ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา และท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 14 จาก 58 ตอนของ

ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา
และท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา

เรื่องท่าทีต่อกันระหว่างมนุษย์ รวมทั้งท่าทีต่อกันระหว่างศาสนา ก็เป็นเรื่องใหญ่ ต้องดูจุดรวมใหญ่ที่ว่า เราจะอยู่กันอย่างไรด้วยท่าทีที่ถูกต้อง

ท่าทีที่ดี กับ ท่าทีที่ถูกต้อง อาจจะไม่เหมือนกัน

เมื่อพูดถึง “ท่าทีที่ดี” เราอาจจะมองไปในแง่ที่ว่า อ๋อ! เช่นมีเมตตาต่อกัน ต้องมี tolerance ต้องมีการประสานกลมกลืน ประนีประนอมกัน ซึ่งถ้าไม่ระวังให้ดี ก็พลาดเหมือนกัน เพราะมนุษย์นั้น แท้จริงแล้วเขาต้องการรู้ความจริงและความดีงามที่เป็นของธรรมชาติ เขาไม่ใช่แค่อยากรู้ แต่เขาต้องรู้ด้วย

มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามแท้จริงโดยสมบูรณ์ จะต้องรู้ความจริงของธรรมชาติ ทีนี้ความจริงของธรรมชาติ มันไม่เข้าใครออกใคร มันไม่ได้ขึ้นต่อมนุษย์ มันเป็นของมันอย่างนั้น มนุษย์จะเอาอย่างไรก็เรื่องของมนุษย์ แต่มันไม่เป็นไปตามใจมนุษย์ มนุษย์นี่แหละจะต้องไปรู้จักมัน

เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องเข้าไปรู้จักความจริงของธรรมชาติ และปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง

สำหรับความเป็นอยู่ของมนุษย์นี้ เราเห็นอยู่ชัดเจนว่า มนุษย์อยู่กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งเป็น ๒ อย่าง ๒ วง หรือ ๒ ระดับ

๑. สิ่งแวดล้อมที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน คือสิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่เพื่อนมนุษย์

๒. สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติทั้งหลายทั้งหมด ได้แก่ระบบของสรรพสิ่งที่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ รวมทั้งตัวมนุษย์เองด้วย

ถ้าเราแยกอย่างนี้ได้ ก็จะเห็นความแตกต่าง ว่าเราจะต้องมีท่าทีต่างกันเป็น ๒ อย่าง ซึ่งถ้าไม่ระวังจะสับสน

ก) ท่าทีต่อคน หรือท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ คือ คนเราอยู่ด้วยกัน ก็ควรรักกัน มีเมตตาต่อกัน นี้เป็นท่าทีที่ดี เพราะว่ามันจะช่วยให้เราไม่เบียดเบียนกัน มีความสามัคคี มีความรักใคร่ปรองดอง ปรารถนาดี ปรารถนาประโยชน์สุขแก่กันและกัน

ข) ท่าทีต่อธรรม (จะเรียกว่า ท่าทีต่อสัจธรรม ก็ได้) คือ พร้อมกับที่อยู่กับคนนั้น มนุษย์ก็อยู่กับความจริงของธรรมชาติ อยู่กับระบบของสรรพสิ่งที่สัมพันธ์กัน (ไม่ใช่หมายถึงธรรมชาติด้านชีวิต เช่นสิงสาราสัตว์ แต่หมายถึงตัวกฎธรรมชาติ) ซึ่งอย่างที่บอกแล้วว่า ไม่เข้าใครออกใคร มนุษย์จะต้องไปรู้จักมัน

ท่าทีต่อความจริงของธรรมชาตินี้จะเอาเมตตาไปใช้ไม่ได้ แต่จะต้องรู้เข้าใจมันด้วยปัญญา และจะต้องปฏิบัติต่อมันโดยใช้ปัญญา

ท่าทีที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์คือมีเมตตา แต่ท่าทีที่ถูกต้องต่อกฎธรรมชาติคือใช้ปัญญา

มนุษย์จะอยู่ด้วยเมตตาต่อกฎธรรมชาติ มันก็ไม่รู้เรื่องด้วย และมันก็ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา แล้วมันก็เมตตาต่อใครไม่เป็น แต่มันก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของมันอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น เราต้องรู้มัน ต้องรู้ความจริงของมัน แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง

มนุษย์เรานั้นแสวงหาสิ่งนี้อยู่แล้ว คือหาความจริง แต่พร้อมกันนั้นมนุษย์ก็ต้องอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งต่างพวกต่างคนก็เห็นความจริงไม่เหมือนกัน ตอนนี้แหละถ้าไม่ระวังให้ดีจะมีท่าทีที่สับสนแล้วก็จะพลาด

ที่ว่านั้น หมายความว่า มนุษย์ที่พยายามอยู่ร่วมกันด้วยดีนั้น ก็จะบอกว่า เราต้องมีเมตตาต่อกัน แล้วก็จะมาประนีประนอมกัน โดยบอกว่า นี่นะ ไม่เป็นไรหรอก เรามาตกลงกันว่า เราทุกคนทุกฝ่ายก็เห็นความจริงด้วยกันทั้งนั้น

ถ้าอย่างนี้ มนุษย์ที่จะประนีประนอมกันนั้น ก็กลายเป็นว่าไปประนีประนอมกับความจริง หรือเอาสัจธรรมมาประนีประนอมกับตน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และการทำอย่างนั้นก็จะเป็นอุปสรรคแก่ตัวมนุษย์เอง คือทำให้มนุษย์ขัดขวางตัวเองจากความจริง ซึ่งจะทำให้ไม่เข้าถึงความจริงนั้น

เราบอกว่า ความจริงเป็นอย่างที่คนนั้นมองก็ได้ คนนี้ก็เข้าถึงความจริงเหมือนกัน แต่เขาเข้าถึงจริงหรือไม่ เราก็ไม่รู้ กลายเป็นว่าเราพูดเอาเอง เราตัดสินเอง ทั้งที่ตัวเราเองก็ยังไม่รู้ ซึ่งความจริงมันก็ไม่ไปตามเรา และ ความจริงย่อมเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นอย่างใดก็ได้

เคยมีท่านที่พยายามทำอย่างนี้ คือจะประสานกลมกลืนระหว่างศาสนาโดยวิธีพูดประนีประนอมว่า ทุกๆ ศาสนาก็เห็นความจริงเหมือนกันทั้งนั้น

ผู้ที่พูดอย่างนั้น ควรถามตัวเองว่า เรารู้ว่าเป็นอย่างนั้นจริง หรือเราพูดเพื่อเอาใจกัน เราไปพิสูจน์ เราไปตรัสรู้แล้วหรือ ว่าจริง ว่าถึง เราเก่งขนาดไหน จึงไปตัดสินได้ ถ้าเราตัดสินได้ เราก็ต้องรู้ความจริงสมบูรณ์แล้วและรู้ทั่วถึงทุกศาสนา นี่คือ จะต้องมีท่าทีที่พอดีกับความเป็นจริง

ถ้าเราไม่มีความรู้จริงพอที่จะไปวินิจฉัยว่า คนนั้นคนนี้ ท่านผู้นั้นผู้นี้ ศาสนานั้นศาสนานี้ ลัทธินั้นลัทธินี้ เข้าถึงความจริงหรือไม่ เราก็ควรพูดตรงๆ ว่าฉันไม่มีสิทธิวินิจฉัย แต่เราควรอยู่ด้วยกันด้วยเมตตา

ตอนนี้แหละเป็นการพัฒนามนุษย์ในขั้นสำคัญ ที่มนุษย์จะต้องไปถึงให้ได้ คืออยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา โดยที่พร้อมกันนั้น ก็สามารถที่จะให้แต่ละคนแสวงหาสัจธรรมความจริงโดยเปิดใจเต็มที่ด้วย ให้ความแตกต่างมีอยู่ได้ท่ามกลางความประสานกลมกลืน อันนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุด

บางทีมนุษย์ก็หลงไปว่าพวกตนจะต้องมาประนีประนอมกันว่า ศาสนาหรือลัทธิอะไรๆ ก็เข้าถึงความจริงด้วยกันทั้งนั้น ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ กลายเป็นว่า เราไปข้ามขั้น เราไปตัดสินความจริงของธรรมชาติ ซึ่งมันไม่มีทางประนีประนอมหรือยอมตามเรา

การค้นหาความจริงเป็นหน้าที่ที่แต่ละคนต้องทำต่อไป ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรมนุษย์จึงจะรับฟังซึ่งกันและกันได้ ไม่บีบคั้นบังคับหรือข่มเหงกัน ไม่ใช่ว่าเขาพูดแปลกหูออกมา ก็จะจัดการ

ท่าทีโอนอ่อนอย่างมากที่สุดที่มนุษย์จะทำได้ ก็คือการพูดว่า ทั้งศาสนาของคุณ และศาสนาของฉัน อาจจะเข้าถึงความจริงด้วยกันทั้งสองฝ่ายก็ได้ คือในขั้นสุดท้ายตรงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ขอให้เราแสวงหาและพยายามเข้าถึงความจริงกันต่อไป

ตกลงว่าเรามีสิ่งแวดล้อม ๒ อย่างที่จะต้องปฏิบัติด้วยท่าทีที่ถูกต้อง คือ

๑. ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา และ

๒. ท่าทีต่อสัจธรรมหรือกฎธรรมชาติด้วยปัญญา

ให้ไปด้วยกันทั้งคู่ แม้จะยากที่สุด1 แต่มันคือเครื่องวัดการพัฒนาของมนุษย์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ภาวะไม่มั่นคงของหลักการแห่งประชาธิปไตย บ่อนทำลายอารยธรรมปัจจุบันแม้แต่ในประเทศผู้นำตัวอย่างที่แสดงท่าทีต่อสัจธรรมด้วยปัญญา และท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา >>

เชิงอรรถ

  1. ดูเพิ่มเติม เรื่องการอนุรักษ์สัจจะ เป็นต้น ในภาคถาม-ตอบ หน้า ๒๑๘-๒๒๑

No Comments

Comments are closed.