ย้ายจากความขัดแย้งทางลัทธินิกายศาสนา สู่ความขัดแย้งผลประโยชน์ ลัทธิอาณานิคมนำโลกสู่สงครามใหญ่ ที่เปลี่ยนโฉมหน้าโลกใหม่

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 36 จาก 58 ตอนของ

ย้ายจากความขัดแย้งทางลัทธินิกายศาสนา สู่ความขัดแย้งผลประโยชน์
ลัทธิอาณานิคมนำโลกสู่สงครามใหญ่ ที่เปลี่ยนโฉมหน้าโลกใหม่

ดังได้กล่าวแล้วว่า เมื่อสิ้นสมัยกลางของยุโรปแล้ว อำนาจยิ่งใหญ่ของวาติกัน คือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกก็เสื่อมลง และเมื่อศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เกิดขึ้น ก็เป็นเครื่องตัดสินการสิ้นสุดอำนาจที่ครอบคลุมทั่วทั้งยุโรป ของนิกายโรมันคาทอลิกนั้น

ต่อมา เมื่อสงครามศาสนาที่เรียกว่า สงคราม ๓๐ ปี (Thirty Years’ War, 1618-1648/พ.ศ.๒๑๖๑-๒๑๙๑) ระหว่างกลุ่มประเทศโปรเตสแตนต์กับกลุ่มประเทศคาทอลิกสิ้นสุดลง อำนาจทางการเมืองในยุโรปก็กลายเป็นเรื่องของผู้ปกครองฝ่ายบ้านเมืองของประเทศนั้นๆ องค์กรศาสนาคริสต์เหมือนกับถอยห่างออกไปจากวงการเมืองระหว่างประเทศ

พร้อมกันนั้น ความตื่นตัวทางปัญญาที่สืบมาตั้งแต่ยุคฟื้นฟูวิทยาการหรือยุคคืนชีพ (Renaissance) ต่อด้วยกระแสความนิยมวิทยาศาสตร์ ที่ยิ่งทวีขึ้นๆ ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ตั้งแต่ประมาณ ค.ศ.1750) ก็ยิ่งทำให้ประชาชนเหินห่างจากศาสนาคริสต์ออกไป อิทธิพลของศาสนาคริสต์ก็ยิ่งลดน้อยลง

ในเวลาเดียวกัน การที่อุตสาหกรรมเจริญขึ้น ก็ได้เป็นเหตุให้ลัทธิอาณานิคมก้าวขึ้นสู่ยุคใหม่ด้วย เพราะประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลายต้องเร่งแสวงหาอาณานิคมและระดมกำลังในการจัดการกับประเทศอาณานิคมมากขึ้น เพื่อใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบที่จะป้อนโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้แก่เมืองอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้เป็นตลาดระบายสินค้าสนองระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม

นอกจากนั้น เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งด้านการขนส่งสื่อสาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ก็ทำให้ประเทศเจ้าอาณานิคมสามารถปราบปรามและบังคับควบคุมพวกชนเจ้าถิ่นในดินแดนอาณานิคมทั้งหลาย ด้วยกำลังที่เหนือกว่า อย่างไม่อาจทัดทานขัดขืนได้

ท่ามกลางภาวะเช่นนี้ บาทหลวงและนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์กลับเป็นฝ่ายที่อาศัยความเจริญสมัยใหม่ออกไปเผยแพร่ศาสนาของตน จนปรากฏภาพออกมาว่า งานเผยแพร่ศาสนาคริสต์ (missionary work) ดำเนินไปควบคู่กับการแผ่ขยายลัทธิอาณานิคม (colonialism)

บางแห่งงานเผยแพร่ศาสนาคริสต์ก็ไปนำทางให้แก่งานยึดครองอาณานิคม บางแห่งก็ทำควบคู่กันไป บางแห่งนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ก็ช่วยผ่อนเบาความโหดร้ายทารุณของผู้ปกครองอาณานิคม

ระหว่างนี้ ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์และการแข่งอำนาจกันระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ ก็ขยายเวทีตามลัทธิอาณานิคมออกไป เนื่องจากดินแดนที่เป็นอาณานิคมเหล่านี้อยู่ห่างไกลอย่างที่เรียกว่า “โพ้นทะเล”

การล่าเมืองขึ้นยุคนั้นใช้การเดินทางทางทะเลแทบทั้งสิ้น แม้แต่ที่ข้ามทวีปไปถึงอเมริกา ก็เพราะสาเหตุเดียวกัน คือ เพราะบนผืนแผ่นดินต่อจากยุโรปไปทางตะวันออก มีอาณาจักรมุสลิมที่เข้มแข็งยิ่งใหญ่ขวางกั้นอยู่ คือ อาณาจักรของพวกเตอร์กส์ โดยเฉพาะจักรวรรดิออตโตมาน (Ottoman Empire) ที่เรืองอำนาจมากตั้งแต่ ค.ศ.1300 เป็นต้นมา

ประเทศเจ้าอาณานิคมในยุโรป นอกจากสู้รบทำสงครามกันเอง และปราบคนเจ้าถิ่นในอาณานิคมแล้ว ก็ต้องทำศึกสงครามกับอาณาจักรมุสลิมนี้เป็นระยะๆ ตลอดมา

สาเหตุแห่งความขัดแย้งและสงครามได้เปลี่ยนไป ปัญหาความเชื่อถือและลัทธินิกายในหมู่ชาวคริสต์ด้วยกันเอง ค่อยๆ หมดความสำคัญลงไป และไม่เป็นเหตุให้ต้องทำสงคราม แต่สงครามยุคใหม่เป็นเรื่องของการขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์และความหวาดระแวงแข่งอำนาจความยิ่งใหญ่ระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม ต่อมาก็มีปัญหาความแตกต่างในด้านลัทธิความเชื่อถือเข้ามาเป็นเหตุของความขัดแย้งและสงครามนี้ด้วย แต่ไม่ใช่ลัทธิความเชื่อถือทางศาสนา หากเปลี่ยนไปเป็นลัทธินิยมอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมือง

ในที่สุด ความเจริญก้าวหน้าที่นำมาซึ่งผลประโยชน์มหาศาลและกำลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ ก็นำไปสู่การขัดแย้งและสงครามที่ก่อความพินาศทำลายล้างหมู่มนุษย์ในขอบเขตที่กว้างขวาง และมีขีดระดับความรุนแรงยิ่งอย่างไม่เคยมีมาก่อน คือสงครามโลกครั้งที่ ๑ และสงครามโลกครั้งที่ ๒

สงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นใน ค.ศ.1914 ณ วันที่ ๒๘ เดือนกรกฎาคม โดยมีสาเหตุสำคัญคือการแข่งขันในการเป็นเจ้าอาณานิคมและการแย่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความกลัวต่อการขยายอาณานิคมของเยอรมัน กับทั้งมีความรู้สึกชาตินิยมรุนแรงขึ้น พร้อมด้วยความตึงเครียดในการจับกลุ่มขั้วทางการเมือง และการแข่งกันสร้างสะสมอาวุธ

คู่สงคราม ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied Powers) มีอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น และเซอร์เบีย (ต่อมา อิตาลี โปรตุเกสและโรมาเนีย สหรัฐ และกรีกก็เข้าร่วม) กับฝ่ายอำนาจกลาง (Central Powers) ได้แก่ เยอรมนี จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เตอรกี (จักรวรรดิออตโตมาน ที่กำลังเสื่อมอำนาจ) และบุลกาเรีย นอกจากนี้ยังมีประเทศเล็กประเทศน้อยอื่นอีก รวมทั้งหมด ๒๘ ชาติ โดยสนามรบส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและตะวันออกกลาง

เนื่องจากในการสงครามนั้น รัสเซียรบแพ้บ่อยๆ และทหารตายมากมาย อีกทั้งในเมืองหลวงก็มีกรณีรัสปูติน (Rasputin) ที่ทำให้การบริหารประเทศระส่ำระสาย จึงทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจในพระเจ้าซาร์นิโคลาส

ในที่สุดก็เกิดการปฏิวัติของรัสเซีย (Russian Revolution) ขึ้นในเดือนมีนาคม 1917 ทำให้ระบบกษัตริย์สิ้นสุดลง และต่อมาปลายปีนั้นเอง (เดือน พฤศจิกายน) พวกบอลเชวิกส์ (Bolsheviks) ก็ยึดอำนาจได้ เปลี่ยนประเทศรัสเซียเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วถอนตัวออกจากสงคราม ในเดือนมีนาคม 1918

ระหว่างที่คู่สงครามสองฝ่ายผลัดกันรุกผลัดกันรับอยู่ อเมริกาซึ่งได้รับความเสียหายจากการโจมตีของเรือใต้น้ำของเยอรมัน ก็สละความเป็นกลาง ประกาศสงครามกับเยอรมนีในเดือนเมษายน 1917

อเมริกาได้เตรียมกำลังทหารไว้ ๔ ล้านคน แล้วส่งมาหนุนฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างรวดเร็ว เพียงแค่เดือนกันยายน 1918 ก็ส่งมาแล้ว ๑.๒ ล้านคน ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรก้าวไปสู่ชัยชนะ โดยฝ่ายอำนาจกลางมีเยอรมนีเป็นต้นพ่ายแพ้ ยุติสงครามในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1918

ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ นี้ ความสูญเสียเฉพาะชีวิตมนุษย์อย่างเดียวก็มากมาย คนตายทั้งหมด ๑๔ ล้านคนเศษ (ทหารตายในสมรภูมิ ๘ ล้านคนเศษ พลเรือนตายประมาณ ๖.๖ ล้านคน) แยกเป็น
ฝ่ายสัมพันธมิตร ตาย ๘ ล้านคน (ทหาร ๔.๙ ล้านคน พลเมือง ๓.๑ ล้านคน) และ
ฝ่ายอำนาจกลาง ตาย ๖.๖ ล้านคน (ทหาร ๓.๑ ล้านคน พลเรือน ๓.๕ ล้านคน)

โดยเฉพาะประเทศที่ชีวิตคนสูญเสียมากที่สุด คือ รัสเซีย ซึ่งประชากรเสียชีวิตประมาณ ๓.๗ ล้านคน (ทหาร ๑.๗ ล้านคน พลเรือน ๒ ล้านคน)

สงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้ราชวงศ์ใหญ่จบสิ้นลง ๔ ราชวงศ์ คือ ในเยอรมนี รัสเซีย ออสเตรีย-ฮังการี และเตอรกี ทำให้จักรวรรดิล่มสลายลง ๒ คือ จักรวรรดิออตโตมาน (Ottoman Empire) ที่มีอายุประมาณ ๖๐๐ ปี และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (หรือ จักรวรรดิฮับสเบอร์ก/Habsburg Empire)

ประเทศผู้ชนะ โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส ได้นำเอาดินแดนอาณานิคมของเยอรมัน และดินแดนของจักรวรรดิออตโตมานมาแบ่งกัน

ส่วนอเมริกา เมื่อเสร็จสงครามแล้ว ก็หันกลับไปถือนโยบายแยกตัวโดดเดี่ยว (isolationist policy) คือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของยุโรป

เมื่อจักรวรรดิออตโตมานล่มสลายแล้ว เคมาล อะตาเตอร์กส์ (Kemal Ataturk) ได้รวบรวมดินแดนส่วนหนึ่งตั้งเป็นสาธารณรัฐเตอรกี (Turkish Republic) ในวันที่ 29 ตุลาคม 1923

ในสนธิสัญญาแวร์ซายลส์ (Treaty of Versailles) ซึ่งเป็นสัญญาสันติภาพระหว่างสัมพันธมิตร กับประเทศผู้แพ้ (ลงนาม 28 มิถุนายน 1919) ความเคียดแค้นผูกเวรต่อเยอรมัน ได้ทำให้ประเทศผู้ชนะ โดยเฉพาะฝรั่งเศส พยายามกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นการบีบคั้นจำกัดกีดกั้นและลงโทษเยอรมันเป็นอย่างมากและรุนแรง

ต่อมา ความขมขื่นของชาวเยอรมันต่อความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ นี้ ผสมกับความเคียดแค้นต่อเงื่อนไขข้อกำหนดที่บีบคั้นกลั่นแกล้งของสนธิสัญญาแวร์ซายลส์ ก็หนุนให้เยอรมันปรารถนาความมีอำนาจที่จะแสดงความยิ่งใหญ่ของตน และเปิดช่องให้ฮิตเลอร์ก้าวเด่นขึ้นมา จนเกิดระบบเผด็จการทหารที่นำหมู่มนุษย์เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒

สงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงเหมือนกับเป็นเพียงการรื้อฟื้นกรณีพิพาทที่ยังไม่ยุติขึ้นมาทะเลาะกันต่อ หลังจากหยุดพักอย่างอึดอัดกันมา ๒๐ ปี และสันนิบาตชาติ (League of Nations) ซึ่งตั้งขึ้นมาตามสนธิสัญญาแวร์ซายลส์ เพื่อส่งเสริมสันติภาพ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ผ่านภูมิหลังแห่งแนวคิดความเชื่อและความใฝ่ฝัน สู่ความยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดินิยมอเมริกันการแข่งอำนาจ แย่งชิงผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่ ทำให้โลกแทบถล่มทลาย ลัทธิอาณานิคมเองก็ล่มสลาย เกิดระบบอำนาจใหม่ >>

No Comments

Comments are closed.