ระบบอาณานิคม – จักรวรรดินิยม ป้ายชื่อปลดไป เนื้อในยังอยู่?

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 31 จาก 58 ตอนของ

ระบบอาณานิคม – จักรวรรดินิยม
ป้ายชื่อปลดไป เนื้อในยังอยู่?

เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้ว ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากมายในระบบการครอบครองอาณานิคม

ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น ประเทศเจ้าอาณานิคมจะมุ่งครอบครองดินแดนที่มีโลหะที่มีค่า และสินค้าท้องถิ่นที่ต้องการตลอดจนทาส คนผิวขาวจึงเข้าตั้งถิ่นฐานอยู่เพียงตามแนวชายทะเล และเกาะเล็กเกาะน้อย พร้อมทั้งสร้างเมืองท่า เมืองป้อม ศูนย์รวมสินค้า และตั้งกองทหารที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของตน

แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว เกิดลัทธิทุนนิยม อุตสาหกรรม (industrial capitalism) ที่มีการผลิตจำนวนมหึมา ซึ่งต้องการวัตถุดิบในปริมาณมหาศาล และตลาดใหญ่ที่จะระบายสินค้า กับทั้งมีอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เพิ่มพลังอำนาจในการควบคุมบังคับและจัดการ วิถีชีวิตและระบบสังคมของอาณานิคมก็เปลี่ยนไป โดยสรุป คือ

  • ประเทศอุตสาหกรรมเป็นผู้ผลิตและขายผลิตภัณฑ์สินค้า
  • ประเทศอาณานิคม (หรือตามเป้าคือโลกส่วนที่เหลือทั้งหมด)

ก) เป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบ และทรัพยากร

ข) เป็นแหล่งจัดส่งสะเบียงอาหาร (สำหรับชุมชนเมืองที่เกิดขึ้นในระบบอุตสาหกรรม)

ค) เป็นตลาดระบายสินค้า (พร้อมกันนั้นก็หาทางปิดกั้นชาวพื้นเมือง หรือชาวอาณานิคม ไม่ให้ผลิตและส่งสินค้าออกมาแข่ง เว้นแต่จะเป็นผู้ผลิตขั้นต้นให้แก่ประเทศเจ้าอาณานิคม)

สภาพเช่นนี้กลายเป็นสาระของความเป็นอาณานิคมสมัยใหม่ ส่วนอำนาจการเมืองและการทหารก็มาเป็นหลักประกันที่จะคุมให้ระบบความสัมพันธ์เช่นนี้ดำเนินไป

พร้อมกันนี้ พลังทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็ได้เป็นหัวใจของการขยายดินแดน โดยทำให้พลเมืองของประเทศเจ้าอาณานิคมสามารถบุกรุกตั้งถิ่นฐานลึกเข้าไปๆ ในผืนแผ่นดิน

กล่าวคือ มีอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ที่เหนือกว่า ซึ่งสามารถบังคับชนเจ้าถิ่นเดิมที่มีจำนวนมากกว่าให้ต้องยอมจำนนและสนองวัตถุประสงค์ของตน และมีเครื่องมือขนส่งสื่อสารที่ทำให้สามารถแจ้งข่าวและส่งกำลังทหารและสินค้าได้ครั้งละมากมายและรวดเร็ว โดยเฉพาะรถไฟ และเรือกลไฟ

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เข้าสู่ยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมแล้ว การขยายดินแดนผนวกอาณานิคมใหม่ ก็ยิ่งก้าวไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลต่อชนพื้นเมือง ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างผสมกัน คือ

๑. กำจัดกวาดล้างชนพื้นเมืองให้หมดไป เพื่อให้ชนเจ้าอาณานิคมเข้าอยู่แทนที่ โดยฆ่าหรือบังคับให้ออกไปอยู่ในเขตสงวนที่จัดให้

๒. ปราบปรามชนเจ้าถิ่นให้ยอมอยู่ใต้อำนาจ แล้วจัดสรรดัดแปลงสังคมถิ่นเดิมนั้นใหม่ ให้สนองวัตถุประสงค์ของประเทศเจ้าอาณานิคม

สำหรับในทวีปอเมริกาเหนือและใต้นั้น มีข้อสังเกตว่า ในการเข้าไปตั้งถิ่นฐานของฝรั่ง พวกสเปนและโปรตุเกสมักใช้วิธีเข้าอยู่ผสมกลมกลืน และดูดกลืนชนเจ้าถิ่นเข้ามาในสังคมของตน

แต่พวกอังกฤษและฝรั่งเศสมักใช้วิธีตั้งอาณานิคมของพวกตนล้วนๆ โดยกำจัดหรือขับไล่ย้ายคนพื้นเมืองเดิมออกไป

พร้อมกับการขยายดินแดนผนวกอาณานิคมใหม่อย่างขนานใหญ่นี้ ประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลายก็ยิ่งขัดแย้งแข่งขันแย่งชิงอำนาจกันมากขึ้น เพื่อหาวัตถุดิบและตลาดที่ระบายสินค้า

ส่วนการถือว่าคนพื้นเมืองเป็นคนป่า คนอนารยะ เป็นบาร์-เบเรียน หรือคนล้าหลัง ที่จะต้องทำให้ศรีวิไลขึ้นอย่างชาวตะวันตก และการที่จะเปลี่ยนศาสนาให้คนพื้นเมืองหันมานับถือคริสต์นั้น ก็ดำเนินสืบต่อมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะในยุคที่ศาสนากับอำนาจการเมืองรวมอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็อาจจะใช้วิธีบังคับให้นับถือ และมีการลงโทษรุนแรงแก่ผู้ขัดขืน

ขอยกตัวอย่าง เมื่อสเปนเข้ายึดครองนิวเมกซิโก มิชชันนารีได้บังคับให้ชนเจ้าถิ่นเดิม คือ พวกอินเดียนแดงเผ่าพเวบโล (Pueblo Indians) นับถือศาสนาคริสต์แบบคาทอลิก พวกมิชชันนารีได้เผาวัตถุเคารพบูชาเดิมของชนเผ่านี้เสีย ชาวอินเดียนแดง ถูกจับขึ้นศาลสเปน และลงโทษหนัก เช่น แขวนคอ ตัดมือตัดเท้า หรือให้เป็นทาส

พวกพเวบโล ซึ่งตามปกติเป็นเผ่าที่รักสงบ ได้ก่อกำเริบหลายหน จนในที่สุดก็เกิดเป็นการกบฎใหญ่ที่อินเดียนแดงชนะใน ค.ศ.1680 พวกสเปนตายไป ๔๐๐ คน รวมทั้งบาทหลวง ๒๑ คน และที่เหลือต้องหนีออกไป แต่ในที่สุด พวกสเปนก็ตีกลับจนเข้ามาปกครองได้อีกทั้งหมดใน ค.ศ.1696

อย่างไรก็ตาม บาทหลวงและนักสอนศาสนาจำนวนมาก แม้จะเป็นส่วนร่วมในการขยายอาณานิคม และทำการต่างๆ ไปเพราะศรัทธาดิ่งแบบของเขา แต่โดยส่วนตัวก็ได้บำเพ็ญประโยชน์โดยอาศัยวิทยาการใหม่ๆ ของตะวันตก เช่นการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาเป็นเครื่องมือในการชักนำคนพื้นเมืองให้หันมานับถือศาสนาคริสต์

จากการขยายดินแดนผนวกอาณานิคมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคต่อจากปฏิวัติอุตสาหกรรม ตำราฝรั่งเองว่า ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 กลายเป็นยุคจักรวรรดินิยมสมัยใหม่

ในยุคนี้ ดินแดนใหม่ที่ถูกยึดครองได้เพิ่มขึ้นในอัตราความเร็ว ๓ เท่าของยุคก่อน (๗๖ ปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยึดครองดินแดนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ ๘๓,๐๐๐ ตร.ไมล์ แต่ในช่วงปลายทศวรรษ 1870s ถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ.1918) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ ๒๔๐,๐๐๐ ตร.ไมล์)

ปรากฏว่า ใน ค.ศ.1914 (ปีที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑) ดินแดนที่เป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ในโลกนี้ ๘๕ เปอร์เซนต์ และก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประชากร ๑ ใน ๓ ของโลก อยู่ในดินแดนประเภทเมืองขึ้น หรืออาณานิคม

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดแล้วระยะหนึ่ง แม้ว่ายุคแห่งอาณานิคมจะถือว่าสิ้นสุดไปแล้ว และจักรวรรดินิยมยุคใหม่ (new imperialism) จะได้จบไปแล้ว แต่ก็มีผู้ที่เห็นว่า เวลานี้ โลกก็ยังมีระบบการครอบงำกัน โดยประเทศที่พัฒนาแล้วใช้นโยบายเศรษฐกิจควบคุมประเทศที่กำลังพัฒนา ดังที่ได้เกิดมีคำว่า “จักรวรรดินิยมแบบใหม่” (neo-imperialism)

ใน ค.ศ.1953 วารสาร The Economic History Review ได้ลงพิมพ์บทความที่มีชื่อเสียง ชื่อ “จักรวรรดินิยมแห่งการค้าเสรี” (The imperialism of free trade) ซึ่งมีคำเกิดขึ้นใหม่ว่า “จักรวรรดินิยมอย่างไม่เป็นทางการ” หรือ “จักรวรรดินิยมนอกแบบ” (informal imperialism) เช่น การที่ประเทศใหญ่ดำเนินการควบคุมโดยอ้อมในรูปแบบต่างๆ ต่อสังคมใต้อาณัติของตน ด้วยวิธีการทางเศรษฐกิจ

ถึงแม้จะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ชัดเจน แต่คำที่ว่านี้ก็ได้รับความนิยมดังขึ้นมาพอสมควร เพราะอาจจะแสดงให้เห็นสภาพความจริงของโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การเมือง-การค้า-แผ่ศาสนา-หาอาณานิคม ผลกระทบต่อญี่ปุ่น๓. โลกทัศน์ที่นำสู่โลกาภิวัตน์ >>

No Comments

Comments are closed.