ภาวะไม่มั่นคงของหลักการแห่งประชาธิปไตย บ่อนทำลายอารยธรรมปัจจุบันแม้แต่ในประเทศผู้นำ

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 13 จาก 58 ตอนของ

ภาวะไม่มั่นคงของหลักการแห่งประชาธิปไตย
บ่อนทำลายอารยธรรมปัจจุบันแม้แต่ในประเทศผู้นำ

หลักการของประชาธิปไตย ๓ ข้อนี้ คือ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ตามความหมายที่แท้นั้น กลมกลืนประสานเป็นอันเดียวกัน

แต่ตอนนี้ลัทธิทุนนิยมครอบงำโลก แต่ละคนก็ต้องมุ่งเพื่อผลประโยชน์ของตน เสรีภาพก็เลยถูกใช้เพื่อสนองเป้าหมายของตัวว่า ฉันต้องการฉันต้องได้ ฉันอยากทำอะไรฉันจะต้องทำเพื่อให้ได้ตามที่ฉันต้องการ เป็นเสรีภาพเพื่อเอาผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด จึงต้องยับยั้งด้วยกฎหมาย ในการที่จะมิให้ละเมิดต่อผู้อื่น โดยเอากฎหมายมาเป็นขอบเขต

ความเสมอภาคก็เป็นแบบแก่งแย่งผลประโยชน์ว่า ถ้าคนโน้นได้ ๕๐๐ ฉันต้องได้ ๕๐๐ แกได้ ๑,๐๐๐ ฉันต้องได้ ๑,๐๐๐

เมื่อความหมายของเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นไปในเชิงแบ่งแยก และแก่งแย่ง ภราดรภาพก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ภราดรภาพนั้น สหรัฐอเมริการักษาไว้ในคติ melting pot ในอเมริกาแทบไม่มีการพูดคำว่า “fraternity” แต่ fraternity นิยมใช้เป็นคำเรียกกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัย คล้ายๆ คำว่า society หรือ association แต่ fraternity เดิมเป็นหลักการของประชาธิปไตย

ในสังคมอเมริกันมีคติ melting pot ว่าคนอเมริกันมาจากเชื้อชาติภูมิหลังต่างๆ กัน มาอยู่ในสังคมเดียวกันก็รวมกันในเบ้าหลอม กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่าเป็นสังคม melting pot

อเมริกันมีความภูมิใจมากในคติ melting pot ว่าสังคมของเขานั้น พิเศษกว่าสังคมทั้งหลายอื่น ไม่มีสังคมไหนจะกลมกลืน ประสานคนเข้าเป็นอันเดียวกันได้อย่างสังคมอเมริกัน

มากาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีอังกฤษสมัยหนึ่งก็ยกย่องสรรเสริญในที่ประชุมใหญ่ว่า อเมริกาเป็นประเทศที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถหล่อหลอมคนต่างเชื้อชาติต่างวัฒนธรรมให้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ คือเป็นชนชาติอเมริกัน นับว่าเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งในสังคมของเขา

ที่ว่ามานี้เท่ากับบอกว่า อเมริกาในอดีตก็มีหลัก fraternity แต่ใช้คำว่า melting pot แทน ซึ่งก็หมายความว่า รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ สามัคคีกันได้ แต่ตอนนี้อเมริกายอมรับแล้วว่าสังคมของตนเลิกเป็น melting pot คตินี้เลิกไปแล้วอย่างรวดเร็ว

เวลานี้ อเมริกาไม่ได้เป็น melting pot ต่อไปแล้ว หนังสือที่ออกมาใหม่ๆ ถือว่าอเมริกานี้ อย่างดีก็เป็นได้แค่ โมเสก (mosaic) หมายความว่า คนในอเมริกามีภูมิหลังเชื้อชาติต่างๆ กัน แต่มาอยู่รวมกันอย่างเป็นระเบียบ อยู่ในกฎกติกาหรือภายใต้ law เดียวกัน เหมือนกับโมเสก คือชิ้นกระเบื้องที่มีสีสันต่างๆ ที่เขาเอามาจัดแต่งประดับ ก็สวยงาม แม้จะต่างสีก็เป็นระเบียบ

อเมริกันตอนนี้อยากเป็น mosaic เพราะเป็น melting pot ไม่ไหว มันหลอมไม่ไหว มันหลอมไม่รวม

ทีนี้ เมื่อหลอมไม่รวม แม้แต่โมเสกตอนนี้ก็เป็นไม่ได้ Mr.Naisbitt เขียนหนังสือบอกว่า อเมริกันเป็นได้แค่จานสลัด (salad bowl) คือยำเลย จึงนุงนังไม่เป็นระเบียบ คลุกเคล้ายุ่งกันไปหมด ตอนนี้อเมริกาได้แค่นั้น

ที่จริงนั้น คติเบ้าหลอม หรือ melting pot นี้ เป็นเพียงแบบหนึ่งของภราดรภาพ มีความหมายไม่ตรงกับภราดรภาพแท้จริง คือเป็นการหลอมรวมหรือกลืนคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมเข้าในวัฒนธรรมหลักของประเทศนั้น

คนอเมริกันยุคปัจจุบันไม่ชอบคติเบ้าหลอมนี้แล้ว แต่(จำนวนไม่น้อย) หันไปนิยม multiculturalism คือ “คติพหุวัฒนธรรม” หรือการมีวัฒนธรรมหลากหลาย ให้คนต่างวัฒนธรรมคงวัฒนธรรมของตนไว้ได้ท่ามกลางการอยู่ร่วมกัน ก็เป็นภราดรภาพอีกแบบหนึ่ง ตามแนวคิดใหม่

แต่เท่าที่เป็นมาถึงปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมหลากลายเหล่านั้นก็หาได้อยู่ร่วมกันด้วยดีมีภราดรภาพไม่ ความแตกแยกรังเกียจเดียดฉันท์ก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมอเมริกันต่อไป

ที่พูดมานี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าหัวเราะ แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะมันนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมอเมริกัน และจะนำไปสู่ความหายนะ นำไปสู่แม้แต่ความเสื่อมสลายของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในอเมริกามิใช่จะมั่นคง เพราะว่า

ดูง่ายๆ ความแตกแยกระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ แค่นี้ก็ไปไม่รอดแล้ว อเมริกาพยายามนักหนาที่จะรวมคน ๒ พวกนี้ แต่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ความพยายามที่จะรวมเหมือนจะทำให้แตกแยกยิ่งขึ้น เวลานี้ อเมริกายอมรับว่า ช่องว่างได้กว้างยิ่งขึ้น ไม่ใช่เล็กลง

วิธีการของอเมริกานั้น เป็นการพยายามรวมด้วยกฎหมาย เพราะสังคมอเมริกัน เขาภูมิใจนัก ว่าเขาเป็นสังคม rule of law คือเป็นสังคมที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ ปกครองกันโดยกฎหมาย ปกครองกันโดยกติกา ปกครองกันโดยหลักการ

แต่อย่าลืมว่า ถ้าเป็นหลักการที่แห้งแล้ง ไม่เกิดจากหัวใจที่แท้จริงแล้วก็ไปไม่รอด เพราะความนิยมยึดถือกฎกติกานั้น เกิดมาจากจิตใจเดิม ที่คนอเมริกันรุ่นบรรพบุรุษ ได้มีน้ำใจรักความเป็นระเบียบ รักกฎเกณฑ์กติกา

แต่กฎเกณฑ์กติกาที่สืบมา โดยไม่ได้สืบเนื้อหาสาระทางด้านจิตใจ ก็ได้แต่รูปแบบ ต่อมานานเข้า สาระในจิตใจที่เป็นแกนจืดจางไป รูปแบบก็เพี้ยน

ถึงตอนนั้น สังคม rule of law อาจจะรวมคนได้ แต่รวมใจไม่ได้ เมื่อรวมใจไม่ได้ ก็ไม่รวมกันจริง

เวลานี้ก็มีความระแวงและต้องคอยเอาใจกัน เวลาจะพูดเหตุผลกัน ถ้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องผิว พูดไม่ได้ พูดแล้วสะเทือนใจ ต้องอดทน

ความอดทนอย่างนี้ถูกหรือ อดทนที่ถูกคืออดทนโดยยอมรับฟัง และพูดกันด้วยเหตุผล แต่อดทนที่เก็บไว้ไม่ยอมพูด พูดไม่ได้เพราะกลัว ไม่ใช่ความอดทนที่แท้ ถ้าอยู่กันด้วยความกลัว ประชาธิปไตยก็ไปไม่ไหว ประชาธิปไตยต้องอยู่ด้วยเหตุผล ต้องสามารถพูดจาแสดงออก

เสรีภาพในการพูดเวลานี้เป็นปัญหามากในสังคมอเมริกัน แม้แต่ในมหาวิทยาลัยของอเมริกา การใช้เสรีภาพในการพูดเดี๋ยวนี้ลำบาก บางคนจะพูดออกมาแสดงความคิดเห็นให้เหตุผลแบบเสรี ก็ถูกประณาม ต้องยอมแก่ “political correctness” คือความถูกต้องแบบการเมือง

เดี๋ยวนี้ในสังคมอเมริกัน ศัพท์นี้มีความสำคัญมาก อะไรหลายอย่างพูดไม่ได้ สังคมที่พูดเหตุผลกันไม่ได้อย่างนี้ จะไปรอดได้อย่างไร เรื่องผิวขาวผิวดำก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของเรื่องที่พูดไม่ได้ และเมื่อคนไม่สามารถอยู่กันด้วยเหตุผล ไม่สามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นหรือแสดงเหตุผลกันได้อย่างจริงจัง ประชาธิปไตยจะอยู่ยั่งยืนได้อย่างไร

ยิ่งต้องมีการเอาอกเอาใจ โดยเฉพาะนักการเมือง เช่น ส.ส.ฝ่ายผิวขาวก็อาจจะต้องเอาใจคนผิวดำ เพื่อจะได้คะแนนเสียง โดยมิใช่เป็นไปด้วยการใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลที่แท้จริง ประชาธิปไตยก็เรียกได้ว่า ง่อนแง่นแล้ว

เมื่อมองสังคมอเมริกันด้วยความเข้าใจ ก็จะเห็นว่าประชาธิปไตยอเมริกัน ไม่ได้มีความมั่นคงแท้จริง

การแตกแยกในเรื่องผิวพรรณ เป็นเรื่องใหญ่มาก เวลานี้อเมริกามีคนตั้ง ๕ เผ่า มีผิวขาว ผิวดำ คนเชื้อสายสเปน ซึ่งมีจำนวนมาก (ครั้งหนึ่งเคยจะขอให้ภาษาสแปนิชเป็นภาษาราชการด้วย) ต่อจากนั้นก็มีชาวเอเชียคือคนผิวเหลือง ซึ่งกำลังเข้าไปมาก แล้วก็เนติฟอเมริกัน คือคนอินเดียนแดง ซึ่งเหลืออยู่นิดเดียวในเขต reservation/เขตสงวน

ขออภัยถ้าใช้คำว่าสงวนพันธุ์ เหมือนกับสงวนพันธุ์อินเดียนแดงไว้ คือเหลืออยู่นิดหน่อย ไปรวมอยู่กันเป็นกลุ่มๆ มีการเรียกร้องสิทธิขึ้นมาเป็นครั้งคราว แต่มีกำลังน้อย ก็อยู่กันมาอย่างนี้

สังคมอเมริกันที่เรายึดเอาเป็นแม่แบบประชาธิปไตยในปัจจุบันเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนนี้ถืออังกฤษเป็นแม่แบบ แต่เดี๋ยวนี้ทั้งที่รูปแบบของเรามาจากสายอังกฤษ แต่เราไม่ค่อยถืออังกฤษ เรามักมองไปที่อเมริกา แต่ถ้าสังคมแม่แบบเป็นอย่างนี้แล้วจะไปดีได้อย่างไร เพราะแม้แต่แม่แบบก็ยังแย่ ความแตกแยกอย่างนี้เป็นตัวอย่างของการที่มนุษย์จะไปไม่รอด

มองกว้างออกไปในโลก เวลานี้มนุษย์ก็รบราฆ่าฟันกันด้วยเรื่อง การแบ่งเผ่า แบ่งผิว แบ่งลัทธิศาสนา เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องคิดกันให้หนักว่า เราจะอยู่กันอย่างไรให้สงบสุขได้ มนุษย์จะต้องมองไปที่ท่าที และรูปแบบ โดยโยงไปถึงตัวเนื้อหาสาระเช่นหลักการต่างๆ แล้วอยู่กันด้วยเมตตา ซึ่งเกิดจากปัญญาที่รู้เข้าใจกัน แล้วให้โอกาสแก่กันและกัน จึงจะไปได้จริง

ตอนนี้มีผู้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า The Twilight of Democracy1แปลว่า สนธยาแห่งประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยยามสนธยา หมายความว่า ประชาธิปไตยจะแย่แล้ว มันจะไปไม่รอด

เรื่องประชาธิปไตยและความสงบสุขของสังคมที่พูดมานี้ จะต้องมองให้โยงไปที่ลัทธิศาสนาต่างๆ ด้วย อย่างน้อยก็น่าพิจารณาว่า เท่าที่เป็นมา ศาสนามีบทบาทในทางสร้างสามัคคี หรือก่อความแตกแยก อย่างไหนมากกว่ากัน แล้วเอาจริงเอาจังในการที่จะหาทางแก้ปัญหาให้ถูกต้อง

เป็นอันว่า โลกมนุษย์ในปัจจุบัน มีภัยอันตรายใหญ่อยู่ ๒ ประการ

๑. ความแตกแยกระหว่างมนุษย์ ที่รบราฆ่าฟัน สมานกลมกลืนกันไม่ได้ นับวันจะมากขึ้น ทั้งๆ ที่โลกของสิ่งแวดล้อมและโลกของการสื่อสารรวมกันได้ด้วยโลกาภิวัตน์ เป็น Global Village คือเป็นโลกแคบอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่มนุษย์กลับยิ่งแตกแยก และสภาพแตกแยกนั้นก็กลายเป็นโลกาภิวัตน์

๒. ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโลกาภิวัตน์ แผ่ไปทั่วโลกเช่นเดียวกัน

สองปัญหานี้ มนุษย์จะพัฒนาตัวเองพอที่จะแก้ไขได้หรือไม่ มันอาจจะนำมนุษยชาติไปสู่ความพินาศ บางทีเราก็มัวไปนึกถึงภัยธรรมชาติ หรือนึกถึงนักทำนายอนาคตอย่างนอสตราดามุส หรืออะไรต่ออะไรก็ว่ากันไป แต่ที่จริงกรรมคือการกระทำของมนุษย์นี่เองเป็นตัวร้าย

มนุษย์มักจะมัวไปคิดซัดทอดปัจจัยอื่น แต่ลืมมองตนเอง ปัญหาตอนนี้เป็นเรื่องของมนุษย์ที่เจริญมาจนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่พัฒนาตนเองเท่าไร ทั้งๆ ที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็ยังไม่แสดงถึงลักษณะที่มนุษย์จะพัฒนาไปในแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะว่า ความแตกแยกไม่น้อยลง แต่กลับมากขึ้น ทำอย่างไรเราจะพัฒนามนุษย์ได้สำเร็จ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ ที่ท้าทายต่อหลักการของประชาธิปไตยท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา และท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา >>

เชิงอรรถ

  1. Patrich E. Kennon, The Twilight of Democracy (New York: Doubleday, 1995), XI + 308 pp.

No Comments

Comments are closed.