ภาค ๑ พุทธทัศน์ต่อความต่างศาสนาและสันติภาพโลก

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 3 จาก 58 ตอนของ

ภาค ๑
พุทธทัศน์ต่อความต่างศาสนาและสันติภาพโลก

ศาสนาโดยเนื้อหากับโดยรูปแบบ

มนุษย์เรานี้เริ่มต้นก็ดำเนินชีวิตอยู่ในโลก ในสังคม แม้แต่จะดำเนินชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน เริ่มตั้งแต่การที่จะอยู่รอด เราก็อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เราต้องปรับตัว เราต้องมีความสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้น รวมทั้งความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วย เมื่อเราดำเนินชีวิตไป เราก็ต้องการอยู่ให้ดี ไม่ใช่ต้องการเพียงแค่อยู่รอด

ในการที่จะอยู่ให้ดีนี้ มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ คือรู้จักใช้ปัญญา จุดเริ่มต้นที่จะใช้ปัญญาในเรื่องนี้ ก็คือการตอบข้อสงสัยที่อยากรู้

เมื่อมองออกไปภายนอก นักปราชญ์บางพวกบอกว่า มนุษย์ถูกสภาพแวดล้อมบีบคั้น เกิดมีภัยอันตราย เช่น ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว ลมพายุแรง จากการต้องพยายามดำเนินชีวิตให้รอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมอย่างนี้ มนุษย์ก็คิดคำนึงเกี่ยวกับสิ่งที่ตนต้องประสบนั้น และมีความสงสัยอยากจะรู้ว่าเป็นอะไร เพราะความที่เป็นสัตว์พิเศษรู้จักใช้ปัญญา ก็คิดหาเหตุผลในเรื่องนั้น ศาสนาจึงเกิดขึ้น

มองในแง่นี้ ก็เท่ากับบอกว่า จุดกำเนิดของศาสนา คือ การที่มนุษย์อยากรู้ อยากเข้าใจธรรมชาติรอบตัว ว่าภัยอันตรายที่เกิดขึ้นซึ่งตนต้องเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิต เริ่มตั้งแต่อยู่รอดนั้น คืออะไร เป็นมาอย่างไร เพื่อหาทางแก้ไข

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูให้ลึกลงไป มนุษย์มิได้มองแค่นั้น มนุษย์มีความรู้สึกนึกถึงสิ่งที่เรียกว่าความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เป็นต้นด้วย นั่นคือสิ่งที่มนุษย์แสวงหาตลอดมา

พระพุทธเจ้า เมื่อจะออกผนวช ก็มิได้ทรงสนพระทัยว่า ศาสนาชื่อไหน และก็มิได้ครุ่นคำนึงถึงภัยธรรมชาตินอกตัว แต่ต้องการรู้ว่าความจริงของชีวิตคืออะไร มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามได้อย่างไร อย่างที่เราได้ยินตามพุทธประวัติ พระองค์ได้เห็นสภาพแวดล้อม เช่นคนที่อยู่รอบพระองค์ ว่าคนเกิดแก่เจ็บตาย เมื่อทอดพระเนตรเห็นนิมิต ๔ พระองค์ก็เห็นว่า ผู้คนทั้งหลายมีความทุกข์ครอบงำอยู่ ชีวิตเป็นอย่างนี้ ทำอย่างไรจะพ้นจากความทุกข์ไปได้ ในที่สุดก็นำไปสู่การเสด็จออกบรรพชาหรือการผนวช

เมื่อพระองค์ผนวชนั้น พระพุทธเจ้าได้เล่าถึงการค้นหาความจริงของพระองค์ ทรงใช้คำว่า “เราเป็น กึกุสลคเวสี” แปลว่า ผู้แสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล กุศลก็คือสิ่งที่ดี สิ่งที่เอื้อ สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เกื้อหนุนต่อชีวิตที่จะเป็นอยู่อย่างดีงาม พ้นจากทุกข์ภัย มีความสุข นี้คือสิ่งที่พระองค์แสวงหา อันนี้คือสาระที่แท้จริง

ถ้ายุติตรงนี้ ก็จะเห็นว่า การที่เกิดเป็นศาสนาชื่อนั้นชื่อนี้ เป็นเพียงรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม รูปแบบก็เป็นสิ่งสำคัญ รูปแบบมีความสำคัญในแง่ที่จะรักษาเนื้อหาที่เป็นหลักการ หมายความว่า เมื่อมีหลักการขึ้นมาแล้ว เพื่อจะให้หลักการนั้นดำรงอยู่ ก็ต้องมีการจัดตั้ง เมื่อมีการจัดตั้งก็กลายเป็นรูปแบบ เป็นระบบ เป็นกฎเกณฑ์ กติกาขึ้นมา

อนึ่ง รูปแบบนั้น นอกจากเพื่อรักษาหลักการไว้แล้ว ก็เพื่อเป็นสื่อนำหลักการไปเข้าถึงประชาชนหมู่ใหญ่ เพื่อจะให้เนื้อหาสาระนั้นออกไปสำเร็จประโยชน์แก่คนทั้งหลาย และเพื่อให้ได้ผลที่เป็นจุดหมายของหลักการนั้นด้วย เพราะว่ารูปแบบนั้นคนจัดตั้งขึ้นมา เพื่อจัดสภาพแวดล้อมเป็นต้น ให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิต ที่จะเป็นไปเพื่อจุดหมายที่มุ่งประสงค์ตามหลักการนั้น ด้วยเหตุนี้รูปแบบต่างๆ จึงเกิดขึ้นมา แล้วเราก็อาศัยรูปแบบเหล่านี้เพื่อสนองหลักการ

ถ้ามองอย่างนี้ ก็จะไม่มีการยึดติดถือมั่นอะไรมาก แต่จะรู้เข้าใจถึงตัวความมุ่งหมายที่แท้ แม้จะรู้อยู่ว่า รูปแบบนั้นก็สำคัญ และต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่ทั้งหมดนั้นก็เพื่อให้เกิดผลที่สนองความมุ่งหมายของหลักการนั่นเอง และหลักการนั้น ว่าโดยแท้จริงก็คือ หลักการเพื่อความดีงามของมนุษย์ ในที่สุดก็ต้องมาลงที่นี่ คือทำอย่างไรจะช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ทั้งของชีวิตส่วนตัวและของสังคม

ทีนี้จุดสำคัญก็อยู่ที่ว่า หลักการนั้นเราเห็นด้วย หรือเห็นว่าอย่างน้อยก็มีเค้าที่จะช่วยให้มนุษย์เรา ได้เข้าถึงสิ่งที่มุ่งประสงค์หรือไม่ ส่วนรูปแบบนั้นเราอาศัยเพียงเป็นสื่อช่วย คือเป็นเครื่องช่วยให้เกิดผลทางปฏิบัติในการเดินหน้าไปสู่จุดมุ่งหมาย ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะไม่เอารูปแบบนั้นมาเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดความแตกแยก

แต่มนุษย์ก็อย่างนี้แหละ พอมีรูปแบบขึ้นมาก็อดไม่ได้ ที่จะไปยึดติด แม้แต่บุคคลคนหนึ่งๆ เราสมมติชื่อเป็น นาย ก. นาย ข. ขึ้นมาแล้ว พอพูดว่า นาย ก. ไม่ดี นาย ก. ก็โกรธ นาย ก. ก็ว่านาย ข.บ้าง นาย ข.ก็โกรธ เมื่อเกิดเป็นชื่อขึ้นมา ก็เกิดการยึดติดถือมั่น

แต่ถ้าเรารู้ตระหนักอยู่ว่า ในการมีรูปแบบขึ้นนั้น ความประสงค์ที่แท้ก็เพื่อให้ชีวิตดีงาม เข้าถึงความจริง โดยอาศัยรูปแบบนั้นมาเป็นสื่อ อย่างที่ว่า รูปแบบเป็นเครื่องนำเราเข้าสู่ความจริง ความดีงาม พอเข้าใจอย่างนี้ เรามองดูรูปแบบด้วยความเข้าใจ ก็ทำให้เราปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง ทั้งได้ผลดีตามความมุ่งหมาย และทั้งไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้วย1

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กล่าวนำ)ท่าทีทั่วไปของพุทธศาสนาต่อลัทธิศาสนาอื่น >>

เชิงอรรถ

  1. ดูเพิ่มเติม เรื่องรูปแบบกับเนื้อหา ในภาคถาม-ตอบ หน้า ๒๒๓–๒๕๕

No Comments

Comments are closed.