ท่าทีที่พุทธศาสนาให้ทุกคนมีต่อทุกศาสนา รวมทั้งต่อพุทธศาสนาเองด้วย

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 5 จาก 58 ตอนของ

ท่าทีที่พุทธศาสนาให้ทุกคนมีต่อทุกศาสนา
รวมทั้งต่อพุทธศาสนาเองด้วย

ท่าทีแห่งเสรีภาพทางปัญญา ซึ่งเป็นกลางๆ อย่างที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นนั้น จะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นอีก ในกาลามสูตร (เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตตสูตร) ซึ่งเป็นสูตรที่สะดุดใจชาวตะวันตกมาก และชาวตะวันตกที่สนใจพุทธศาสนารู้จักกันดี ในขณะที่ชาวพุทธในประเทศไทยเอง แทบไม่รู้จักเลย

กาลามสูตรแสดงทัศนะของพุทธศาสนาต่อลัทธิศาสนาอื่นๆ แต่ยิ่งกว่านั้นอีก กาลามสูตรแสดงท่าทีที่คนทุกคนควรมีต่อทุกศาสนา รวมทั้งต่อพุทธศาสนาเองด้วย ตลอดไปจนถึงเรื่องราวที่บอกเล่าถ่ายทอดหรือสืบทอดกันมาทุกอย่าง เป็นการเปิดโอกาสแก่ เสรีภาพทางความคิด อย่างเต็มที่ เพื่อเข้าถึงความจริง ด้วยวิธีการแห่งปัญญาแท้จริง ความในกาลามสูตรนั้นว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า . . . เสด็จถึงเกสปุตตนิคม ถิ่นของชาวกาลามะ (ชนวรรณะกษัตริย์พวกหนึ่ง) พวกกาลามะชาวเกสปุตตนิคมนั้นได้ทราบ . . . จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า . . . กราบทูลว่า

สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มาถึงเกสปุตตนิคมนี้ พูดเชิดชูแต่หลักคำสอนของตน พร้อมกับพูดข่มขี่ดูถูกหลักคำสอนของพวกอื่น ครั้นสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมาถึงเกส ปุตตนิคม . . . (ก็พูดอย่างเดียวกันนั้น) พวกข้าพเจ้าจึงมีความสงสัยคลางแคลงใจว่า ในบรรดาสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านี้ ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า เป็นการสมควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะสงสัยจะแคลงใจ ความสงสัยของท่านทั้งหลายเกิดขึ้นในเหตุที่ควรสงสัย

นี่แน่ะ ท่านผู้เป็นชาวกาลามะทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย
๑. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการฟังตามกันมา
๒. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการถือสืบๆ กันมา
๓. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการเล่าลือ
๔. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการอ้างตำรา
๕. อย่าปลงใจเชื่อ โดยตรรก
๖. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการอนุมาน
๗. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
๘. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน
๙. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะท่าทางน่าเชื่อ
๑๐. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เกื้อกูล . . . ใครยึดถือปฏิบัติแล้วจะเป็นไปเพื่อความเสียหาย เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายพึงละเสีย . . . เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นของเกื้อกูล . . . ใครยึดถือปฏิบัติแล้วจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายพึงถือปฏิบัติให้ถึงพร้อม . . .

(องฺ.ติก.๒๐/๕๐๕)

สาระของพระสูตรนี้ ขอให้พิจารณาเอง ในที่นี้จะไม่พูดขยายความ แต่จะขอผ่านไปก่อน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ท่าทีทั่วไปของพุทธศาสนาต่อลัทธิศาสนาอื่นท่าทีของพุทธศาสนาต่อความจริงหรือต่อสัจธรรม >>

No Comments

Comments are closed.