ผ่านภูมิหลังแห่งแนวคิดความเชื่อและความใฝ่ฝัน สู่ความยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดินิยมอเมริกัน

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 35 จาก 58 ตอนของ

ผ่านภูมิหลังแห่งแนวคิดความเชื่อและความใฝ่ฝัน
สู่ความยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดินิยมอเมริกัน

เมื่ออเมริกาได้ครอบครองจบสิ้นพรมแดนสุดฝั่งตะวันตกนั้น มีการเผยแพร่ความคิด ที่ทำให้คนอเมริกันหวาดกลัวว่า ทรัพยากรธรรมชาติในผืนแผ่นดินของตนคงจะร่อยหรอหมดไปในไม่ช้า จำเป็นจะต้องออกหาทรัพยากรจากนอกประเทศ

ประจวบพอดีในช่วงนั้นเอง ก็ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (economic depression) เริ่มแต่ ค.ศ.1893 พวกนักธุรกิจพากันเชื่อว่าอุตสาหกรรมของอเมริกาขยายตัวมากเกินไป ทำให้มีการผลิตสินค้าล้นตลาด เกินความต้องการและความสามารถของลูกค้าในประเทศ ควรจะต้องหาตลาดนอกประเทศเพื่อระบายสินค้าออกไป

แต่ที่สำคัญยิ่งก็คือ ในด้านความคิดความเชื่อ ในช่วงเวลานั้นเอง ทางด้านยุโรปได้เกิดลัทธิดาร์วินเชิงสังคม (Social Darwinism) ขึ้น โดยมีนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์อังกฤษชื่อ เฮอร์เบอร์ต สเปนเซอร์ (Herbert Spencer, 1820-1903) เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งเป็นการนำแนวความคิดแห่งการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) อย่างทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน มาใช้ในทางสังคม

ลัทธิดาร์วินเชิงสังคม ถือว่า ชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ในสังคม ไม่ว่าทางด้านเศรษฐกิจหรือการเมืองก็ตาม เป็นการต่อสู้เพื่อความดำรงอยู่ (struggle for existence) ผู้ที่เข้มแข็งที่สุดจึงจะอยู่รอด (survival of the fittest) หรือพูดง่ายๆ ว่าใครดีใครอยู่

ด้วยกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาตินี้ ผู้ที่อ่อนแอก็จะล้มหายตายไป ผู้ที่แข็งแรงจะอยู่รอดและแกร่งกล้ายิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้มนุษยชาติพัฒนาคุณภาพดียิ่งขึ้น มนุษย์ก็จะวิวัฒนาการผ่านต่อไปได้ จากความเป็นคนป่าเถื่อน (savagery) ขึ้นสู่ความเป็น อนารยชน (barbarism) และมาเป็นอารยชนผู้มีอารยธรรม (civilization) ในที่สุด

โดยกระบวนการนี้ มนุษยชาติก็จะมีความเจริญก้าวหน้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (idea of inevitable progress)

ด้วยเหตุผลที่ว่านี้ ลัทธิดาร์วินเชิงสังคมจึงส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างสุดแรงสุดกำลัง โดยไม่มีการจำกัดควบคุม (unrestricted competition) และหนุนลัทธิทุนนิยมแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา (laissez-faire capitalism) โดยให้มีเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free market economy)

ใครอ่อนแอใครยากจนลงไป จะต้องถูกปล่อยให้ตาย รัฐไม่ควรเข้าไปช่วยเหลือคน ซึ่งจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการของธรรมชาติ ผู้แข่งขันที่เก่งที่สุด จะอยู่รอดประสบความสำเร็จ แล้วประเทศชาติและอารยธรรมก็จะเจริญก้าวหน้า

ลัทธิดาร์วินเชิงสังคม ได้เข้ามาเป็นที่นิยมและมีอิทธิพล อย่างมากในอเมริกา นักสังคมวิทยาอเมริกันชื่อ ซัมเนอร์ (William G. Sumner, 1840-1910) ได้มีบทบาทมากในการเผยแพร่ลัทธินี้ในอเมริกา

แม้แต่ผู้นำศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ (นิกายที่คนอเมริกันส่วนใหญ่นับถือ) ส่วนมากก็พากันยอมรับและปรับความคิดทางศาสนาของตนให้เข้ากับลัทธินี้

พร้อมกันนั้น มหาเศรษฐีอย่าง John D. Rockefeller และ Andrew Carnegie ก็ชื่นชมลัทธินี้เป็นอย่างยิ่ง

ความคิดความเชื่อในลัทธินี้ไปไกลถึงกับเห็นไปว่า เนื่องด้วยมนุษย์ที่แกร่งแข็งที่สุดจึงจะอยู่รอด เพราะฉะนั้น การที่ประเทศที่เข้มแข็งกว่าจะไปครอบครองบังคับประเทศที่อ่อนแอ จึงเป็นการสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ

นายจอห์น ฟิสค์ (John Fiske) คนสำคัญที่นำแนวคิดนี้มาเผยแพร่ในอเมริกา ถึงกับเขียนทำนายไว้ใน ค.ศ.1885 ว่า ชนชาติที่พูดภาษาอังกฤษ จะเข้าครอบครองควบคุมแผ่นดินทุกแห่งที่อารยธรรมยังเข้าไม่ถึง

เขากล่าวว่า ชนชาติผิวขาวชาวอเมริกัน ผู้มีประสบการณ์ในการกำราบชนเผ่าท้องถิ่นของอเมริกา (คือชาวอินเดียนแดง) จะต้องก้าวออกไป (ทำการอย่างเดียวกันนี้) ในโลกส่วนอื่นต่อไป

นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ผู้มีชื่อเสียง ชื่อ Josiah Strong ประกาศว่า ชนเผ่าอังกฤษ (Anglo-Saxon) โดยเฉพาะสายอเมริกัน เป็นผู้ได้รับมอบหมายไว้วางพระทัยจากพระผู้เป็นเจ้า ให้นำหลักการแห่งเสรีภาพ และศาสนาคริสต์ที่บริสุทธิ์ ออกเผยแผ่ไปให้ทั่วทั้งโลก

นายเบอร์เกสส์ (John W. Burgess) ผู้ก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ถึงกับเขียนแถลงว่า ชนชาติเชื้อสายอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้มีสติปัญญาชาญฉลาดสูงสุดทางการเมือง มีหน้าที่ที่จะไปยกชนชาติผู้ด้อยทั้งหลายขึ้นมาให้ได้ ถ้าจำเป็นก็จะต้องไปบีบบังคับให้ชนชาติเหล่านั้นยอมรับแบบแผนแห่งชีวิตและสังคมที่สูงประเสริฐกว่า เขาไปไกลถึงกับกล่าวว่า

“ไม่มีสิทธิมนุษยชนสำหรับสถานะแห่งอนารยชน”
“There is no human right to the status of barbarism.”

(“Chapter 20: The Imperial Republic,” Compton’s Encyclopedia of American History, 1994)

คนอเมริกันเกิดความเชื่อในคติที่เรียกว่า “Manifest Destiny” ซึ่งยึดถือว่า ชนชาติอเมริกันมีวิถีแห่งชะตาสังคมที่จะต้องแผ่ขยายอำนาจไปครอบครองอเมริกาเหนือทั่วทวีป และจะต้องออกไปชี้นำให้การศึกษาแก่ชนชาติผู้ด้อยกว่าทั้งหลายในโลกนี้

ด้วยอาศัยหลักการของลัทธิดาร์วินเชิงสังคมตามแนวคิดที่ทั้งนักวิชาการและนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ต่างก็สนับสนุน ดังกล่าวมานี้ สหรัฐก็เข้าสู่ยุคจักรวรรดินิยมอเมริกัน (American imperialism) ซึ่งเป็นการสนองวัตถุประสงค์แห่งแนวคิด ๓ ประการไปพร้อมๆ กัน คือ

๑) การแสวงหาอาณานิคมเพื่อเปิดตลาดระบายสินค้าออกไปในดินแดนห่างไกล (อย่างที่วุฒิสมาชิกบีเวอริดจ์ กล่าวใน ค.ศ.1899 ว่า “เราจะต้องหาตลาดใหม่ให้แก่ผลิตภัณฑ์ของเรา”) พร้อมทั้งเพื่อเป็นแหล่งจัดหาวัตถุดิบมาป้อนโรงงานในประเทศ สนองลัทธิทุนนิยมอุตสาหกรรม (industrial capitalism) กับทั้งการมีกำลังทหาร โดยเฉพาะอำนาจทางทะเลจากฐานทัพเรือที่เข้มแข็ง ไว้เป็นหลักประกันในการป้องกันเส้นทางการค้าและพิทักษ์รักษาอาณานิคม

๒) ส่งเสริมเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free market economy) ให้มีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ตามลัทธิทุนนิยมแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา (laissez-faire capitalism) ในลักษณะที่ว่า ใครดีใครอยู่ และใครแข็งแรงกว่าก็มีสิทธิเข้าควบคุมครอบงำ

๓) นำเอาวิถีชีวิต วัฒนธรรม สถาบัน แนวคิด ลัทธิความเชื่อ และศาสนาคริสต์ ซึ่งชาวตะวันตกถือว่าเป็นของอารยชนผู้ประเสริฐกว่า ไปให้หรือบังคับให้ แก่ชนชาติที่ล้าหลัง ห่างไกลความเจริญ เป็นอนารยชน

หลังจากส่งนายพลเปอร์รีนำเรือรบไปบีบบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศติดต่อค้าขายด้วยใน ค.ศ. 1853-4 แล้ว สหรัฐอเมริกาก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจในแถบเอเชียตะวันออกขึ้นมาคู่เคียงกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย

แต่ยุคจักรวรรดินิยมอเมริกันถือว่าเริ่มต้นเมื่อสหรัฐใช้กำลังทัพขับไล่สเปนออกจากคิวบาในเดือนเมษายน ค.ศ.1898 ต่อจากนั้น พอถึงเดือนตุลาคม วันที่ ๑๘ สหรัฐก็ยึดเปอโตริโกจากสเปนได้

ในปี 1898 นั้นเช่นเดียวกัน สเปนก็ถูกบังคับให้ขายฟิลิปปินส์แก่อเมริกาในราคา ๒๐ ล้านเหรียญ อีกด้านหนึ่ง ณ วันที่ ๗ กรกฎาคม หมู่เกาะฮาไว ได้ถูกผนวกเข้าในจักรวรรดิอเมริกา

ทั้งหมดนี้สำเร็จเสร็จสิ้นภายในเวลาปีเดียวแห่ง ค.ศ.1898 และนับแต่นั้นมา สหรัฐอเมริกาก็กลายเป็นมหาอำนาจสำคัญในย่านมหาสมุทรแปซิฟิก

พึงทราบว่า ต่อมาชาวอเมริกัน และชาวตะวันตกโดยทั่วไป ได้เสื่อมความนิยมในลัทธิดาร์วินเชิงสังคม เนื่องจากมองเห็นว่าเป็นแนวคิดที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของลัทธินาซี (Nazism) ที่นำแนวคิดนี้ไปอ้างในการทำสงครามเพื่อเชิดชูเผ่าอารยัน

อีกทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เจริญมากขึ้นในเวลาต่อมา ก็ไม่สนับสนุนหลักความคิดของลัทธินี้

แต่กระนั้นก็ตาม แนวคิด ความเชื่อ ค่านิยม และลักษณะนิสัยจิตใจ ที่ลัทธินี้สนับสนุน ก็ยังคงฝังลึกอยู่ในชีวิตจิตใจของคนอเมริกัน และเป็นที่ถนอมเชิดชูของชนชาตินี้ หรือยังครอบงำวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอเมริกัน ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

การแข่งขัน (competition) เสรีภาพในการดิ้นรนต่อสู้ (freedom to struggle) การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว (self-interest) ลัทธิปัจเจกนิยม (individualism) รวมทั้งปัจเจกนิยมทางเศรษฐกิจที่เชิดชูความฝักใฝ่ในผลประโยชน์ส่วนตน (individual acquisitiveness) ความนิยมลักษณะก้าวร้าว (aggressiveness) เป็นตัวอย่างของคตินิยมที่ว่านั้น

แม้คติวัตถุนิยมของชาวอเมริกัน ที่เรียกว่า “ฝันอเมริกัน” (American dream) ซึ่งเชิดชูการใฝ่แสวงความสำเร็จ (pursuit of success) การแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวย (acquisition of wealth) และความรุ่งเรืองทางวัตถุ (material prosperity) โดยมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ก็เกิดจากการสะสมในภูมิหลังทางวัฒนธรรมตามแนวทางเดียวกันนี้

พึงสังเกตว่า แนวคิดตามลัทธิดาร์วินเชิงสังคมที่เชื่อว่า ชนชาติที่เข้มแข็งควรจะไปปกครองบังคับชนชาติที่อ่อนแอนั้น ดูจะขัดกับอุดมคติแห่งความเป็นอิสระเสรี (ideal of freedom) ของอเมริกันเอง

พอดีว่าใน ค.ศ.1865 คือ ๒๐ ปี ก่อนที่นาย Fiske จะเผยแพร่แนวคิดนี้ รัฐสภาอเมริกันได้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เลิกทาสไปเสียแล้ว หลังจากที่ได้เกิดสงครามกลางเมือง (American Civil War) ในเรื่องการค้าขายครอบครองทาส ซึ่งรบกันอยู่หลายปี (1861-1865)

ถ้ายังไม่เลิกทาส คนอเมริกันก็คงยกเอาคติตามลัทธิดาร์วินเชิงสังคมนี้มาใช้เป็นข้ออ้างในการครอบครองบังคับทาสด้วย เช่นเดียวกับที่ใช้อ้างในการกำจัดและจำกัดอินเดียนแดง และแผ่จักรวรรดินิยมอย่างที่กล่าวข้างต้น

การค้าขายและครอบครองทาส ที่คนผิวขาวจับคนผิวดำจากอาฟริกามาเป็นแรงงานในอเมริกานั้น เริ่มต้นตั้งแต่ ประมาณ ค.ศ.1619 กว่าจะเลิกได้ก็นานเกือบ ๒๕๐ ปี และกลายเป็นบาดแผลทางสังคมและในจิตใจของคนอเมริกัน

บาดแผลนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกผิดหรือเป็นบาป แก่คนอเมริกันผิวขาวรุ่นหลังๆ ที่ระลึกด้วยความขมขื่นถึงภาวะทาสในชาติเสรี (slavery in a “free” nation) และปัญหาความแตกแยกเหยียดผิวระหว่างขาวกับดำ ที่ฝังรากลึกในสังคมอเมริกันอย่างแก้ไม่ตกมาจนปัจจุบัน (racial discrimination; segregation)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บุกฝ่าพรมแดน ๓๐๐ ปี จึงได้ครอบครองโลกใหม่ อารยธรรมอเมริกันได้อะไรจากประสบการณ์ผจญภัยย้ายจากความขัดแย้งทางลัทธินิกายศาสนา สู่ความขัดแย้งผลประโยชน์ ลัทธิอาณานิคมนำโลกสู่สงครามใหญ่ ที่เปลี่ยนโฉมหน้าโลกใหม่ >>

No Comments

Comments are closed.