แบบอย่างแห่งการให้เสรีภาพทางศาสนาระดับรัฐ

17 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 11 จาก 58 ตอนของ

แบบอย่างแห่งการให้เสรีภาพทางศาสนาระดับรัฐ

พุทธศาสนาได้ใช้หลักการนี้ตลอดมา ดังจะเห็นว่า ในยุคพระเจ้าอโศก ก็ปรากฏท่าทีแบบพุทธในเชิงปฏิบัติการที่ชัดเจน เพราะออกมาสู่ระดับของรัฐ ว่าเมื่อผู้ปกครองรัฐเป็นชาวพุทธ จะมีท่าทีต่อศาสนาอื่น หรือต่อรูปแบบที่เรียกว่าศาสนาอื่นอย่างไร

พระเจ้าอโศก ซึ่งฝรั่งเรียกว่า เป็น Emperor (พระเจ้าอโศกเองก็มิได้เรียกพระองค์ว่าเป็นจักรพรรดิ คนไทยเราเรียกว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” หรือ “ธรรมาโศก” อโศกผู้ทรงธรรม) ทรงได้รับชื่อเสียงเป็นที่เชิดชูว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดีย

ดังที่อินเดียได้ยอมรับเอาธรรมจักรบนหัวสิงห์ บนยอดเสาศิลาจารึก มาเป็นตราธงชาติของประเทศอินเดีย และเอาหัวสิงห์ที่อยู่ยอดเสาจารึกของพระเจ้าอโศกนั้นมาเป็นตราแผ่นดิน เพราะเห็นว่า เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดีย

ว่าที่จริง อินเดียลืมพระเจ้าอโศกไปนานแล้ว ฝรั่งอังกฤษ เป็นผู้ค้นพบและรื้อฟื้นเรื่องพระเจ้าอโศกขึ้นมา เพราะพระเจ้าอโศกนั้นจมอยู่ในกองดินกองทรายลึก ไม่มีใครเห็น คนอินเดียไม่รู้จัก จนกระทั่งอังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย

ชาวอังกฤษเป็นคนใฝ่รู้ เป็นนักสำรวจ ก็ไปสำรวจขุดค้นโบราณคดี เจอศิลาจารึกอโศก โบราณสถาน โบราณวัตถุเยอะแยะ เรื่องพระเจ้าอโศกก็เลยปรากฏขึ้นมา

จากจารึกของพระเจ้าอโศก ก็ได้เห็นความยิ่งใหญ่ และนโยบายสำคัญของพระองค์ในการปกครองบ้านเมือง

ศิลาจารึกพระเจ้าอโศกนั้น แสดงถึงสิ่งที่พระองค์ได้กระทำไว้ พร้อมทั้งแนวความคิดของพระองค์ในการปกครองบ้านเมือง ปรากฏว่า พระเจ้าอโศกเป็นกษัตริย์ผู้เดียวที่นักประวัติศาสตร์ หรือนักเขียนสำคัญที่ชื่อ H.G. Wells ยกย่องไว้ (ใน The Outline of History)

H.G. Wells บอกว่า ในประวัติศาสตร์ทั้งตะวันตกและตะวันออก ทั่วทั้งโลก รวมทั้งกษัตริย์ของเขาด้วย ไม่มีกษัตริย์องค์ใดที่เขาจะยกย่องได้เลย นอกจากองค์เดียวคือพระเจ้าอโศกเท่านั้น ฝรั่งอังกฤษนี่แหละที่มายกย่องพระเจ้าอโศก แล้วคนอินเดียสมัยใหม่จึงพลอยรู้จักพระเจ้าอโศกและยกย่องไปด้วย

พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นตัวอย่างของพุทธมามกะที่สำคัญ พระองค์ได้มีท่าทีต่อศาสนาทั้งหลายอย่างไร อาตมาจะอ่านจารึกพระเจ้าอโศกให้ฟัง ให้เห็นตัวอย่างของท่าทีในระดับการปกครองประเทศชาติ

พระเจ้าอโศกได้จารึกไว้ เป็นจารึกศิลาฉบับที่ ๑๒ คือ Rock Edict 12 ลองสังเกตดูว่าแนวความคิดของพระเจ้าอโศกเป็นอย่างไร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมทรงยกย่องนับถือศาสนิกชน แห่งลัทธิศาสนาทั้งปวง ทั้งที่เป็นบรรพชิต และคฤหัสถ์ ด้วยการพระราชทานสิ่งของ และการแสดงความยกย่องนับถืออย่างอื่นๆ

แต่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ (หมายถึงพระเจ้าอโศก) ย่อมไม่ทรงพิจารณาเห็นทาน หรือการบูชาอันใดที่จะเทียบได้กับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนั้นก็คือ การที่จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรม ในลัทธิศาสนาทั้งปวง

ก็ความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมนี้มีอยู่มากมายหลายประการ แต่ส่วนที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญงอกงามอันนั้น ได้แก่สิ่งนี้คือ การสำรวมระวังวาจา ระวังอย่างไร คือ ไม่พึงมีการยกย่องลัทธิศาสนาของตน และการตำหนิลัทธิศาสนาของผู้อื่น ในเมื่อมิใช่โอกาสอันควร หรือแม้เมื่อถึงโอกาสอันสมควรอย่างใดอย่างหนึ่ง การยกย่องลัทธิศาสนาของตน และการตำหนิลัทธิศาสนาของผู้อื่นนั้น ก็พึงมีแต่เพียงเล็กน้อย เพราะว่าลัทธิศาสนาทั้งหลายอื่นก็ย่อมเป็นสิ่งที่ควรแก่การเคารพบูชาในแง่ใดแง่หนึ่ง

บุคคลผู้กระทำการเคารพบูชาลัทธิศาสนาทั้งหลายอื่นด้วยเช่นนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ส่งเสริมลัทธิศาสนาของตนเองให้เจริญขึ้นด้วย และทั้งในเวลาเดียวกันก็เป็นการเอื้อเฟื้อต่อลัทธิศาสนาอื่นด้วย แต่เมื่อกระทำโดยวิธีตรงข้าม ย่อมชื่อว่าเป็นการทำลายลัทธิศาสนาของตนเองด้วย และเป็นการทำร้ายแก่ลัทธิศาสนาของคนอื่นด้วย

อันบุคคลผู้ยกย่องลัทธิศาสนาของตน และกล่าวติเตียนลัทธิศาสนาของผู้อื่นนั้น ย่อมทำการทั้งปวงนั้นลงไป ด้วยความภักดีต่อลัทธิศาสนาของตนนั่นเอง ข้อนั้นอย่างไร คือด้วยความตั้งใจว่า เราจะแสดงความดีเด่นแห่งลัทธิศาสนาของเรา แต่เมื่อเขากระทำลงไปดังนั้น ก็กลับเป็นการทำอันตรายแก่ลัทธิศาสนาของตนหนักลงไปอีก

ด้วยเหตุฉะนั้น การสังสรรค์กลมเกลียวกันนั้นแล เป็นสิ่งดีงามแท้ จะทำอย่างไร คือ จะต้องรับฟังและยินดีรับฟังธรรมของกันและกัน (ขีดเส้นใต้ โดยผู้เรียบเรียง)

ดังนั้นพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ จึงทรงมีความปรารถนาว่า เหล่าศาสนิกชนในลัทธิศาสนาทั้งปวง พึงเป็นผู้มีความรอบรู้ (เป็นพหูสูต) และมีหลักศาสนธรรมที่ดีงาม (กัลยาณาคม)

ชนเหล่าใดก็ตามซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสในลัทธิศาสนาต่างๆ กัน ชนเหล่านั้นพึงกล่าวให้รู้กันทั่วไปว่า พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่า ทานหรือการบูชาอันใด จะทัดเทียมกับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้ได้แก่การพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง และความเจริญงอกงามนี้พึงมีเป็นอันมากด้วย

ศิลาจารึกยังไม่จบ เอาเฉพาะจบข้อความที่เกี่ยวข้องเท่านี้ก็พอ นโยบายนี้จะเห็นว่าเป็นแบบอย่างของการปกครอง ที่ปัจจุบันเรียกว่ามี tolerance ซึ่งหาได้ยากในประวัติศาสตร์ แต่ในสมัยพระเจ้าอโศก ศาสนาต่างๆ อยู่กันได้ด้วยดี และได้รับการอุปถัมภ์บำรุงเต็มที่

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า เรื่องของการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนา ฝรั่งมักใช้คำว่า “tolerance” ซึ่งโดยตัวศัพท์ที่แท้แปลว่าอดทน ได้แก่การมีขันติธรรม ถ้าพูดแรงก็ต้องว่า ฝรั่งไปได้แค่นี้เองหรือ ไปได้แค่ต้องอดต้องทน (หรือต้องยอมปล่อย) คือแค่ดีขึ้นกว่าอดไม่ได้ ทนไม่ได้ ทนฟังคนอื่นมิได้ที่เขามีความเห็นต่างไป หรือทนอยู่กับเขาไม่ได้ ต้องไปจัดการบังคับเขาให้หันมาถืออย่างตัว

การทนได้ที่เรียกว่า tolerance นี้ ฝรั่งพยายามขยายความหมายออกไปให้เป็นความใจกว้างและการมีเสรีภาพทางศาสนา ต่างจากคติของพระเจ้าอโศกที่ไม่ใช่แค่ tolerance เพราะใช้คำว่า “สมวายะ” ซึ่งแปลว่าความประสานกลมกลืน ความสามัคคี หรือการอยู่ร่วมกันอย่างประสานสอดคล้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก มนุษย์จะต้องพัฒนามากทีเดียว จึงจะอยู่ด้วยกันได้ดี ทั้งๆ ที่มีความแตกต่าง

แม้จะแตกต่างกัน แต่สามารถอยู่กันอย่างประสานกลมกลืน อันนี้คือเครื่องบ่งชี้การพัฒนามนุษย์อย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นและเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มนุษย์เป็นเหมือนกันหมด

มนุษย์ย่อมมีความแตกต่างกัน แต่ทำอย่างไรจะให้เขาอยู่ได้อย่างดีด้วยกัน ท่ามกลางความแตกต่างนั้น

ความสำเร็จขั้นต้นก็คือ “tolerance” ได้แก่ ทนกันได้ แต่ทำอย่างไรจะให้เหนือกว่านั้น คือให้มี “สมวายะ” มีความประสานกลมกลืน ความปรองดองสามัคคี อันนี้เป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง

ในประวัติศาสตร์ มนุษย์ยังไม่ประสบความสำเร็จในการที่จะอยู่กันอย่างปรองดองสามัคคี สมัยพระเจ้าอโศกผ่านไป แบบอย่างที่พระองค์จัดวางไว้ ก็ไม่คงอยู่ยั่งยืน อำนาจแห่งราชวงศ์ของพระองค์ก็สิ้นสุดลงด้วยการถูกฆ่าฟัน และมีการเบียดเบียนในทางศาสนา

ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อรัชสมัยของพระเจ้าอโศกผ่านไปแค่ชั่วหลานหรือเหลน ก็ถูกยึดอำนาจโดยอำมาตย์ที่ตั้งราชวงศ์ของพราหมณ์ขึ้นมา และมีการกำจัดพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ และนี่ก็คือประวัติศาสตร์ในแง่หนึ่งที่เป็นบทเรียนสอนมนุษย์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จากหลักการแห่งการศึกษา โยงไปสู่ท่าทีในการเผยแผ่พุทธศาสนาปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ ที่ท้าทายต่อหลักการของประชาธิปไตย >>

No Comments

Comments are closed.