ท่าทีอหิงสาที่สืบมาในศาสนาของอินเดีย

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 16 จาก 58 ตอนของ

ท่าทีอหิงสาที่สืบมาในศาสนาของอินเดีย

พึงสังเกตว่า ต่อมาตอนหลัง ฮินดูก็มาถือหลักอหิงสา ทั้งที่ ว่าตามความจริง ฮินดูนั้นมาจากศาสนาพราหมณ์

ศาสนาพราหมณ์เดิมนั้นคงจะเป็นอหิงสาได้ยาก เพราะเป็นศาสนาแห่งการบูชายัญ ตอนหลังฮินดูถึงกับไม่กินเนื้อสัตว์ และถือหลักอหิงสา อย่างท่านมหาตมคานธี เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เมื่อศาสนาพราหมณ์ได้ปรับตัวขึ้นมา และตอนหลังเรียกว่าศาสนาฮินดู

พูดในแง่หนึ่งก็คือการปรับตัวเพื่อแข่งขัน เพราะพระพุทธศาสนา กับศาสนาของเชน หรือศาสดาไชนะ หรือชินะ หรือนิครนถนาฏบุตร ถือหลักอหิงสา ไม่เบียดเบียน ทางฮินดูก็พยายามสู้ด้วยการถืออหิงสาด้วย1

ในสมัยพระเจ้าอโศกนั้น จารึกของพระองค์บอกว่า แต่ก่อนนี้ ในวังฆ่าสัตว์เป็นอาหาร วันละเท่านั้นเท่านี้ ต่อมาตอนนี้เหลืออย่างละ ๑ ตัว คือสัตว์ ๔ เท้าตัวหนึ่ง และสัตว์ปีกตัวหนึ่ง ต่อไปก็จะไม่มีการฆ่าเลย

ตามเรื่องนี้ เราจะเห็นร่องรอยของการไม่ฆ่าสัตว์ทำอาหารในสมัยของพระเจ้าอโศก และก็คงมีการถือกันต่อๆ มา จนกระทั่งทำให้ศาสนาฮินดูก็ต้องแข่ง โดยพยายามถือหลักอหิงสา

ปัจจุบันนี้กลายเป็นว่าคนฮินดูทั่วไปไม่กินเนื้อสัตว์ และมีการถือหลักอหิงสาไปด้วย ทั้งๆ ที่ว่า เดิมนั้นตัวเองมาจากศาสนาบูชายัญ แต่กลับมาถือบางอย่างมากกว่าพุทธศาสนาอีก ในขณะที่ปัจจุบันชาวพุทธจำนวนมากยังกินเนื้อสัตว์กันอยู่ แต่ชาวฮินดูกลับไม่กิน นี่ก็เป็นเกร็ดปลีกย่อย แต่จะให้เห็นว่า ในเรื่องหลักอหิงสา พุทธศาสนามีชื่อเสียงมากมาแต่เดิม คู่กับศาสนานิครนถ์

ศาสนานิครนถ์นั้นถือเข้มงวดมาก พุทธศาสนาถือโดยตัดสินด้วยเจตนา ถ้าไม่ได้เจตนาก็เป็นอันว่าไม่ได้ฆ่า แต่ของนิครนถ์ระมัดระวังมาก นักบวชจะเดินก็กลัวจะไปเหยียบสัตว์ตาย ก็เลยต้องประดิษฐ์ไม้กวาดพิเศษขึ้นมา เดินไปก็ต้องกวาดทางข้างหน้าไป เพื่อไม่ให้เดินไปเหยียบสัตว์ตาย

หายใจก็กลัวว่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยบางอย่างมันจะเข้าจมูกตายในตัวเรา ก็เลยต้องทำผ้าปิดจมูก คล้ายๆ กับคนในสังคมปัจจุบันที่อยู่ในเมืองหลวง ตามถนน เอาผ้าปิดจมูก พวกนิครนถนาฏบุตรเขาปิดมาก่อน แต่นิครนถ์เขาปิดเพื่อกันสัตว์ไม่ให้เข้าจมูก ต่างจากคนเมืองหลวงปัจจุบันนี้ ที่ปิดจมูกกันมลภาวะ กันคนละอย่าง

เวลาอาบน้ำ ก็กลัวว่า น้ำจะไปถูกไปท่วมสัตว์ตาย แม้แต่ที่ตัวเราก็มีสัตว์จะถูกน้ำตาย ก็เลยหลีกเลี่ยงการอาบน้ำ หรือจะจุดไฟ ก็กลัวแมลงบินมาถูกไฟตาย ก็เลยไม่ให้จุดไฟ

นักบวชนิครนถ์ก็เลยมีข้อบัญญัติในการที่จะเป็นอหิงสา ชนิดที่ทางพุทธศาสนาถือว่าสุดโต่งเกินไป แต่หลักการก็คืออหิงสา ไม่เบียดเบียน ทีนี้หลักการเหล่านี้ ก็เป็นท่าทีต่อสรรพสัตว์ทั่วๆ ไปเป็นกลางๆ จึงเอามาเล่าให้กันฟัง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ตัวอย่างที่แสดงท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา และท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตาทำไมความต่างศรัทธา จึงขยายเป็นสงครามศาสนา >>

เชิงอรรถ

  1. ดูเพิ่มเติม เรื่องเหตุให้พุทธศาสนาสูญสิ้นจากอินเดีย ในภาคถาม-ตอบ หน้า ๒๔๓-๒๔๗

No Comments

Comments are closed.