การแข่งอำนาจ แย่งชิงผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่ ทำให้โลกแทบถล่มทลาย ลัทธิอาณานิคมเองก็ล่มสลาย เกิดระบบอำนาจใหม่

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 37 จาก 58 ตอนของ

การแข่งอำนาจ แย่งชิงผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่
ทำให้โลกแทบถล่มทลาย ลัทธิอาณานิคมเองก็ล่มสลาย เกิดระบบอำนาจใหม่

สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มต้น ณ วันที่ 1 กันยายน 1939 เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ และสิ้นสุด ในวันที่ 2 กันยายน 1945 เมื่อญี่ปุ่นลงนามยอมแพ้บนเรือรบมิสซูรี (Missouri) ของอเมริกัน ในอ่าวโตเกียว

ฝ่ายชนะ คือ สัมพันธมิตร (Allies) ประกอบด้วยอังกฤษ (พร้อมทั้งเครือจักรภพ) ฝรั่งเศส สหรัฐ สหภาพโซเวียต และจีน

ฝ่ายแพ้ คือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งเรียกว่า ฝ่ายอักษะ (Axis Powers)

นอกจากนี้ยังมีประเทศเล็กประเทศน้อยเข้าร่วมด้วยอีกจำนวนมาก

ในสงครามครั้งนี้ ก็เช่นเดียวกับครั้งก่อน สหรัฐเข้าร่วมสงครามภายหลัง คือเมื่อญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรืออเมริกันที่อ่าวเพอร์ล (Pearl Harbor) รัฐฮาไว ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 แล้ว อเมริกาจึงประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะ ในวันที่ 14 ธันวาคม 1941

ส่วนสหภาพโซเวียตก็เข้าร่วมสงครามก่อนอเมริกาเพียงไม่กี่เดือน คือในวันที่ 22 มิถุนายน 1941

แต่ฝ่ายอักษะก็ยังเป็นต่อมาอีกนาน จนถึงปลาย ค.ศ. 1942 ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเริ่มเป็นฝ่ายรุก จนกระทั่งเยอรมันยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ในวันที่ 7 พฤษภาคม 1945

ส่วนอีกด้านหนึ่ง เมื่ออเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณู ที่ฮิโรชิมา (6 สิงหาคม 1945) เมืองเรียบราบ คนตายไป ๑๓๐,๐๐๐ คน และนางาซากิ (9 สิงหาคม 1945) คนตายไป ๗๕,๐๐๐ คนแล้ว ญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้ในวันที่ 14 สิงหาคม 1945

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือ ลัทธิชาตินิยมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการถือชาติพันธุ์ ที่ทำให้ฮิตเลอร์ผู้มุ่งจะเชิดชูเผ่าอารยัน (Aryan race) ทำการฆ่าล้างโคตร (holocaust) สังหารชาวยิวในค่ายมรณะ (death camps หรือ extermination camps หรือ concentration camps) ไปกว่า ๖ ล้านคน

ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือ การสงครามทางอากาศได้เข้ามามีบทบาทโดดเด่น และมีการใช้กลยุทธ์ทิ้งระเบิดแบบกวาดทั่วบริเวณ (area bombing) โดยจงใจทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยในตัวเมือง ซึ่งเป็นการทำสงครามกับพลเรือน และได้เป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก

อังกฤษได้เน้นให้มุ่งใช้กลยุทธ์นี้กับเยอรมัน โดยมีการคาดว่า จะทำให้ประชากรเยอรมัน ๑ ใน ๓ ของทั้งประเทศไร้ที่อยู่ภายใน ๑๕ เดือน ปฏิบัติการจริงที่เกิดขึ้น เช่น ที่เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) ประชาชนเสียชีวิต ๔๐,๐๐๐ คน ไร้ที่อยู่อาศัยล้านคน

ที่เบอร์ลิน (ในช่วง พฤศจิกายน 1943 – มีนาคม 1944) เครื่องบินอังกฤษโจมตี ๒๐,๒๒๔ เที่ยวบิน แก้แค้นเยอรมัน โดยก่อความเสียหายแก่เบอร์ลินมากกว่าที่ทัพอากาศเยอรมันได้ทำแก่ลอนดอนมากมายหลายเท่า

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ กองทัพอากาศสหรัฐโจมตีกรุงโตเกียวด้วยระเบิดนาปาล์ม (napalm) ในวันที่ 9-10 มีนาคม 1945 คืนเดียว ทำลายเมืองหมดไป ๑ ใน ๔ พลเรือนตาย ๘๐,๐๐๐ ไร้ที่อยู่อาศัยล้านคน

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้คนสูญเสียชีวิตมาก ประมาณว่าตายถึง ๕๐ ล้านคน (ตำราทั้งหลายให้ตัวเลขต่างกัน ตั้งแต่ ๔๐ ถึง ๖๔ ล้านคน) แยกเป็น
ทหารตาย ๑๕ ล้านคน และ
พลเรือนตาย ๓๕ ล้านคน รวมทั้งยิวที่ถูกฆ่าในค่ายมรณะ (extermination camps) ของนาซี ๔-๖ ล้านคน

ประเทศที่สูญเสียประชากรมากที่สุดคือ สหภาพโซเวียต ซึ่งพลเมืองล้มหายตายไปประมาณ ๒๐ ล้านคน (ทหารตาย ๗.๕ ล้านคน)

ถือเป็นสงครามครั้งแรกที่พลเรือนเสียชีวิตมากกว่าทหารที่ไปรบอย่างมากมาย

พร้อมกันนี้ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นความเจริญก้าวหน้าในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งบทบาทของอุตสาหกรรม ในด้านการทำลาย ว่าสามารถก่อความพินาศได้ร้ายแรงเพียงใด

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศในยุโรปที่เคยเป็นมหาอำนาจ ก็สิ้นสภาพความยิ่งใหญ่ ฝรั่งเศสก็หมดฐานะความเป็นผู้นำ อังกฤษประเทศเจ้าทุนใหญ่ แม้จะพ้นจากการเป็นสนามรบ แต่ในด้านเศรษฐกิจก็ได้ตกเป็นลูกหนี้ใหญ่ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

ยิ่งกว่านั้น หลังสงครามโลกแล้ว ประเทศอาณานิคมทั้งหลายก็ตื่นตัวพากันพยายามกู้อิสรภาพ อาณานิคมก็ค่อยๆ หมดไป

พูดคร่าวๆ ว่า ระบบอาณานิคม (colonialism) ได้หมดสิ้นไปภายใน ๓๐ ปี ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๗๕

เมื่อแหล่งทรัพยากรสำคัญหมดไป ประเทศในยุโรปที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมทั้งหมด ก็สูญสิ้นอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ พร้อมไปกับการสิ้นสุดแห่งยุคอาณานิคม

เมื่อประเทศใหญ่ในยุโรปอ่อนเปลี้ยหมดกำลังอย่างนี้ ประเทศที่ปรากฏเด่นเป็นเจ้าใหญ่ในเวทีโลกจึงมีเพียง ๒ ประเทศ คือสหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ย้ายจากความขัดแย้งทางลัทธินิกายศาสนา สู่ความขัดแย้งผลประโยชน์ ลัทธิอาณานิคมนำโลกสู่สงครามใหญ่ ที่เปลี่ยนโฉมหน้าโลกใหม่ความขัดแย้งผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่ กลับมาประสานกับความขัดแย้งทางลัทธินิยมอุดมการณ์ >>

No Comments

Comments are closed.