ภาพลักษณ์ของพุทธศาสนา ในภูมิหลังแห่งการเบียดเบียนบีฑาทางศาสนา

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 50 จาก 58 ตอนของ

ภาพลักษณ์ของพุทธศาสนา
ในภูมิหลังแห่งการเบียดเบียนบีฑาทางศาสนา

หันมามองดูประเทศพุทธศาสนาบ้าง ประเทศตะวันตกซึ่งผ่านประวัติศาสตร์แห่งการเบียดเบียนและสงครามศาสนามามากนั้นเอง ยอมรับกันทั่วไปอย่างชัดเจนว่า พุทธศาสนาไม่มีประวัติแห่งการกำจัดบีบคั้นห้ำหั่นบีฑาและสงครามศาสนา (ไม่มีทั้ง religious persecution และ religious war)

ในเรื่องนี้ จะไม่กล่าวถึงตนเอง แต่ยกคำในตำรับตำราของตะวันตกมาดู พอให้เห็นว่าเขามองพุทธศาสนาอย่างไร

Encyclopaedia Britannica, 1997 (ในคำ “matyr”) กล่าวว่า

“พุทธศาสนา . . . โดยเด่นชัดว่าไม่มีประวัติแห่งการบีบคั้นกำจัด (persecution) หรือการขัดแย้งที่รุนแรงกับลัทธิศาสนาอื่นๆ . . .”

สารานุกรมใหญ่ชุดเดียวกันนี้ (ในคำ “pacifism”) นอกจากกล่าวถึงพุทธศาสนาแล้ว ยังกล่าวถึงนักปกครองผู้เป็นพุทธศาสนิก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาช่วยให้แม้แต่กิจการของมนุษย์ด้านที่ถือกันว่าจะต้องใช้กำลังและความรุนแรงมากที่สุด ก็ยังกลายเป็นกิจการแห่งสันติไปได้ สารานุกรมนั้นกล่าวว่า

…ขบวนการใฝ่สันติ (หรือขบวนการสันตินิยม) ที่แท้ รายแรกเท่าที่รู้ มาจากพุทธศาสนา ซึ่งพระศาสดากำหนดให้สาวกทั้งหลายของพระองค์ งดเว้นโดยสิ้นเชิงจากการทำร้ายไม่ว่าด้วยประการใดๆ ต่อเพื่อนสัตวโลก ในอินเดีย มหาราชอโศกผู้ได้รับแรงดลใจจากพุทธศาสนาในศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสต์ศักราช ได้ละเลิกการสงครามอย่างเด็ดขาด…

Compton’s Interactive Encyclopedia, 1997 เมื่ออธิบายคำ “Pacifism” ก็กล่าวไว้ว่า

สันตินิยม ที่เป็นถ้อยคำ เพิ่งใช้กันเป็นสามัญเมื่อเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 แต่สันตินิยมที่เป็นขบวนการนั้น มีอายุนานเท่าพระพุทธศาสนา . . .

เพื่อไม่ให้เนื้อเรื่องยืดยาว ขอกล่าวเป็นข้อสังเกตว่า

๑. พุทธศาสนาไม่กำจัดกวาดล้าง หรือห้ำหั่นบีฑาใคร (persecution) และไม่มีสงครามศาสนากับใคร (religious war) แต่พุทธศาสนาก็ถูกกำจัดกวาดล้าง ซึ่งบางแห่งก็เป็นเหตุให้พุทธศาสนาสูญสิ้นไป

ก) พุทธศาสนาและชาวพุทธ ยังไม่สามารถป้องกันตนเองจากการถูกกำจัดกวาดล้างได้

ข) พุทธศาสนาและชาวพุทธ ยังไม่สามารถชักจูงให้ชาวศาสนาอื่นละเลิกการห้ำหั่นบีฑาและการทำสงครามศาสนาได้

ในประเทศอินเดีย ถิ่นเกิดของพุทธศาสนาเอง ช่วงแรกพุทธศาสนาถูกกษัตริย์หรือผู้มีอำนาจชาวศาสนาพราหมณ์ (ต่อมาคือฮินดู) กำจัดกวาดล้างหลายครั้ง

เริ่มแต่เมื่อผ่านพ้นรัชสมัยพระเจ้าอโศกไปราวครึ่งศตวรรษ กษัตริย์พราหมณ์ราชวงศ์ศุงคะล้มราชวงศ์โมริยะ/เมารยะของพระเจ้าอโศกลง ตั้งราชวงศ์ใหม่ของตนแล้ว ได้กำจัดกวาดล้างพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่ และครองอำนาจอยู่ยาวนานประมาณ ๑ ศตวรรษ (ราว ๑๘๔-๗๒ ปี ก่อน ค.ศ.)

ครั้งหลังสุด ประมาณ ค.ศ.1200 (พ.ศ.๑๗๐๐) กองทัพมุสลิมเตอร์กส์ยกมารุกรานแย่งชิงดินแดนถึงอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา นอกจากยึดครองบ้านเมืองแล้ว ก็แผ่ศาสนาอิสลามไปด้วย

กองทัพมุสลิมเตอร์กส์ได้บุกเผาวัดวาอาราม ทำลายมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ฆ่าฟันชาวพุทธทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ โดยบังคับให้หันไปนับถือศาสนาอิสลาม ดังตัวอย่างเรื่องราวในประวัติศาสตร์ตอนนั้น ที่นักประวัติศาสตร์มุสลิมเขียนไว้เองด้วยความภาคภูมิใจ และชาวตะวันตกได้แปลมาว่า

กลางเมืองนั้น มีวิหารหนึ่ง ซึ่งใหญ่โตและมั่นคงแข็งแรงยิ่งกว่าวิหารอื่นทั้งหลาย อันไม่อาจบรรยายหรือพรรณนาให้เห็นภาพได้

ดังนั้น สุลต่านจึงเขียนแสดงความรู้สึกทึ่งไว้ว่า: ถ้าบุคคลผู้ใดปรารถนาจะสร้างอาคารที่ใหญ่โตอย่างนี้ เขาจะมิอาจทำสำเร็จได้ หากมิใช้ทรัพย์เป็นแสนเหรียญแดง และถึงแม้จะใช้ช่างที่ชำนาญมีความสามารถที่สุด ก็จะต้องใช้เวลาสร้างถึง ๒๐๐ ปี . . .

แล้วสุลต่านก็ออกคำสั่งให้เอาน้ำมันจุดไฟเผาวิหารทุกแห่งเสียให้ราบเรียบเสมอผืนแผ่นดิน . . . อิสลามหรือความตาย (อย่างใดอย่างหนึ่ง) เป็นทางเลือกที่มหะมุดมอบให้แก่คนทั้งหลาย . . . ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่นั้นเป็นพราหมณ์ศีรษะโล้น (คือพระภิกษุ) คนเหล่านั้นถูกสังหาร

ณ ที่นั้นได้พบหนังสือจำนวนมากมาย และเมื่อชาวนักรบมูฮัมมัดได้เห็น จึงให้เรียกหาคนมาอธิบายเนื้อความ แต่คนเหล่านั้นได้ถูกฆ่าตายเสียหมดแล้ว ปรากฏว่าเมืองทั้งหมดนั้นคือสถานศึกษาแห่งหนึ่ง . . .

ประชาชนทั้งหลายนั้น บ้างก็ถูกเผา บ้างก็ถูกฆ่า . . .

ข้อนี้เป็นหลักการแห่งบรรพบุรุษทั้งหลายของข้าฯ นับแต่สมัยแห่งอาซาดุลลา ฆาลิบ จนถึงบัดนี้ ให้เปลี่ยนคนที่ไม่มีศรัทธาทั้งหลาย ให้หันมาถือพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียว และพระศาสนาแห่งมุซุลมาน ถ้าคนเหล่านั้นยอมรับนับถือศาสนาของเรา ก็ถูกต้อง และเป็นการดี แต่ถ้าเขาไม่ยอมรับ เราก็ลงดาบสังหารเขา . . .

กองทัพของมูฮัมมัดได้เริ่มฆ่าฟันสังหาร ทั้งข้างขวา ทั้งข้างซ้าย โดยมิต้องปรานี จนทั่วผืนแผ่นดินอันสกปรกนั้น เพื่ออิสลาม และโลหิตก็ได้หลั่งไหลดังสายธาร เหล่านักรบได้ขนรวมเอาทองและเงินมากมายสุดจะคิดคำนวณได้ . . .

หลังจากฟาดฟันสังหารสุดจะคณนานับได้ มือของท่านและเหล่าสหาย ก็นับมูลค่าแห่งทรัพย์สินที่ได้ขนรวมมา จนเหน็บจนชาไป

เมื่อได้มีชัยโดยสมบูรณ์แล้ว ท่านก็กลับมาเล่าแถลงเรื่องราวแห่งชัยชนะที่ได้มาเพื่ออิสลาม ทุกคนไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อย ก็ได้พร้อมกันแสดงความชื่นชมยินดี และขอบคุณพระเจ้า”1

นับแต่นั้น พุทธศาสนาที่รุ่งเรืองมา ๑๗๐๐ ปี ก็ได้สูญสิ้นไปจากชมพูทวีป

แต่ทั้งนี้ชาวพุทธจะต้องเข้าใจถึงความสูญสิ้นของพุทธศาสนานี้ ว่ามิใช่เพราะเหตุที่ถูกกองทัพมุสลิมทำลายอย่างเดียว แต่จะต้องมองถึงความเสื่อมโทรมในวงการพุทธศาสนาเองด้วย ซึ่งการทำลายของกองทัพมุสลิมนี้เป็นการลงดาบครั้งสุดท้าย

อีกทั้งจะต้องเรียนรู้กระบวนการของศาสนาฮินดูในการกลืนพุทธศาสนาประกอบด้วย

พึงสังเกตว่า กษัตริย์พราหมณ์ที่โค่นราชวงศ์โมริยะ/เมารยะ ก็คือพราหมณ์ที่เป็นอำมาตย์ข้าราชการในราชสำนักของราชวงศ์โมริยะ/เมารยะ ของพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง

ในยุคราชวงศ์โมริยะ พระเจ้าอโศกกษัตริย์พุทธได้เริ่มให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาไว้ และมิใช่เพียงให้เสรีภาพ แต่ยิ่งกว่านั้นอีก คือทรงอุปถัมภ์บำรุงทุกลัทธิศาสนา ตลอดกระทั่งว่าพราหมณ์เองก็เป็นอำมาตย์ในราชสำนัก

แต่แล้วอำมาตย์พราหมณ์เหล่านี้ก็ทำลายราชวงศ์ของพระองค์ และเมื่อขึ้นครองอำนาจแล้ว ก็ทำสิ่งที่ตรงข้ามกับการให้เสรีภาพและทำนุบำรุงทุกศาสนา คือกลับกำจัดกวาดล้างพุทธศาสนา ถึงขนาดที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า ได้ให้ค่าหัวชาวพุทธทีเดียว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ภาค ๓ ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา ต่อสัจธรรมด้วยปัญญาประวัติศาสตร์สรุปว่า ชาวพุทธถูกห้ำหั่นบีฑา แต่ไม่มีสงครามศาสนากับชาวพุทธ >>

เชิงอรรถ

  1. Elliot, The History of India As Told by Its Own Historians (Calcutta, 1952ff.) [คัดบางส่วนมาอ้างใน A. K. Warder, Indian Buddhism (Delhi: Motilal Banarsidass, 1980), pp.506-508]

No Comments

Comments are closed.