังงานไอน้ำ การนำความรู้วิทยาศาสตร์มาใช้ในอุตสาหกรรมยังไม่จริงจังมากนัก จนกระทั่งเมื่อเอดิสัน (Thomas Alva Edison, 1847-1931) ตั้งโรงงานจ่ายกระแสไฟฟ้าในเมืองนิวยอร์ค เมื่อเดือนกันยายน 1882 (เซอร์โจเซฟ วิลสัน สแวน และเอดิสัน ต่างก็ผลิตหลอดไฟฟ้าได้สำเร็จ ใน ค.ศ. 1880) โลกก็เข้าสู่ยุคไฟฟ้า ซึ่งไฟฟ้าเข้ามาแทนที่พลังงานไอน้ำ

จากนั้นก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในด้านอุตสาหกรรม โดยเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญๆ ซึ่งอาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ถือว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๒ (Second Industrial Revolution) อันเกิดขึ้นในอเมริกา (นับว่าเริ่มการปฏิวัติที่ ๒ นี้แต่ ค.ศ.1860)

ต่อจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี ก็ยิ่งใกล้ชิดสนิทแนบยิ่งขึ้น

สังคมอเมริกันนับว่าเป็นแหล่งอันเยี่ยมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพราะชาวอเมริกันภูมิใจในการมีจริยธรรมแห่งการทำงาน (work ethic หรือ Protestant ethic บางทีก็เรียก Puritan ethic) และมีความเชื่อในหลักการลงทุนประกอบอุตสาหกิจชนิดเสี่ยงสู้เสรี (free enterprise)

โดยเฉพาะสังคมอเมริกันชื่นชมลัทธิดาร์วินเชิงสังคม (Social Darwinism) มากเป็นพิเศษ จึงหนุนระบบตัวใครตัวมันและแข่งขันเต็มที่ (individualism and unrestricted competition) อันเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ยิ่งกว่านั้น ประเทศอเมริกายังเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์อีกด้วย จึงยิ่งทำให้ได้เปรียบมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ในปี 1913 นายเฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford, 1863-1947) ได้พัฒนาระบบการแบ่งงานให้ก้าวหน้าขั้นใหญ่ คือ ได้ริเริ่มระบบสายพานประกอบชิ้นส่วน (assembly line) ขึ้นมา ทำให้การผลิตสินค้าเหมือนแบบทีละมากๆ (mass production) บรรลุเป้าหมายอย่างสูง เป็นการเพิ่มผลผลิต (productivity) อย่างมหาศาล ลดจำนวนแรงงานมีฝีมือลงไป และได้สินค้าราคาถูกลง

นอกจากอุตสาหกรรมจะก้าวหน้าโดยทั่วไปแล้ว อเมริกาก็ได้เป็นเจ้าใหญ่ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์

ในด้านทรัพยากรธรรมชาตินั้น พึงสังเกตว่า เมื่ออังกฤษเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วง ค.ศ.1750 อเมริกายังเป็นแหล่งป้อนทรัพยากรอย่างสำคัญ เพราะอเมริกาเป็นดินแดน ๙ ใน ๑๐ ส่วนของจักรวรรดิอังกฤษยุคแรก

ครั้นเมื่ออังกฤษสูญเสียอาณานิคมในอเมริกาไปในปี 1781 (สงครามกับอังกฤษเริ่ม ค.ศ.1775 อเมริกาประกาศอิสรภาพ ค.ศ.1776 และชนะสงครามปี 1781) แล้ว ก็พอดีเข้าสู่ยุคที่อังกฤษสามารถแผ่ขยายจักรวรรดิ ยึดครองอาณานิคมได้เพิ่มอย่างกว้างขวางในแถบตะวันออก โดยได้เกาะลังกา แล้วต่อมาก็ได้ทวีปออสเตรเลีย (รวมทั้งนิวซีแลนด์) ผนวกเข้ามา

ยิ่งเมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปี 1919 แล้ว อังกฤษก็ได้อาณานิคมจากประเทศผู้แพ้สงคราม คือ เยอรมัน กับเตอรกีเพิ่มเข้ามาอีก ทำให้ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมดำเนินต่อมาได้ด้วยดี

แต่เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว อังกฤษและประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลายในยุโรปบอบช้ำมาก และสูญเสียอาณานิคมไปจนหมด อเมริกาจึงเฟื่องฟูเป็นเจ้าใหญ่ในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเต็มที่

จนกระทั่งญี่ปุ่นและเยอรมันก้าวขึ้นมาแข่ง และทำท่าจะนำหน้าไปในช่วงใกล้จะขึ้นทศวรรษ 1990s พร้อมกับที่อเมริกากลับทรุดลงไปจากฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ใหญ่

ย้อนหลังไปในช่วงทศวรรษ 1960s ธนาคารใหญ่ที่สุดในโลก ๙ ใน ๑๐ เป็นของอเมริกัน

แต่ใน ค.ศ.1987 ธนาคารใหญ่ที่สุดในโลกไม่มีสักรายเดียวที่เป็นของอเมริกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นของญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นประเทศลูกหนี้เป็นครั้งแรก ใน ค.ศ.1985 และต่อมาก็กลายเป็นประเทศลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลก การค้าขาดดุลปีหนึ่งๆ เกิน ๑ แสนล้านดอลลาร์

ได้เกิดความรู้สึกกันว่า “ทศวรรษ 1990s เป็นอัปมงคลสมัยสำหรับสหรัฐอเมริกา” — “The 1990s was an inauspicious time for the United States.” (“United States of America: History: the late 20th century,” Britannica, 1997)

อเมริกาก้าวขึ้นมาสู่ทศวรรษใหม่นี้ ในฐานะเป็นอภิมหาอำนาจแต่ผู้เดียวในการเมืองโลก แต่ในประเทศของตนเอง นอกจากเศรษฐกิจจะยอบแยบระโหยโรยแรง สังคมก็โทรมหนัก เต็มไปด้วยอาชญากรรมที่รุนแรง (ซึ่งมักจะโยงกับเรื่องยาเสพติด) ความยากจน ปัญหาการพึ่งพาเงินสวัสดิการ ปัญหาความแบ่งแยกผิวเผ่าที่หนักลง ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่แพงลิ่ว และระบบครอบครัวที่ง่อยหงิก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้พลิกกลับ เศรษฐกิจของอเมริกาฟื้นตัวขึ้นมา ส่วนเยอรมันและญี่ปุ่นกลับทรุดลงไป

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติแล้ว (1945) เศรษฐกิจของเยอรมันตะวันตกเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงถึงปี 1952 การค้าของเยอรมันก็เกินดุล พอถึงปี 1986 ก็ทันและขึ้นเหนืออเมริกา แล้วอีก ๓ ปีต่อมา คือ 1989 ก็เกินดุลกับญี่ปุ่น

แต่เมื่อสองเยอรมันรวมกันเข้าในวันที่ 3 ตุลาคม 1990 แล้ว เยอรมันหันไปเพียรพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจในเยอรมันตะวันออกเดิม ดุลการค้าที่ได้เปรียบมากก็ตกวูบลง ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมากมาย แทนที่จะได้ส่งออก ก็ต้องเอาไปเลี้ยงเยอรมันตะวันออก แถมยังต้องนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย เศรษฐกิจของเยอรมันก็ทรุดลงอย่างคาดไม่ถึง

จนกระทั่งใน ค.ศ.1993 เศรษฐกิจของเยอรมันได้จมลงในภาวะถดถอยต่ำสุดในช่วง ๕๐ ปี ประเทศตะวันตกค่อยโล่งใจคลายความหวาดกลัวว่าเยอรมันจะขึ้นมาเป็นเจ้าโลกทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม พอถึงปี 1996 เศรษฐกิจของเยอรมันก็กลับฟูขึ้นอีก แม้ว่าจะยังไม่มากพอที่จะชดเชยกับการทรุดถอยในระยะที่ผ่านมา

ประเทศทั้งหลายในยุโรปตะวันตกโดยทั่วไป บอบช้ำอย่างยิ่งจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ก็ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดีในเวลาไม่นาน ด้วยกำลังหนุนจากอเมริกาตามแผนการมาร์แซล

ว่าโดยทั่วไป สงครามเย็นที่สหรัฐกับโซเวียตแข่งอำนาจกัน ก็ช่วยให้ยุโรป “มีเสถียรภาพ และทำให้ภาคตะวันตกรุ่งเรืองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน” (“20th-Century International Relations,” Britannica, 1997)

แต่พอถึงทศวรรษ 1980s ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยกันโดยทั่ว และพากันทรุดมานาน มีแต่อังกฤษประเทศเดียวที่ถอนตัวฟื้นขึ้นมาได้ในปี 1993 แต่ก็มีเค้าว่าในปีต่อๆ ไป ประเทศอื่นๆ ใน ยุโรปตะวันตกก็จะมีเศรษฐกิจดีขึ้น

ส่วนประเทศทั้งหลายในยุโรปตะวันออก ซึ่งอยู่ในอาณัติของโซเวียต เศรษฐกิจได้เสื่อมถอยอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดและโซเวียตล่มสลายแล้ว ประเทศเหล่านี้ก็อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนควบคุมจากศูนย์กลางของรัฐ มาสู่ระบบตลาดเสรีหรือทุนนิยม แต่ก็ยังอยู่ในภาวะที่อ่อนเปลี้ย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เมื่อยุคอุตสาหกรรมเริ่มต้น คนตะวันตกตื่นตัวมีชีวิตชีวาด้วยความหวังใหม่ญี่ปุ่นผงาด ตามด้วยขบวนเสือแห่งเอเชียก้าวเด่นขึ้นมา แต่ไม่ทันช้า ทั้งหมดก็พากันซบเซา >>

No Comments

Comments are closed.