บทสรุป

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 57 จาก 58 ตอนของ

บทสรุป

ได้กล่าวแล้วแต่ต้นว่า ในการขัดแย้งตลอดจนสงครามที่มีเรื่องศาสนาเกี่ยวข้องนั้น จะต้องแยกให้ดี ระหว่างการขัดแย้งสู้รบกันเพราะความต่างพวก กับการขัดแย้งสู้รบกันเพราะความต่างศาสนา เพราะถ้าแยกไม่ได้ก็จะทำให้แก้ปัญหาไม่ถูกที่ และอาจจะทำให้ยิ่งสับสนมากขึ้น

บางครั้งบางกรณี จากจุดเริ่มที่เป็นเพียงปัญหาความต่างพวก แต่ต่อมาปัญหาความต่างศาสนาก็เข้าไปผสม ทำให้ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ชนชาติหรือเผ่าชนต่างๆ อยู่ประจำในถิ่นฐานเฉพาะลงตัวแล้ว พร้อมทั้งได้มีการนับถือศาสนาหรือลัทธินิกายอันใดอันหนึ่งต่อเนื่องมานานจนแน่นอนลงไป และเกิดความยึดถือลัทธิศาสนานั้นเป็นของตนพวกตน หรือผนวกการนับถือลัทธิศาสนานั้นๆ เข้ากับความเป็นพวกตนและพวกนั้นพวกนี้แล้ว ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่การขัดแย้งสู้รบจะมีทั้งปัญหาความต่างพวก และปัญหาความต่างศาสนาปนเปไปด้วยกัน แล้วซ้ำเติมกันให้รุนแรงยิ่งขึ้น

ในที่นี้จะเสนอข้อพิจารณาเพื่อการแก้ไขปัญหาจากแต่ละด้านไปบรรจบกัน ดังนี้

๑. ปฏิบัติต่อทิฏฐิให้ถูกต้อง จุดที่สนใจกันมากว่าเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งสู้รบกัน ก็คือความขาดขันติธรรม (ขาด tolerance คือ intolerance) โดยเฉพาะชาวตะวันตกปัจจุบันจะมองเน้นที่จุดนี้

แต่ที่จริงควรจะสนใจและต้องแก้ไขที่จุดต้นตอ ที่เป็นสาเหตุของความขาดขันติธรรมนั้น มิฉะนั้นการแก้ปัญหาจะทำได้เพียงแค่ให้ยอมรับและยึดถือกฎกติกาในการที่จะไม่รุกล้ำละเมิดกัน อย่างที่พยายามปฏิบัติกันอยู่ ซึ่งไม่ได้ผลจริง และฝืนใจ ไม่ยั่งยืน

ตัวมูลเหตุต้นตอของความขาดขันติธรรมที่สำคัญ คือ ทิฏฐิ ได้แก่ความเชื่อ ความยึดถือ การมองความจริงไปตามที่ถูกสั่งสอน ซึ่งอาจจะมาจากข้อกำหนดในลัทธิศาสนา

ตัวอย่าง เช่น ความยึดถือว่า คนที่ไม่นับถือเทพเจ้าของตน เป็นคนบาป หรือเป็นศัตรูของเทพเจ้า ซึ่งจะต้องกำจัด ความเชื่อว่าการทำลายคนนอกศาสนาของตน เป็นความดีงาม หรือเป็นการกระทำที่จะได้รับความโปรดปราน ตลอดจนเชื่อว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องไปกำจัดคนที่นับถือเชื่อถืออย่างนั้นอย่างนี้

ถ้าเชื่อหรือมีทิฏฐิอย่างข้างต้นนี้อยู่ ความขาดขันติธรรมก็แก้ไม่ได้จริง การใช้กฎกติกา อย่างเช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน (human rights) ก็แก้ปัญหาไม่ได้จริง อย่างดีก็ต้องอาศัยการสะสมกำลังไว้ยับยั้งกันตามระบบ deterrence ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน

แต่ถ้าปัญหาไม่มีเรื่องทิฏฐินี้เป็นต้นตอแล้ว การขาดขันติธรรม (intolerance) ก็แก้ไขได้ไม่ยากนัก

เรามีสิทธิแม้แต่จะเชื่อว่า เขาเห็นผิด ว่าการที่เขานับถือหรือปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้เป็นบาป หรือแม้แต่เชื่อว่าการที่เขาไม่นับถือไม่ปฏิบัติอย่างเราเป็นบาป แต่จุดสำคัญอยู่ที่ท่าทีและการปฏิบัติต่อเขา

หมายความว่า เมื่อเชื่อว่าเขาเห็นผิด มีบาปแล้ว แทนที่จะคิดกำจัด ควรจะมีท่าทีสงสารอยากให้เขาเปลี่ยนมาเห็นถูก และปฏิบัติต่อเขาด้วยเมตตาโดยวิธีการแห่งปัญญา คือชี้แจงแนะนำ พูดจาสนทนาด้วยเหตุผล ตลอดจนถกเถียงกัน ซึ่งเป็นการให้การศึกษาแก่เขา และจะทำได้แค่ไหน ก็สุดแต่ความสามารถของเรา แต่ไม่มองเขาเป็นปฏิปักษ์ และไม่ใช้กำลังบังคับหรือประหัตประหารกัน คือมีท่าทีเป็นมิตร และใช้วิธีการแห่งปัญญา

เรื่องนี้แยกสั้นๆ เป็น ๒ ขั้นตอน

ขั้นที่ ๑ เชื่อว่า หรือถือว่า การที่เขานับถือหรือปฏิบัติอย่างนั้นเป็นการเห็นผิด หรือเป็นบาป ฯลฯ (ก็แล้วแต่)

ขั้นที่ ๒ ก) มีท่าทีเป็นมิตร สงสารอยากช่วยให้เขาพ้นจากบาปหรือจากความเห็นผิดนั้น

ข) ปฏิบัติการด้วยการแนะนำสั่งสอน ให้ความรู้ สนทนาถกเถียง ด้วยวิธีการแห่งปัญญา

๒. ไม่เอาความต่างศาสนามาซ้ำเติมความต่างพวก ในกรณีที่เกิดการขัดแย้งสู้รบเพราะความต่างพวก เช่น เกิดจากปัญหาเชื้อชาติ ผิว เผ่าพันธุ์ เป็นต้น และแม้แต่การแยกพวกเพราะนับถือศาสนาต่างกัน

ก) พยายามกันไม่ให้ปัญหาความต่างศาสนาเข้าไปผสมซ้ำเติมความขัดแย้งนั้น

นอกจากไม่นำเอาความต่างศาสนาเข้าไปเสริมเรื่องแล้ว ต้องไม่ให้มีโอกาสที่จะนำเอาคำสอนในศาสนาไปอ้าง เพื่อหนุนการขัดแย้งหรือทำร้ายซึ่งกันและกัน

ข) ในทางตรงข้าม คำสอนในศาสนาควรจะถูกยกมาอ้างในทางที่จะช่วยแก้ไขผ่อนเบาความขัดแย้ง และระงับปัญหา

๓. สร้างจิตสำนึกใหม่ในการรวมหมู่ของมนุษย์ เมื่อแยกความต่างศาสนาออกมาจากความต่างพวกได้ คือไม่ให้มีข้ออ้างหรือหลักการใดๆ ในศาสนาที่จะไปยืนยันส่งเสริมการขัดแย้งสู้รบ และพยายามนำคำสอนในศาสนามาช่วยผ่อนเบาหรือระงับการพิพาทนั้นแล้ว ปัญหาก็จะไม่ซับซ้อน

เมื่อทำได้อย่างนี้ ก็จะเหลืออยู่แต่เพียงปัญหาการขัดแย้งสู้รบกันเพราะความต่างพวกอย่างเดียว

เมื่อถึงขั้นนี้ จะเป็นปัญหาในระดับสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ทีเดียว ซึ่งการแก้ไขระยะยาวและแท้จริง จะต้องอาศัยการศึกษาหรือการพัฒนามนุษย์ที่ถูกต้อง

การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่นั้น ถือว่าเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์สังคม และเป็นความจำเป็นในการที่จะอยู่รอดและอยู่ด้วยดี

ในภาวะเช่นนี้ ความรักหมู่รักพวกย่อมมีคุณประโยชน์มาก โดยช่วยให้เกิดความสามัคคีมีพลัง ช่วยกันทำการสร้างสรรค์ได้สำเร็จ และแต่ละคนก็มีแรงจูงใจที่จะทำการสร้างสรรค์เพื่อความเจริญงอกงามแห่งชุมชน สังคม หมู่เหล่า ตลอดจนองค์กร เป็นต้น ที่ตนมีส่วนร่วมอยู่นั้น

ในกรณีนี้ ศาสนาก็มีบทบาทช่วยส่งเสริมให้คนในกลุ่ม ในหมู่ ในชุมชน หรือในสังคมนั้น มีความสามัคคี รักกัน ช่วยเหลือกัน อยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข

แต่ปัญหาเกิดขึ้นว่า เมื่อมนุษย์มารวมหมู่รวมพวกกันแล้ว แต่ละกลุ่มแต่ละหมู่ก็เลยกลายเป็นคนละกลุ่มคนละหมู่ แยกต่างหากจากกัน กลายเป็นต่างพวกต่างหมู่ แล้วก็มีความโน้มเอียงที่จะตั้งท่าทีแบบแบ่งแยก ระแวง เป็นปฏิปักษ์ ซึ่งนำไปสู่การขัดแย้งแย่งชิงต่อสู้กัน

ก็เลยกลายเป็นว่า มนุษย์รวมตัวเข้ามาเป็นกลุ่มพวกของตน เพื่อแยกจากกลุ่มอื่นพวกอื่น พูดสั้นๆ ว่า รวมเพื่อแยก

การรวมตัวตลอดจนสามัคคีเช่นนี้ จึงนำผลดีมาด้านหนึ่ง พร้อมกับก่อให้เกิดผลเสียอีกด้านหนึ่ง นับว่าเป็นการพัฒนาของมนุษย์ขึ้นมาขั้นหนึ่ง แต่ยังเป็นการพัฒนาเพียงในขั้นต้น

แท้จริงนั้น มนุษย์ก็คือมนุษย์ด้วยกันทั่วทั้งโลก มนุษย์จึงจะต้องเป็นส่วนร่วมของชุมชนมนุษย์ทั่วทั้งโลกนี้ (world community)

ที่จริง โดยธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนเป็นสมาชิกหรือองค์ประกอบหนึ่งๆ ของชุมชนแห่งโลกมนุษย์นี้อยู่แล้ว แต่มนุษย์จะต้องทำให้ความเป็นสมาชิกของตนนี้ มีผลจริงในทางปฏิบัติ ด้วยการติดต่อสื่อสารสัมพันธ์ถึงกันจริงๆ ทั่วถึงกันหมด

ภาวะนี้เท่ากับเป็นจุดหมายในเชิงสังคม ของการพัฒนามนุษย์

การพัฒนามนุษย์นั้น จะถือว่าสำเร็จผลเมื่อบรรลุจุดหมายในการสร้างชุมชนแห่งโลกมนุษย์ ที่ทุกคนเป็นส่วนร่วมในโลกที่มีสันติสุข และศาสนาที่แท้ก็ควรมีบทบาทช่วยหนุนนำมนุษย์ให้ก้าวไปสู่จุดหมายนี้

เริ่มตั้งแต่ให้มนุษย์มองการรวมตัวเป็นกลุ่ม ในความหมายและด้วยท่าทีใหม่ คือให้มองการรวมตัวเป็นกลุ่มของมนุษย์แต่ละกลุ่ม ไม่ใช่เป็นการแยกเป็นต่างกลุ่ม แต่เป็นขั้นตอนของการที่จะมารวมกันในขอบเขตและขนาด ที่ขยายกว้างใหญ่ยิ่งขึ้นไปๆ ตามลำดับ จนถึงเอกภาพระดับโลกในที่สุด

เพื่อให้บรรลุผลที่ดีงามนี้ จะต้องละเลิกท่าทีการมองและการชี้นำสั่งสอนกันในลักษณะที่เป็นการย้ำให้ยึดถือพวกตน โดยแยกจากพวกอื่น

ต้องยอมรับความจริงว่า ปฏิบัติการเชิงแบ่งแยกเช่นนี้ ยังมีมากมายเด่นชัดในโลก คือมีการบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนกระตุ้นเร้า ตอกย้ำ ให้ยึดถือในกลุ่มพวกของตนให้เหนียวแน่นและรุนแรงยิ่งขึ้น และมักจะมาพร้อมกับการวางท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มอื่นพวกอื่น

เราได้เห็นกันชัดๆ ว่า บางทีศาสนาก็ถูกนำมาอ้างหรือใช้ประโยชน์เพื่อสนองจุดหมายที่ย้อนกระแสการพัฒนามนุษย์อย่างนี้

ที่ว่ามานี้คือจุดของการแก้ปัญหาที่แท้จริง ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์การพัฒนามนุษย์ด้วย ว่าเมื่อโลกทางด้านสิ่งแวดล้อม (ทั้งทางธรรมชาติ ทางเทคโนโลยี และทางระบบจัดการสังคม) ขยายความสัมพันธ์ถึงกันเป็นอันเดียวทั่วโลก อย่างที่เรียกว่าเป็นโลกาภิวัตน์ เป็นภาวะไร้พรมแดนแล้ว มนุษย์จะพัฒนาจิตใจให้กว้างขวาง มีเมตตาไมตรีที่เชื่อมสัมพันธ์ให้รวมเป็นชุมชนมนุษยชาติอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีปัญญาที่มองเห็นความจริงอย่างเป็นอิสระไร้พรมแดนได้หรือไม่

การแก้ปัญหาความขัดแย้งแบ่งแยกของมนุษย์ จะต้องก้าวมาถึงขั้นนี้

๔. พัฒนาภาวะจิตใจไร้พรมแดน ความสำเร็จของการแก้ปัญหาอยู่ที่ความสำเร็จในการพัฒนามนุษย์

ถ้าการศึกษาถูกต้อง เป็นสิกขาจริง มนุษย์ยิ่งพัฒนาไป ก็ยิ่งหลุดพ้นจากความคับแคบที่เกิดจากความยึดถือตัวตนของตน ที่ทำให้แยกตัวออกจากกัน ความต่างพวกก็จะไม่มี และเมื่อการยึดถือความต่างพวกไม่มี ปัญหาความขัดแย้งแบ่งพวกก็หมดไป

มนุษย์ยิ่งพัฒนา ก็ยิ่งขยายความรู้สึกนึกคิด ขยายจิตใจ ขยายปัญญากว้างขวางพ้นความคับแคบแบ่งแยก สู่ความเป็นกลาง ที่ประสานกับความจริงของสัจธรรมในธรรมชาติยิ่งขึ้น และพฤติกรรมของเขาก็จะประสานกลมกลืนยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมนุษย์พัฒนามากขึ้น เขาก็จะหลุดพ้นจากความยึดถือคับแคบ ขยายจิตปัญญาและพฤติกรรมให้กว้างขวางออกไป โดยพ้นจากสภาพจิตคับแคบยึดถือที่เรียกว่า มัจฉริยะ คือความใจแคบหวงแหนกีดกัน ๕ ประการ ไปทีละน้อย จนหมดสิ้น

มัจฉริยะ ๕ ประการนี้ จะเป็นตัวตัดสินการพัฒนามนุษย์ และการแก้ปัญหาความขัดแย้งแบ่งแยกในหมู่มนุษย์ว่าจะสำเร็จหรือไม่

มัจฉริยะ ๕ ที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดการพัฒนามนุษย์ในแง่นี้ คือ

๑. ความหวงกั้นถิ่นอาศัย คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องที่อยู่อาศัย ประเทศ ท้องถิ่น ดินแดน (อาวาสมัจฉริยะ)

๒. ความหวงกั้นกลุ่มพวก คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องพรรคพวก พงศ์เผ่า เหล่ากอ ชาติพันธุ์ การแบ่งแยกพวกหมู่เป็นกลุ่มผิว กลุ่มเผ่า กลุ่มลัทธิศาสนาต่างๆ (กุลมัจฉริยะ)

๓. ความหวงกั้นลาภผล คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องลาภ ทรัพย์สมบัติ และผลประโยชน์ (ลาภมัจฉริยะ)

๔. ความหวงกั้นชั้นวรรณะ คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องวรรณะ ผิวพรรณ และการแบ่งชนชั้นต่างๆ (วรรณมัจฉริยะ)

๕. ความหวงกั้นภูมิธรรมภูมิปัญญา คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องของวิทยาการ ความรู้ คุณพิเศษ วุฒิ ความดีงาม ความก้าวหน้าในทางภูมิธรรมภูมิปัญญา และความสำเร็จในการสร้างสรรค์ (ธรรมมัจฉริยะ)

การศึกษาที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการศึกษาที่แท้จริง จะทำให้มนุษย์พัฒนาคุณลักษณะในด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์โดยมีมัจฉริยะ ทั้ง ๕ เหล่านี้ ลดน้อยลงๆ จนหมดไปในที่สุด

แล้วเมื่อนั้น การพัฒนามนุษย์ก็จะประสานสอดคล้องทันกับการพัฒนาของโลกแห่งสิ่งแวดล้อม คือ

มนุษย์ที่มีจิตปัญญากว้างขวางไร้พรมแดน อยู่ในโลกที่กว้างไกลไร้พรมแดน

มิใช่ย้อนทางกันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่า โลกยิ่งถึงทั่วกันได้ไร้พรมแดน แต่ใจคนยิ่งคับแคบแบ่งแยกแตกพวกกัน

ถ้ากำจัดมัจฉริยะ ๕ ได้ โลกก็จะปลอดภัยจากการกีดกั้นทำลายกันระหว่างหมู่ระหว่างพวกอย่างแน่นอน

การแก้ปัญหาที่แท้จริง ที่จะสำเร็จผลแน่นอน คือการพัฒนามนุษย์ให้มีคุณสมบัติที่จะทำให้สังคมอยู่ในภาวะไร้ปัญหา หรือไม่เป็นผู้ก่อปัญหา ไม่ใช่รอไปแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นการไม่ยอมรับความจริง

การพัฒนามนุษย์ให้หมดมัจฉริยะ ๕ คือการสร้างภาวะไร้ปัญหา ที่จะทำให้ปัญหาการขัดแย้งแบ่งแยกไม่เกิดมีขึ้นมา ที่จะต้องไปพยายามแก้ไข

ทางแก้ไขมีชัดเจนอยู่อย่างนี้แล้ว แต่ปัญหากลับมาอยู่ที่ว่ามนุษย์พร้อมที่จะปฏิบัติหรือไม่ ถ้าไม่ หรือถ้าทำสวนทางกับหลักการนี้ ก็เป็นการตอบอยู่ในตัวว่า มนุษย์ต้องการแบ่งแยกขัดแย้งและทำลายกันต่อไป

๕. ยอมรับความเป็นสากลเสมอกัน เมื่อมนุษย์พัฒนาจิตปัญญาให้พ้นจากมัจฉริยะ ๕ ประการนี้ได้แล้ว เขาจึงจะสามารถมีเมตตาหรือไมตรีอย่างแท้จริงต่อเพื่อนมนุษย์

แล้วเมื่อนั้น สภาพจิตที่เปิดกว้าง ไม่มีความกีดกั้นคับแคบนี้ ก็จะประสานสอดคล้องกับความเป็นสากล ๓ ประการที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น โดยที่ความเป็นสากลทั้งสามนั้น จะเป็นทั้งปัจจัยช่วยเกื้อหนุนในการพัฒนาคนให้พ้นจากมัจฉริยะทั้งห้านั้น และเป็นที่แสดงออกของความไม่มีมัจฉริยะเหล่านี้ในภาคปฏิบัติเพื่อการแก้ปัญหาภายนอกด้วย

ขอออกชื่อความเป็นสากล ๓ ประการไว้อีกครั้งหนึ่ง ได้แก่

๑) ความจริงที่เป็นสากล คือหลักความจริงที่เป็นกลางๆ มีผลเสมอเหมือนกันแก่ทุกคน ทุกที่ รวมทั้งทุกศาสนา

๒) ความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล คือ ความเป็นมนุษย์ที่จะต้องมองเห็นเข้าใจให้ความนับถือเสมอกัน การทำร้ายและทำลายชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะมีสังกัดใดหรือไม่ เป็นความไม่ดีไม่งามทั้งสิ้น

๓) ความมีเมตตาที่เป็นสากล คือ แผ่ความรู้สึกเป็นมิตรไมตรี มีความรักปรารถนาประโยชน์สุขแก่มนุษย์ทั่วทุกคนเสมอเหมือนกัน โดยไม่มีการจำกัดหรือแบ่งแยก

๖. มีท่าทีอนุรักษ์สัจจะ: ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา ต่อสัจธรรมด้วยปัญญา ศาสนามีคุณค่าต่อมนุษย์ (หรือจะพูดว่าทำหน้าที่ต่อมนุษย์) โดยหลักใหญ่ ๒ ประการ คือ

๑) อำนวยประโยชน์สุขแก่มนุษย์ ทั้งเฉพาะแต่ละบุคคล และที่รวมกันเป็นสังคม

๒) ช่วยนำมนุษย์ให้เข้าถึงสัจธรรม คือความจริงซึ่งเป็นภาวะของตัวชีวิตของเขาเอง

ที่จริงนั้น ๒ ข้อนี้สัมพันธ์กัน เมื่อพูดในขั้นสุดท้าย การที่มนุษย์จะได้รับประโยชน์สูงสุดแท้จริงก็ต่อเมื่อเข้าถึงสัจธรรม หรือเกิดมีปัญญาที่รู้เข้าใจถึงความจริงแห่งชีวิตของตนเอง

มนุษย์ทุกคนจึงเท่ากับมีหน้าที่ที่จะทำความจริงนี้ให้ประจักษ์แจ้งแก่ตนเอง ซึ่งเป็นประสบการณ์เฉพาะตนที่ทำให้กันไม่ได้ แต่คนอาจเป็นกัลยาณมิตรช่วยชี้แนะ นำทางให้แก่กันได้

เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยเมตตาไมตรี ไม่มีการเบียดเบียนรังแกขัดแย้งแบ่งแยกกัน ด้วยการดำรงอยู่และสัมพันธ์กันบนฐานแห่งหลักการ ๕ ข้อต้นแล้ว ก็จะทำให้เขาพร้อมที่จะเพียรทำกิจหน้าที่ของตนในการพัฒนาปัญญาให้เข้าถึงความจริงหรือสัจธรรมนั้น

แต่เพราะเขาต้องทำกิจนี้ในขณะที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เพื่อให้การทำกิจหน้าที่นี้ดำเนินไปอย่างได้ผล ไม่ติดขัด สังคมหรือสภาพความสัมพันธ์กับผู้อื่นจึงจะต้องอยู่ในภาวะที่ไม่ปิดกั้นขัดขวาง แต่เปิดหรือเอื้อโอกาส

ตลอดจน ถ้าเป็นไปได้ ก็ให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น เป็นเครื่องส่งเสริมเกื้อหนุนกัน โดยไม่นำเอาความเห็นความเข้าใจหรือความยึดถือของตนไปบังคับยัดเยียดใส่ให้แก่ผู้อื่น หรือแม้แต่มากล้อมแกล้มเอาอกเอาใจกัน

ในการสังสรรค์สัมพันธ์กันระหว่างที่ยังแสวงหาหรือเพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสัจธรรมนี้ ได้กล่าวถึงหลักการอย่างหนึ่งไว้ข้างต้นแล้วว่า ผู้แสวงสัจจะ พึงมีท่าทีสัจจานุรักษ์หรืออนุรักษ์สัจจะ ได้แก่การไม่ตัดสินผูกขาดสัจจะ

กล่าวคือ บุคคลมีสิทธิที่จะพูดว่า “ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้” หรือว่า “เท่าที่ข้าพเจ้าคิดเห็นเข้าใจ ความจริงเป็นอย่างนี้” แต่ไม่มีสิทธิกล่าวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งนั้น”

หลักการนี้เท่ากับเป็นการเปิดกว้างว่า ความจริงอาจเป็นอย่างอื่นก็ได้ หรือมีทางที่จะเป็นได้อย่างอื่น

แต่ทั้งนี้ก็มิใช่เป็นการพูดอย่างเลื่อนลอยว่าความจริงเป็นอย่างไรก็ได้ และมิใช่แม้แต่จะพูดว่า อย่างนี้ก็จริง อย่างนั้นก็จริง หรือหลักของข้าพเจ้าก็จริง ของท่านก็จริง ซึ่งกลายเป็นการเลยเถิดไปยังสุดโต่งอีกข้างหนึ่ง

นั่นคือเท่ากับทำตัวเป็นผู้ตัดสินความจริงอีกนั่นเอง ตลอดจนเป็นการเอาความจริงมาประนีประนอมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

การปฏิบัติในเรื่องนี้ ได้อธิบายไว้ข้างต้นมากแล้ว เมื่อว่าโดยย่อ มีหลัก ๒ อย่าง ที่ผู้แสวงหาหรือเพียรเข้าถึงสัจธรรมควรระลึกไว้ คือ

ก. การไม่เลยไปสู่สุดโต่ง ๒ อย่าง ที่จะกลายเป็นการตั้งตนเป็นผู้ตัดสินสัจธรรม ได้แก่

๑) การผูกขาดสัจธรรม ด้วยท่าทีที่ไม่เป็นการอนุรักษ์สัจจะว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งนั้น”

๒) การตัดสินความจริงโดยวิ่งเลยเถิดไปอีกข้างหนึ่ง หรือเอาความจริงมาประนีประนอมกันว่า “ความจริงเป็นอย่างนี้ก็ได้ เป็นอย่างนั้นก็ได้” หรือ “ที่ทุกฝ่ายว่า ก็เป็นความจริงด้วยกันทั้งนั้น”

ข. ความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ๒ อย่าง คือ

๑) ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยท่าทีแห่งเมตตา

๒) ความสัมพันธ์กับสัจธรรมด้วยท่าทีแห่งปัญญา

มนุษย์จะต้องพยายามเข้าถึงความจริงด้วยความเพียรสุดขีดแห่งปัญญาของตน ไม่ว่าจะโดยบุคคลก็ตาม หรือโดยความเพียรพยายามของหมู่ชนร่วมกันก็ตาม

ถึงแม้ว่ามนุษย์จะรักใคร่ปรารถนาดีต่อกันอย่างไร เราก็ไม่สามารถมาตกลงกันให้สัจธรรมเป็นอย่างที่ปรารถนาได้

การที่มนุษย์มีเมตตาไมตรีปรารถนาดีต่อกัน หมดความขัดแย้งแบ่งแยกแล้ว จะมาช่วยเกื้อหนุนกันในการเข้าถึงสัจธรรมได้ ๒ ขั้นตอน คือ

๑) ให้โอกาสแก่กันในการแสวงสัจธรรมนั้น โดยไม่ไปปิดกั้นขัดขวางการแสวงสัจธรรมนั้น และไม่นำเอาทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ความเชื่อในลัทธิศาสนาของตนไปยัดเยียดบังคับให้เขาต้องถือตาม และไม่ใช่ไปทำร้ายหรือทำลายเขา เพียงเพราะเขาเชื่อถือคิดเห็นแปลกจากตน หรือเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนไม่ชอบใจ

๒) ร่วมกันหรือเกื้อหนุนกันในการแสวงสัจธรรมนั้น ด้วยการเป็นกัลยาณมิตรที่มาแนะนำ บอกกล่าว ให้ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถกเถียงกัน เป็นต้น ด้วยวิธีการแห่งปัญญา บนฐานของความสัมพันธ์กันด้วยเมตตาหรือไมตรีนั้น

ถ้ามนุษย์ใช้เมตตาหรือไมตรีผิด อาจจะนำเอาความเอื้อเฟื้อเอาอกเอาใจกันมาเป็นเครื่องปิดกั้นตนเองและขัดขวางกัน ไม่ให้เข้าถึงสัจธรรม เช่นมาประนีประนอมกันว่าสัจธรรมเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ให้เป็นที่พอใจแก่กัน ดังได้กล่าวแล้วเป็นต้น

เมื่อไม่มีความขัดแย้งแบ่งแยก ไม่บังคับครอบงำกันแล้ว ก็ให้เมตตาหรือไมตรีระหว่างมนุษย์นั้นเอื้อโอกาส ในการที่แต่ละคนจะได้เพียรพยายามได้เต็มที่ในการทำหน้าที่สูงสุดของตน คือการเข้าถึงความจริงของชีวิตนั้น ด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์

อีกทั้งในกระบวนการแสวงสัจธรรมนี้ มนุษย์ผู้มีเมตตาหรือไมตรีต่อกัน สามารถถกเถียง แสดงความรู้ความคิดเห็นความเข้าใจกันได้เต็มที่ สุดขีดแห่งปัญญาของตน โดยไม่มีการประหัตประหารกัน จนกว่าปัญญาจะได้ความจริงนั้นมามอบอิสรภาพและสันติสุขให้แก่ชีวิตและสังคมมนุษย์

ลองนึกถึงภาพมนุษย์สัก ๒ คน ที่ขัดแย้งกัน ด้วยเหตุแบ่งแยกต่างๆ เช่น ผิว เผ่า เชื้อชาติ ลัทธิศาสนา เป็นต้น จนกระทั่งรบราฆ่าฟัน ทำสงครามประหัตประหารกัน

ถ้าบังเอิญเขาสองคนนั้น มาพบกันในสถานการณ์อื่น โดยไม่มีตราหรือป้ายใดๆ ที่เป็นเครื่องหมายแสดงความแบ่งแยก เขาอาจจะกลายเป็นมิตรสหายที่สนิทสนมแสนดีของกันและกันก็ได้

ธาตุหรือศักยภาพแห่งการที่จะเป็นคนดี มีอยู่ในมนุษย์ทั่วทุกหมู่เหล่าเผ่าชน จะต้องช่วยกันส่งเสริมให้ธาตุหรือศักยภาพด้านดีนี้มีโอกาสสำแดงตัวปรากฏออกมา โดยไม่ถูกป้ายหรือตราที่เป็นเครื่องหมายแห่งความแบ่งแยกเข้าไปปิดกั้นบดบังเสียก่อน

ชายหนุ่มชาวอังกฤษคนหนึ่ง เดินอยู่บนถนนกลางเมืองเตหราน เมืองหลวงของอิหร่าน (Iran) ท่าทางระโหยซูบโซ หญิงมุสลิมกลางคนผู้หนึ่งพบเขาแล้ว พาไปจัดการให้เขาได้กินอาหารอิ่มหนำสำราญ แล้วก็ปล่อยแยกกันไป โดยมิได้อาวรณ์หวังผลตอบแทนใดๆ1

นี่เป็นเมตตาการุณย์แท้ ซึ่งเป็นสากล ไร้พรมแดน อันมีอยู่ในจิตใจของคน เป็นธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์ ที่แม้คนทั้งสองนั้นจะมีผิว เผ่าพันธุ์ และลัทธิศาสนาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ก็มิได้ยกขึ้นเป็นป้ายหรือตีตราให้เป็นเครื่องแบ่งแยกที่จะกั้นบังหรือกระตุ้นเร้าความรู้สึกในใจให้เฉออกไปจากมนุษยธรรม

ศาสนาควรนำมนุษย์เข้ามาสื่อสารสัมพันธ์กัน โดยเริ่มจากจุดแห่งเมตตาการุณย์ตามศักยภาพที่มีอยู่โดยธรรมชาตินี้ แล้วนำมนุษย์ก้าวต่อไปสู่การร่วมกันสร้างสรรค์สันติสุขให้แก่โลกทั้งหมด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ดีที่ตนมี ที่ชาวพุทธไทยจะให้แก่โลกได้ภาคผนวก: ถาม-ตอบ >>

เชิงอรรถ

  1. ดูเรื่องจาก ชยสาโร ภิกขุ (Shaun Chiverton), หนี้ศักดิ์สิทธิ์ (จ.ชลบุรี: กองทุนวิทยาทาน วัดเขาพุทธโคดม, พ.ศ.๒๕๔๑), หน้า ๑๐–๑๓

No Comments

Comments are closed.