ในประเพณีพุทธ การคุ้มครองศาสนา คือให้ปฏิบัติการที่ตรงไปตรงมา ว่าตนนับถืออย่างไร

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 54 จาก 58 ตอนของ

ในประเพณีพุทธ การคุ้มครองศาสนา
คือให้ปฏิบัติการที่ตรงไปตรงมา ว่าตนนับถืออย่างไร

พูดสั้นๆ ว่า ตามคติของตะวันตก การที่ศาสนาหรือลัทธินิกายใดขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ ก็คือ การที่จะต้องเลิกอย่างอื่นมาเอาลัทธิศาสนาหรือนิกายนั้นไว้อย่างเดียว

แต่ตามคติของกษัตริย์ชาวพุทธ การที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หมายถึงการยอมรับที่จะนำเอาหลักพุทธธรรมแห่งการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชนมาปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ให้เกิดผลแก่ประเทศชาติทั่วทั้งหมด

ขอให้สังเกตเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงไว้อย่างหนึ่ง คือ ในหลักคำสอนของพุทธศาสนาว่าด้วยหน้าที่ของกษัตริย์หรือผู้ปกครอง ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและนักบวช จะใช้คำกลางๆ โดยไม่จำกัดเฉพาะพุทธศาสนาและพระภิกษุในพุทธศาสนา

ตัวอย่าง เช่น ในจักรวรรดิวัตร คือการบำเพ็ญราชกิจของจักรพรรดิราช ก็จะกล่าวถึงแต่หลักการ คือ “ธรรม” และกล่าวถึงนักบวชว่า “สมณพราหมณ์” ซึ่งเป็นคำกลางๆ หมายถึงนักบวชทุกประเภทในชมพูทวีป ดังข้อความว่า

ท่านจงอาศัยธรรม เคารพนับถือบูชาธรรม . . . ถือธรรมเป็นใหญ่ จงจัดความดูแลคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม . . . แก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย . . .

สมณพราหมณ์เหล่าใด ในแว่นแคว้น ที่เว้นจากความมัวเมาประมาท . . . ท่านจงเข้าไปหาและปรึกษาสอบถามสมณพราหมณ์เหล่านั้น โดยสม่ำเสมอ ว่าอะไรดี อะไรชั่ว . . .”

(ที.ปา.๑๑/๓๕)

แม้แต่ข้อปฏิบัติหรือกิจหน้าที่ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านทั่วไป ในการอยู่ร่วมสังคม เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ด้านศาสนา คำสอนในพุทธศาสนาก็ให้ชาวบ้านอุปถัมภ์บำรุง “สมณพราหมณ์” อย่างเป็นกลางๆ โดยกล่าวว่า

“กุลบุตรพึงบำรุงสมณพราหมณ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบนโดยฐานะ ๕ . . .”

(ที.ปา.๑๑/๒๐๔)

นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า หลักการของพุทธศาสนาเปิดกว้างอยู่ในตัวเอง ที่ทำให้ชาวพุทธ เมื่อนับถือพุทธศาสนาแล้ว แทนที่จะจำกัดตัวแคบเข้ามา กลับยิ่งเปิดตัวเปิดใจและเปิดปัญญากว้างออกไป

ว่าที่จริง เดิมทีเดียว ในคริสต์ศาสนาเอง เมื่อเริ่มต้นเผยแพร่ ยังไม่มีกำลัง และยังเป็นฝ่ายถูกกำจัดกวาดล้างอยู่ การถือนอกรีต (heresy) มีโทษเพียงถูกขับออกจากศาสนจักร หรือตัดออกจากความเป็นศาสนิก (excommunication, บางทีแปลกันว่า “การคว่ำบาตร” ซึ่งมีความหมายไม่ตรงกันแท้)

แต่ต่อมา เมื่อองค์กรศาสนาคริสต์เข้าไปมีอำนาจในการเมือง ตั้งแต่หลัง ค.ศ.300 เป็นต้นมา การลงโทษและกำจัดกวาดล้างคนนอกรีตก็เป็นไปอย่างรุนแรง ถึงขั้นเผาทั้งเป็น (ดู หน้า ๖๓-๗๗ เป็นต้น)

ในพุทธศาสนา การลงโทษเนื่องจากการถือนอกรีต (heresy) ที่เหมือนอย่างของตะวันตกแท้ๆ ไม่มี

เรื่องที่อาจยกมาเทียบเคียงได้บ้าง คือ เมื่อมีผู้กล่าวร้ายอย่างที่เรียกว่า จ้วงจาบต่อพระพุทธศาสนา (เรียกตามคำบาลีว่า ปรัปวาท) วิธีปฏิบัติก็คือ ชี้แจงอธิบาย หรือแสดงความจริงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

การลงโทษอาจมีได้ในกรณีที่บุคคลผู้เป็นพุทธศาสนิกชนเอง คือ อุบาสกอุบาสิกา กระทำการกลั่นแกล้ง ตัดรอน ด่าว่า ยุยงภิกษุทั้งหลาย หรือกล่าวติเตียนพระรัตนตรัย สงฆ์อาจประชุมกันลงมติคว่ำบาตร คือไม่คบหาบุคคลผู้นั้น

อย่างไรก็ดี ในพระพุทธศาสนามีชุมชนพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งคือ สังฆะ หรือสงฆ์ สำหรับผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาแล้ว และมีคุณสมบัติพร้อม จะสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก เรียกว่าบวชเป็นภิกษุ (หรือภิกษุณี) เพื่อดำเนินชีวิต และประพฤติปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้

ผู้ที่บวชเข้ามา ก็คือผู้ที่ได้ยอมรับหลักการของพระพุทธศาสนา(แบบนั้น)แล้ว และแสดงความสมัครใจที่จะปฏิบัติตามกฎกติกา คือวินัยของสังฆะ ดังนั้น ถ้าทำความผิดร้ายแรงละเมิดกฎที่วางไว้ หรือออกนอกหลักการไปถือลัทธิอื่น (เรียกว่าไปเข้ารีตเดียรถีย์) สงฆ์สามารถลงโทษโดยให้สึก คือสละเพศภิกษุเสีย

การให้สึก หรือสละเพศนี้ ถือว่าเป็นการลงโทษที่รุนแรงที่สุดในพระพุทธศาสนา

ว่าที่จริง การให้สึกหรือสละเพศนี้ ไม่ใช่เป็นการลงโทษด้วยซ้ำ แต่เป็นปฏิบัติการที่ตรงไปตรงมา ตามความเป็นจริง

หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นไม่ยอมรับหลักการของพระพุทธศาสนา หรือไม่ยอมรับสังฆะนั้นแล้ว หรือละเมิดกติกาที่ทำให้หมดสิทธิที่จะอยู่ร่วมสังฆะนั้นแล้ว เขาก็ย่อมจะต้องสละออกนอกสังฆะนั้นไปเป็นธรรมดา

ดังนั้น การสึก หรือสละเพศ ก็คือการแสดงความซื่อสัตย์ปฏิบัติให้ตรงตามความเป็นจริง และเป็นปฏิบัติการที่ยุติธรรมต่อชุมชนที่ตนไม่มีสิทธิ หรือไม่สมัครใจจะอยู่ร่วมด้วยแล้วนั่นเอง เป็นการไม่เอาเปรียบ หรือถือโอกาสเอารูปแบบของชุมชนนั้นมาใช้สนองผลประโยชน์ส่วนตัว

จะเป็นเรื่องแปลกประหลาด ที่บุคคลผู้ไม่ยอมรับหลักการของสังฆะนั้น หรือไม่ยอมรับสังฆะนั้นแล้ว จะยังบอกว่าตนอยู่ในสังฆะนั้น ซึ่งจะต้องถือว่าเป็นการแอบแฝง หรือหลอกลวง

ยิ่งถ้าอ้างเสรีภาพทางศาสนา ก็ยิ่งแปลกประหลาดหนักเข้าไปอีก เพราะถ้าอ้าง ก็ไม่ใช่เสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่กลายเป็นเสรีภาพในการทำลายศาสนา

จุดสำคัญในเรื่องนี้ คือ แม้แต่การให้สึก ที่พูดกันว่าเป็นการลงโทษที่ร้ายแรงที่สุดในพระพุทธศาสนา ก็เป็นเพียง

๑. การมีเสรีภาพอันแท้จริง ที่จะปฏิบัติให้ตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง

๒. ไม่มีการลงโทษใดๆ ในพุทธศาสนา ที่กระทบกระเทือนถึงชีวิต หรือแม้แต่ทำให้เจ็บช้ำร่างกาย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< อิทธิพลของหลักศาสนาต่อบทบาทของรัฐ ในการส่งเสริมหรือกำจัดเสรีภาพทางศาสนาน่าชมฝรั่งดี ที่มีความใฝ่รู้ ทำให้พบเรื่องพระเจ้าอโศก น่าเห็นใจฝรั่ง ที่ไม่มีพื้นฐาน ต้องใช้เวลานานจึงเข้าใจอโศก >>

No Comments

Comments are closed.