เมื่อโลกมีมหาอำนาจอุดมการณ์สองค่าย ความกลัวช่วยยั้งสงครามใหญ่ พอโลกเลิกแยกสองค่าย สงครามย่อยทางผิวเผ่าศาสนาก็ปะทุไปทั่ว

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 40 จาก 58 ตอนของ

เมื่อโลกมีมหาอำนาจอุดมการณ์สองค่าย ความกลัวช่วยยั้งสงครามใหญ่
พอโลกเลิกแยกสองค่าย สงครามย่อยทางผิวเผ่าศาสนาก็ปะทุไปทั่ว

สงครามเย็น (Cold War) มีความรุนแรงถึงขีดสูงสุดช่วงแรก เมื่อประเทศอภิมหาอำนาจ ๒ ค่าย แข่งอิทธิพลกันในยุโรป ระหว่าง ค.ศ. 1948-1953 ดังกล่าวแล้ว

ต่อมา สงครามเย็นนั้นก็ทวีความรุนแรงขึ้นอีกในช่วงต้นของทศวรรษ 1980s เมื่อประเทศอภิมหาอำนาจ ๒ ค่ายนั้น แข่งกันสะสมอาวุธเป็นการใหญ่ และช่วงชิงกันแผ่ขยายอิทธิพลในประเทศโลกที่สาม

อย่างไรก็ตาม พอถึงช่วงปลายของทศวรรษแห่ง ค.ศ.1980s นั้นเอง สงครามเย็นก็ผ่อนคลายลง เนื่องจากนายโกร์บาชอฟ (Mikhail S. Gorbachev) ผู้นำโซเวียต ดำเนินนโยบายใหม่ (คือ นโยบาย glasnost = การเปิดกว้าง และ perestroika = ปรับโครงสร้างใหม่)

นโยบายใหม่นี้ เป็นการปฏิรูประบบการปกครองของโซเวียต ยกเลิกการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) ผ่อนคลายการผูกขาดอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ เปิดให้มีเสรีภาพมากขึ้น และยอมให้มีเศรษฐกิจแบบการตลาด

ต่อจากนั้น ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโลกค่ายตะวันออกของฝ่ายโซเวียตอย่างรวดเร็ว ชนิดที่แทบไม่มีใครคาดฝัน

ในช่วงปี 1989-1990 ระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกได้สลายตัวลง เยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี และเชกโกสโลวาเกีย เกิดมีรัฐบาลแบบประชาธิปไตย และเยอรมันตะวันออกกับเยอรมันตะวันตกก็รวมเข้าด้วยกัน ทั้งหมดนี้ โกร์บาชอฟได้ปล่อยให้เป็นไป ทำนองเป็นการยอมรับ

แต่การปฏิรูปของโกร์บาชอฟนี้ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ของเขาเองอ่อนแอลง และในที่สุด ถึงปลายปี 1991 สหภาพโซเวียตก็ล่มสลายลง เกิดเป็นประเทศเอกราชใหม่ ๑๕ ประเทศ รวมทั้ง รัสเซีย ซึ่งมีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย และเป็นผู้ต่อต้านคอมมิวนิสม์

ในจำนวนนี้ ๑๑ ประเทศ รวมกันตั้งเป็นวงไพบูลย์แห่งรัฐอิสระ (Commonwealth of Independent States) เริ่มแต่วันที่ 8 ธันวาคม 1991 และสงครามเย็นที่ดำเนินมา ๔๕ ปี ก็จบสิ้นลง1

พึงสังเกตว่า ในยุคสงครามเย็น (Cold War) ที่โลกแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย และมีประเทศอภิมหาอำนาจ ๒ ประเทศ คือ สหรัฐ กับ โซเวียต เป็นหัวหน้าของแต่ละฝ่ายนั้น แม้ว่าการแข่งอิทธิพล ความขัดแย้ง และสถานการณ์ตึงเครียดต่างๆ จะรุนแรงล่อแหลมบ่อยครั้งก็ตาม แต่ก็มีระบบควบคุมอยู่ในตัว คือ

– ในระดับล่าง ปัญหาของประเทศเล็กประเทศน้อยทั้งหลาย ก็อยู่ในความควบคุมของประเทศอภิมหาอำนาจ ๒ ฝ่ายนั้น

– ส่วนปัญหาระหว่างประเทศอภิมหาอำนาจเอง ก็ถูกคุมหรือยับยั้งไว้ด้วยระบบดุลอำนาจ

ทั้งสองฝ่าย ต่างก็สร้างและสะสมอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งร้ายแรงมาก อาจทำลายโลกและมวลมนุษย์ได้โดยง่าย แต่ความร้ายแรงยิ่งของอาวุธนิวเคลียร์นั่นแหละ กลับมาเป็นเครื่องยับยั้งสงคราม เพราะต่างฝ่ายต่างก็กลัวต่อการตอบโต้ของอีกฝ่ายหนึ่ง และมองเห็นว่าถึงรบกันไป ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ก็ต้องพินาศไปด้วยกัน สงครามเป็นเรื่องที่จะต้องหลีกเลี่ยงอย่างเดียว

โดยนัยนี้ อาวุธนิวเคลียร์จึงกลายเป็นเครื่องยับยั้งสงคราม หรือเป็นเครื่องยั้งไว้โดยเอาภัยมาขู่ (nuclear deterrence = การยับยั้งด้วยอาวุธนิวเคลียร์) โดยมีอาวุธนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงจริงไว้ให้มาก และแน่ใจว่า ถ้าใช้แล้วจะต้องพินาศไปด้วยกันอย่างแน่นอน (mutual assured destruction เรียกสั้นๆ ว่า MAD) เป็นดุลยภาพแห่งความสยอง (balance of terror)

ด้วยเหตุนี้ สหรัฐกับรัสเซีย จึงวุ่นวายอยู่กับการแข่งกันสร้างและสะสมอาวุธนิวเคลียร์บ้าง เจรจาลดหรือควบคุมอาวุธนิวเคลียร์บ้าง ตลอดยุคสงครามเย็น

ทั้งที่มีอำนาจใหญ่คอยควบคุมไว้ และถ่วงดุลกันอย่างนี้ ก็ยังมีสงครามย่อยเกิดขึ้นที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง อยู่เรื่อยๆ

นอกจากสงคราม และการสู้รบกันระหว่างคู่ปรปักษ์แล้ว นับแต่ ค.ศ.1968 ก็ได้มีภัยอย่างใหม่ที่รุนแรง และเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น คือ การก่อการร้าย (terrorism) ซึ่งเป็นอันตรายที่ใครๆ อาจต้องประสบเมื่อใดก็ได้โดยไม่รู้ตัว เป็นภัยที่ไม่จำกัดอยู่แค่ทหารหรือศัตรู แต่อาจเกิดได้แม้แก่ชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ จึงทำให้โลกที่ว่าเจริญแล้วนี้ เป็นถิ่นที่น่ากลัวมากยิ่งขึ้น

ยุคสงครามเย็น ๔๕ ปี เป็นระยะเวลาที่ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ มารวมสู่จุดยอดที่ปัญหาเกี่ยวกับลัทธินิยมอุดมการณ์ คือ เรื่องทิฏฐิทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ระหว่างเสรีประชาธิปไตย กับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยมีการแก่งแย่งผลประโยชน์ (หรือตัณหา) และการช่วงชิงอำนาจ (หรือมานะ) เป็นตัวหนุน

นอกจากปัญหาความขัดแย้งด้านผลประโยชน์และอำนาจเป็นตัวประกอบแล้ว แม้แต่ในด้านลัทธินิยมหรือทิฏฐิเอง ปัญหาเกี่ยวกับลัทธินิยมด้านอื่น เช่น เรื่องความเชื่อทางศาสนา และการยึดถือพงศ์เผ่าชาติพันธุ์ ที่เคยเป็นปมเด่นของความขัดแย้ง ก็ได้กลายเป็นเรื่องระดับรอง หรือเป็นเรื่องปลีกย่อยลงไป

แต่กระนั้นก็จะเห็นได้ว่า ลัทธินิยมด้านศาสนาและเผ่าพันธุ์ยังคงเป็นปัญหาที่คุกรุ่นอยู่ และระเบิดออกมาเป็นการก่อการร้าย และสงครามหรือการสู้รบย่อยๆ อย่างประปรายเรื่อยมา ส่วนสงครามสำคัญๆ จะเป็นเรื่องของการขยายลัทธินิยมอุดมการณ์ใหญ่ ๒ ลัทธิข้างต้น

เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงแล้ว และระบบคอมมิวนิสต์ที่เป็นหลักใหญ่ล่มสลายไปแล้ว สหรัฐอเมริกาก็เป็นอภิมหาอำนาจที่โดดเด่นแต่ผู้เดียว และระบบประชาธิปไตยที่ผสานกับเศรษฐกิจระบบทุนนิยมเสรี ก็แพร่ขยายครอบคลุมโลก อย่างแทบจะไม่มีคู่แข่ง

แต่เพราะความไม่มีคู่แข่งที่จะมาคานนี่แหละ ก็จะทำให้ปมปัญหาเก่าๆ กลับลอยตัวปรากฏเด่นขึ้นมาอีก

เพราะฉะนั้น เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดไปแล้ว และเมื่อการสู้รบหรือสงครามเพื่อขยายลัทธินิยมอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสม์จางหายไป การขัดแย้ง ต่อสู้ และสงคราม ที่เนื่องจากปัญหาความแตกต่างทางด้านพงศ์เผ่าเหล่ากอ ชาติพันธุ์ และลัทธิศาสนา ซึ่งเป็นปัญหาด้านทิฏฐิอีกแบบหนึ่ง ก็เริ่มปรากฏขึ้นทันที

ดังเช่น เมื่อระบบโซเวียตล่มสลายลง พอยูโกสโลวาเกียสลัดระบบคอมมิวนิสต์ออกไป ประเทศที่รวมเป็นอันเดียวภายใต้อุดมการณ์คอมมิวนิสม์ก็แตกกระจาย

เกิดการแบ่งแยกทั้งโดยลัทธิศาสนา และพงศ์เผ่าชาติพันธุ์ เกิดสงครามกลางเมืองเพื่อชำระล้างชาติพันธุ์ (ethnic cleansing) ซึ่งรวมทั้งความชิงชังทางศาสนา เป็นสงครามที่โหดร้ายทารุณอย่างยิ่ง ระหว่างคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน คนตายไปถึง ๒๐๐,๐๐๐ คน พลัดบ้านพลัดถิ่น ๒ ล้านคน

ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงปัญหายิวกับอาหรับ และปัญหาไอร์แลนด์เหนือ เป็นต้น ที่เรื้อรังมานานแสนนาน รวมทั้งปัญหาที่สหรัฐอเมริกาเองได้ประสบมา กำลังผจญอยู่ และจะต้องเผชิญมากขึ้นๆ ต่อไป

เมื่อโลกเจริญมาถึงยุคที่เรียกว่า เป็นโลกาภิวัตน์แล้ว ถ้ามนุษย์ผู้ถือตัวว่ามีอารยธรรม ยังไม่ยอมพัฒนาระบบวิธีคิด และแก้ไขระบบคุณค่าที่ยึดถือเกี่ยวกับปัญหาการแบ่งแยกกลุ่มพวก เนื่องจากลัทธินิยมทางศาสนาและพงศ์เผ่าเหล่ากอ เพื่อปรับระบบพฤติกรรมเสียใหม่ มนุษยชาติก็ปราศจากความหวังที่จะมีสังคมแห่งสันติสุข

แต่ตรงข้าม ปัญหาความขัดแย้งตลอดจนสงครามเนื่องจากลัทธินิยมทางศาสนาและเผ่าพันธุ์นั้น มีศักยภาพที่จะรุนแรงยิ่งกว่าความขัดแย้งด้านลัทธินิยมหรืออุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเสียอีก เพราะเขาไม่อาจแม้แต่จะยกเอาตัวปัญหาขึ้นมาพูดจาทำความเข้าใจกัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หลังเวทีแข่งขัน ของมหาอำนาจ ๒ ค่ายอุดมการณ์ ระบบอุตสาหกรรมกำหนดสถานะความสัมพันธ์ในโลก๔. อุตสาหกรรมหนุนเศรษฐกิจการเมืองสู่ยุคการค้าเสรี >>

เชิงอรรถ

  1. สงครามเย็น ถือว่าเริ่มต้นในปี 1946 โดยมีข้อความในคำปราศรัยของเชอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Sir Winston Churchill) ที่รัฐมิสซูรี เป็นเครื่องหมาย คือ คำพูดที่กล่าวว่า “ม่านเหล็ก (Iron Curtain) ได้ลงมาขวางกั้นทวีปยุโรป” แต่คำว่า “สงครามเย็น” (Cold War) เพิ่งมีการใช้ครั้งแรก ในปี 1947 ในคำกล่าวของนักการคลังอเมริกัน ชื่อ เบอร์นาร์ด บารุค (Bernard Baruch)

    ส่วนการสิ้นสุดของสงครามเย็น กำหนดเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการที่ทางการเยอรมันตะวันออกเปิดกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 พร้อมทั้งการทำลายกำแพงนั้นจนหมดไปเป็นส่วนใหญ่ และการล่มสลายแห่งลัทธิคอมมิวนิสม์ในยุโรปตะวันออกในช่วง ค.ศ. 1989–1990

    บางทีก็ถือว่า ประธานาธิบดีบุช (Grorge Herbert Walker Bush) และประธานาธิบดีโกร์บาชอฟ (Mikhail S.Gorbachev) ได้ประกาศยุติสงครามเย็นเป็นทางการในการประชุมสุดยอดที่เกาะมอลตา ในเดือนธันวาคม 1989

No Comments

Comments are closed.