ตะวันตกตื่นตัวทางปัญญา หันออกจากคริสต์ศาสนา สู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 24 จาก 58 ตอนของ

ตะวันตกตื่นตัวทางปัญญา
หันออกจากคริสต์ศาสนา สู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

๔. Enlightenment (คริสต์ศตวรรษที่ 18; บางตำราก็ยืดเป็นคริสต์ศตวรรษที่ 17-18) แปลว่า (ยุคแห่ง) “พุทธิปัญญา” หรือ “การเรืองปัญญา” (เรียกอย่างฝรั่งเศสว่า “Age of the Enlightened” คือยุคของผู้มีพุทธิปัญญา) บางทีก็เรียกว่า Age of Reason คือ ยุคแห่งเหตุผล

คำว่า enlightenment นี้ แปลตามศัพท์แท้ๆ ว่า “การทำให้สว่าง” ซึ่งมีความหมายตรงข้ามกับชื่อของสมัยกลางคือ Middle Ages ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ายุคมืด (Dark Ages) ทั้งนี้ เพราะนักคิดในยุคพุทธิปัญญานั้นมองสมัยกลางด้วยความรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความมืดมน งมงาย เชื่อถือเหลวไหล เป็นปฏิปักษ์ต่อการศึกษาวิทยาการ (“Middle Ages,” Britannica, 1997) ต่างจากยุคสมัยของพวกตนที่ได้พ้นออกมาจากความมืดมัวโง่เขลา และพบแสงสว่างแห่งปัญญาแล้ว (พึงดูทัศนะของปราชญ์ยุคนั้น เช่น Immanuel Kant เป็นต้น)

ลักษณะสำคัญของยุคพุทธิปัญญา คือความเชื่อมั่นในพลังการคิดเหตุผลของมนุษย์ว่าจะสามารถรู้ความจริงของสากลพิภพ และแก้ไขปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของตนให้เจริญงอกงามดีวิเศษขึ้นได้ (คือมี คติแห่งความก้าวหน้า หรือ idea of progress เฟื่องฟูเด่นขึ้นมา) พร้อมทั้งความใฝ่นิยมเสรีภาพ ชื่นชมวิทยาศาสตร์ และเป็นปฏิปักษ์ต่อการถืองมงายในเรื่องโชคลางและพิธีรีตองต่างๆ (superstition) ซึ่งทำให้ต้องขัดแย้งกับทางฝ่ายศาสนาคริสต์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (เช่น “Roman Catholicism,” Britannica, 1997)

ยุคพุทธิปัญญานี้ ก็สืบเนื่องมาจากความตื่นตัวทางด้านสติปัญญา ที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุค “คืนชีพ” (Renaissance, ค.ศ. 1453-1527) ที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ

โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวที่เรียกว่า การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ซึ่งถือว่าเริ่มต้นใน ค.ศ.1543 (เมื่อโคเปอร์นิคัส/Copernicus พิมพ์หนังสือ “ว่าด้วยปริวรรตแห่งดวงเวหา” — On the Revolutions of the Celestial Spheres) และดำเนินต่อมาตลอดศตวรรษที่ 16 และ 17 จนทำให้คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นยุคแห่งพุทธิปัญญาดังกล่าวแล้ว

แท้จริงนั้น ยุคสมัยทั้ง ๔ ที่กล่าวมา คือ สมัยกลาง (Middle Ages) ยุคคืนชีพ (Renaissance) ยุคปฏิรูป (Reformation) และยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment) นั้น มีความสัมพันธ์เป็นเรื่องชุดเดียวกัน และย่อได้เป็น ๒ ชุด หรือ ๒ ยุค กล่าวคือ

๑. สมัยกลาง (Middle Ages) เป็นพื้นเดิมที่ถูกปรารภ หรือเป็นสภาพกดดัน ซึ่งทำให้เกิด

๒. ยุคคืนชีพ (Renaissance) ขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสใหม่

กระแสใหม่ที่เริ่มต้นขึ้นนี้ ส่งผล ๒ อย่าง คือ ด้านหนึ่ง เกิดการต้านทานขัดขวาง เพราะเมื่อจะสลัดออกไปก็ต้องสู้กับแรงเก่าที่ดึงเอาไว้ ได้แก่ปรากฏการณ์ของยุคปฏิรูปและย้อนปฏิรูป (Reformation และ Counter-Reformation) และอีกด้านหนึ่ง เกิดการสืบต่อ เพราะเมื่อยุคคืนชีพจุดประกายผุดพลุ่งขึ้นมาแล้ว ก็เป็นแรงดันให้เกิดการเดินหน้าต่อๆ ไป อันได้แก่ปรากฏการณ์ของยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment)

ถ้าจับเอาแต่ตัวยืน ก็ได้ ๒ ยุค คือ ยุคเก่า ได้แก่สมัยกลาง และต่อจากนั้น เมื่อได้เปลี่ยนแปลงใหม่จนผ่านการต้านทานขัดขวางไปได้แล้ว ก็มีผลเป็นยุคใหม่ คือยุคพุทธิปัญญา แต่ที่ว่านี้เป็นเพียงการพูดให้เห็นภาพอย่างง่ายๆ

ความเป็นไปหรือกระแสความตื่นตัวและความเจริญก้าวหน้าทางสติปัญญา ที่ดำเนินมาถึงยุคพุทธิปัญญานี้ ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นการปฏิวัติขึ้น ๒ อย่าง คือ

๑. การปฏิวัติทางการเมือง ได้แก่ ปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ใน ค.ศ.1789-1815 ซึ่งตามมาใกล้ๆ กับการปฏิวัติของอเมริกา (American Revolution) ใน ค.ศ.1775-1783

๒. การปฏิวัติทางเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ ปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งเริ่มในอังกฤษ ประมาณ ค.ศ.1750-1850

การปฏิวัติ ๒ อย่างนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แผ่ขยายผลมากมายและกว้างไกล พลิกผันสภาพบ้านเมือง ระบบสังคม และวิถีชีวิตของผู้คน นำอารยธรรมขึ้นสู่ยุคใหม่ โดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรม (industrialization) นั้น ถือว่าเป็น modernization คือเป็นตัวกำหนดให้สังคมตะวันตกและโลกขึ้นสู่ยุคสมัยใหม่ (modern age)1 (“Modernization and Industrialization,” Britannica, 1997)

โดยนัยนี้ ในที่สุด ยุคคืนชีพ ก็ดี ยุคปฏิรูป ก็ดี ยุคพุทธิปัญญา ก็ดี ก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่คั่นกลางระหว่าง ๒ ยุคใหญ่ คือ

๑. สมัยกลาง (Middle Ages) ที่ความเชื่อทางศาสนา ซึ่งทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติเหมือนกันหมด ตามกำหนดของศาสนจักรคริสต์ เป็นเครื่องชี้นำชีวิตและวิถีของสังคม กับ

๒. สมัยใหม่ (modern age) ที่แนวคิดความหวังของแต่ละบุคคลผู้เป็นอิสระที่จะเชื่อได้อย่างเสรี มาพร้อมกันเชิดชูยกให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม เป็นเจ้าบทบาทในกระบวนการที่เรียกว่าการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าของชีวิตและสังคม

(แต่คำว่า modern age ยังไม่ได้ใช้เป็นอสาธารณนาม ที่มีความหมายจำกัดเฉพาะ อย่างคำว่า Middle Ages)

ความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและสังคม แนวคิดความเชื่อใหม่ๆ และความตื่นเต้นกับความเจริญก้าวหน้าแปลกใหม่ต่างๆ ได้ทำให้กระแสความคิดความสนใจของคนสมัยใหม่ในตะวันตก ที่ผละออกมาจากศาสนาคริสต์อยู่แล้ว ยิ่งห่างไกลจากศาสนาออกมาเรื่อยๆ และอิทธิพลของศาสนจักรคริสต์ก็ยิ่งลดน้อยถอยลงไป แล้วยังส่งอิทธิพลนี้ไปยังประชาชนในแดนห่างไกลที่กำลังพัฒนาทั่วโลกด้วย

จนกระทั่งถึงช่วงปลายของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ จึงถึงจุดหักเหที่อารยธรรมสมัยใหม่นั้นกลับถึงคราวต้องเคว้งคว้างคลำหาทิศทางใหม่

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พอชาวบ้านฟื้นคืนชีพขึ้นมา ศาสนาคริสต์ก็ถึงวาระแห่งการปฏิรูปถึงจะผ่อนอิทธิพลครอบงำทางปัญญา ฝรั่งยังต้องดิ้นหนีภัยอำนาจการเมืองของคริสต์ศาสนา >>

เชิงอรรถ

  1. ดู เชิงอรรถ หน้า ๙๖ และโยงกับหน้า ๑๑๓ ด้วย

No Comments

Comments are closed.