๓. โลกทัศน์ที่นำสู่โลกาภิวัตน์

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 32 จาก 58 ตอนของ

๓. โลกทัศน์ที่นำสู่โลกาภิวัตน์

 

วิทยาศาสตร์ก้าวขึ้นมานำหน้า
สู่โลกทัศน์ใหม่ ที่ศาสนาหันมาแอบอิง

ขอย้อนกลับไปสู่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กระแสนิยมวิทยาศาสตร์กำลังขึ้นสูง สืบเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ยุคคืนชีพ

ครั้นเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ขึ้นแล้ว เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มากับยุคอุตสาหกรรม ได้ทำให้ผู้คนมีชีวิตที่พรั่งพร้อมสะดวกสบาย และมีอำนาจจัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย รวมทั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบอาณานิคม อย่างที่กล่าวแล้ว

แต่มิใช่แค่นั้น การมองเห็นความหวังที่จะนำเอาความรู้วิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการสร้างความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม ได้ทำให้ประชาชนทั่วไปเพิ่มความสนใจใฝ่นิยมวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้นไปอีก

ความนิยมและตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ทำให้คริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้ชื่อว่าเป็นยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment) หรือยุคแห่งเหตุผล (Age of Reason) และพร้อมกันนั้น คนทั้งหลายก็พากันคิดว่าวิทยาศาสตร์นั้นจะนำพามนุษย์ไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และจะเป็นความก้าวหน้าที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

นับแต่นั้นมา คติแห่งความก้าวหน้า (idea of progress) หรือคติแห่งความก้าวหน้าที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ (idea of inevitable progress) ก็เด่นขึ้นมา จนกลายเป็นแนวคิดนำที่ครอบงำอยู่เหนือกระแสการพัฒนาอารยธรรมตะวันตกเรื่อยมา จนถึงยุคปัจจุบัน โดยมีแนวคิดที่มุ่งพิชิตธรรมชาติ (conquest of nature หรือ dominion over nature หรือ mastery of/over nature) แฝงหนุนเป็นคู่แฝดกันมาโดยตลอด

ในวงวิชาการ กระแสนิยมวิทยาศาสตร์ได้ทำให้วิชาการต่างๆ พยายามปรับตัวให้ได้รับความเชื่อถือ โดยนำเอาวิธีวิทยาศาสตร์ (scientific method) เข้าไปใช้ และในศตวรรษที่ 18 นี้เอง วิชาสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยา ก็ได้เริ่มถือกำเนิดขึ้น

ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ได้ก่อให้เกิดผลสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ทำให้มนุษย์ชาวตะวันตกมองโลกและชีวิตหรือมองสิ่งทั้งหลายด้วยความเข้าใจอย่างใหม่ โดยมีโลกทัศน์แบบจักรกล (mechanistic view)

โลกทัศน์แบบจักรกลนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 จากอิทธิพลความคิดของเดคาร์ตส์ (Descartes, 1596-1650) และปรับแก้ใหม่ตามแนวคิดของนิวตัน (Newton, 1642-1727)

นิวตันนี้ได้เป็นต้นสายความคิดแบบแบ่งซอยหรือแยกส่วน ที่เรียกว่า reductionist view หรือเรียกสั้นๆ ว่า reductionism ด้วย

โลกทัศน์วิทยาศาสตร์แบบจักรกล และแนวคิดแยกส่วนนี้ มองโลกหรือสิ่งทั้งหลาย ตลอดจนแม้แต่ชีวิตจิตใจมนุษย์ ในเชิงวัตถุ และแบบคณิตศาสตร์ โดยเห็นว่า สิ่งทั้งหลายและความเป็นไปหรือปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดจากองค์ประกอบ หรือชิ้นส่วนทางวัตถุเล็กน้อยย่อยลงไปๆ เข้ามาสัมพันธ์กันอย่างมีกฎเกณฑ์ในเชิงเหตุผลอย่างเป็นระเบียบ

โลกทัศน์แบบจักรกล และแนวคิดแยกส่วนนี้ ได้เป็นสายความคิดหลักที่ครอบงำอารยธรรมตะวันตก และแผ่ไปครอบงำโลกมายาวนานเกือบ ๓๐๐ ปี

ในยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment) แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 นี้ ความขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาคริสต์ได้ผ่อนเบาลงบ้าง เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญ โดยเฉพาะนิวตันเป็นคนมีศรัทธาในศาสนาคริสต์ และได้อธิบายความคิดทางวิทยาศาสตร์ของเขา ในเชิงประสานสังเคราะห์ โดยแสดงความจริงทางวิทยาศาสตร์ ชนิดที่เปิดช่องให้องค์พระเป็นเจ้าสามารถมีบทบาทได้ (“…a new synthesis in which truth is revealed and God was preserved.”- “The History of Science,” Britannica, 1997)

ภาวการณ์นี้ มีผู้เรียกว่าเป็นการพักรบกับฝ่ายศาสนา (a truce with men of religion – “European History and Culture,” Britannica, 1997)

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายศาสนาคริสต์ก็มิได้พอใจจริง เพราะเมื่อว่าโดยสาระ แนวคิดวิทยาศาสตร์นี้ก็นำไปสู่วัตถุนิยมและลัทธิอเทวนิยม ความขัดแย้งจึงดำเนินต่อมา

โดยเฉพาะเมื่อ ดาร์วิน (Charles Darwin) ประกาศทฤษฎีวิวัฒนาการ (Theory of Evolution) ใน ค.ศ.1858 ได้ก่อความกระทบกระเทือนแก่ศาสนาคริสต์เป็นอย่างยิ่ง

วิทยาศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้าแตกสาขาออกไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการที่ศาสนาคริสต์เสื่อมอิทธิพลลงโดยทั่วไป

เมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นีทเช่ นักปรัชญาชาวเยอรมัน (Friedrich Nietzsche, 1844-1900) ก็ได้ประกาศว่า “พระเจ้าตายแล้ว” (“God is dead.”- เช่นคำ “Philosophical Anthropology” และ “Friedrich Nietzsche,” Britannica, 1997)

ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสต์กับวิทยาศาสตร์ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (เช่น “Religion,” Infopedia, 1994) และเนื่องจากวิทยาศาสตร์กำลังเฟื่องฟูก้าวหน้ามาก ผู้คนก็ยิ่งเหินห่างออกไปจากศาสนาคริสต์ จนในประเทศตะวันตกเอง ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลเหลือน้อยอย่างยิ่ง และไม่ได้รับความสนใจ

ต่อมาเหตุการณ์ได้กลับกลายเป็นว่า วงการศาสนาคริสต์ได้หันมาตีความคำสอนของตนให้เข้ากับวิทยาศาสตร์ หรือปรับความหมายให้สอดคล้องกับศาสตร์สมัยใหม่ (เช่น หนุนแนวคิดพิชิตธรรมชาติ และแนวคิดดาร์วินเชิงสังคม เป็นต้น) ตลอดจนนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้และไปอ้างในการดำเนินงานเผยแผ่ศาสนาคริสต์ (เช่น การอ้างเรื่องสุริยคราสในภาคเหนือของประเทศไทย และการใช้ความรู้และเครื่องมือทางแพทย์สมัยใหม่มารักษาคนเจ็บไข้ในประเทศที่ล้าหลังเป็นต้น)

นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ประสานตัวเข้ากับแนวทางของยุคใหม่ แม้กระทั่งอาศัยแหล่งทุนจากประเทศของตนซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมที่ร่ำรวยกว่า มาให้ความช่วยเหลือทางด้านทรัพย์สินเงินทองและความเป็นอยู่แก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะคนที่ยากจน เป็นเครื่องชักจูงให้หันไปนับถือศาสนาคริสต์ จนเป็นที่น่าสงสัยว่า คนหันไปยอมรับนับถือเพราะเลื่อมใสเครื่องมือเครื่องใช้ทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ตลอดจนผลประโยชน์ มากกว่าจะเลื่อมใสคำสอนของศาสนา

(การใช้ผลประโยชน์หรืออามิสเป็นเครื่องจูงใจให้คนหันมานับถือศาสนานี้ ตามหลักการถือว่าไม่ชอบธรรม และในบางประเทศถือว่าเป็นความผิดด้วย)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ระบบอาณานิคม – จักรวรรดินิยม ป้ายชื่อปลดไป เนื้อในยังอยู่?วิทยาศาสตร์ – อุตสาหกรรม มาตรฐานวัดความเจริญก้าวหน้าของโลกยุคใหม่ >>

No Comments

Comments are closed.